กรุงศรีแนะจับตา 'นโยบายสหรัฐ'

กรุงศรีแนะจับตา 'นโยบายสหรัฐ'

กรุงศรีคาดเงินบาทสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวในกรอบ "31.15-31.50 บาทต่อดอลลาร์" จับตาทิศทางนโยบายสหรัฐฯ

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 31.15-31.50  ต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดแข็งค่าที่ 31.36 ต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทย 3.9 พันล้านบาท และ 1.4 พันล้านบาท ตามลำดับ  ขณะที่เงินดอลลาร์ฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อยเทียบกับเงินเยนและยูโรหลังธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และธนาคารกลางญี่ปุ่นแสดงท่าทีระมัดระวังต่อภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ ส่วนสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ปรับตัวผันผวนตามกระแสข่าวสงครามการค้าโลก ขณะที่ท้ายสัปดาห์ สหรัฐฯ รายงานการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเกินคาดแต่ค่าจ้างปรับขึ้นน้อยกว่าที่ตลาดประเมินไว้
 
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรีมองว่า ตลาดคลายความกังวลในเรื่องเงินเฟ้อและการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) หลังข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึง 313,000 ตำแหน่งในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งแข็งแกร่งที่สุดในรอบกว่าหนึ่งปีครึ่ง แต่ค่าจ้างเฉลี่ยรายชั่วโมงเพิ่มขึ้นเพียง 0.1%  นอกจากนี้ นักลงทุนคลายความวิตกเกี่ยวกับความตึงเครียดด้านนิวเคลียร์ หลังประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่าเตรียมที่จะพบปะกับผู้นำเกาหลีเหนือ โดยในภาพรวมช่วงต้นสัปดาห์นี้ เรายังคงเห็นนักลงทุนกลับเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น และสกุลเงินตลาดเกิดใหม่รวมถึงเงินบาท ส่วนปัจจัยชี้นำสำคัญในสัปดาห์นี้จะอยู่ที่ข้อมูลเงินเฟ้อและยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ ซึ่งตลาดจับตาอย่างใกล้ชิดหลังตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรแข็งแกร่ง แต่ทิศทางค่าจ้างกลับไม่ได้สะท้อนถึงแรงส่งไปยังเงินเฟ้อในระยะถัดไป

สำหรับปัจจัยในประเทศ ผู้ว่าการธปท.ระบุนโยบายการเงินในขณะนี้ยังจำเป็นต้องผ่อนคลายเพื่อเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังต่ำ นอกจากนี้ ธปท.ระบุว่าจะไม่ทำอะไรที่สร้างความประหลาดใจให้กับตลาด โดยหากจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ทางการจะต้องสื่อสารให้ตลาดรับรู้ก่อนล่วงหน้า นับเป็นการส่งสัญญาณค่อนข้างชัดเจนว่าทางการไม่รีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและมีแนวโน้มตรึงดอกเบี้ยไว้อีก 1-2 ไตรมาสเป็นอย่างน้อย นอกจากนี้ เราประเมินว่าในช่วงที่ตลาดการเงินโลกเข้าสู่ภาวะปรับฐานเช่นปัจจุบัน นักลงทุนยังคงต้องจับตาสถานการณ์นโยบายของสหรัฐฯ เนื่องจากไม่เพียงแต่นโยบายการเงินและนโยบายการคลังเท่านั้นที่ส่งผลกระทบต่อตลาด แต่ยังรวมถึงนโยบายการค้าและนโยบายด้านการต่างประเทศ โดยภายใต้การนำของประธานาธิบดีทรัมป์ การคาดการณ์ทิศทางนโยบายสหรัฐฯ และผลกระทบต่อราคาสินทรัพย์ทางการเงินต่างๆ มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น