เอสซีจีตั้งไข่ธุรกิจอนาคต

เอสซีจีตั้งไข่ธุรกิจอนาคต

โซลาร์เซลล์ลอยน้ำมาพร้อมโดรนและหุ่นยนต์ดำน้ำช่วยงานสำรวจ/ตรวจสอบโครงสร้าง เป็นโซลูชั่นนวัตกรรมบริการในกลุ่มธุรกิจ Non-Petrochemicals ของ “เอสซีจี เคมิคอลส์”

โซลาร์เซลล์ลอยน้ำมาพร้อมโดรนและหุ่นยนต์ดำน้ำช่วยงานสำรวจ/ตรวจสอบโครงสร้าง เป็นโซลูชั่นนวัตกรรมบริการในกลุ่มธุรกิจ Non-Petrochemicals ของ “เอสซีจี เคมิคอลส์” ซึ่งตั้งงบวิจัยกว่า 3,600 ล้านบาทในปี 2561 ผลักดันงานวิจัยสู่ตลาดทั้งในระดับประเทศ อาเซียนและระดับโลก

“เราเป็นรายแรกของประเทศที่พัฒนาและติดตั้งโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำขนาด 1 เมกะวัตต์ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง พบว่าแม้ต้นทุนจะสูงกว่าการติดตั้งบนพื้นดินและบนหลังคา 20% แต่ก็ให้ประสิทธิภาพสูงกว่า เนื่องจากอาศัยธรรมชาติของน้ำในการระบายความร้อน แถมยังสามารถลดการสูญเสียทรัพยากรน้ำจากการระเหยได้ด้วย” ชลณัฐ ญาณารณพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เคมิคอลส์ กล่าว

ต่อยอดเสริมแกร่งธุรกิจ

เอสซีจี เคมิคอลส์ ยักษ์ใหญ่ในวงการปิโตรเคมีมูลค่า 2 แสนล้านบาท เดินหน้าสร้างความแตกต่างโดยการคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีภายในองค์กรอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับแนวโน้มความต้องการของโลกที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนในอนาคต ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ พลังงานไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ล่าสุดประกาศตัวเป็นรายแรกที่นำเสนอโซลาร์เซลล์แบบลอยน้ำ ซึ่งต่อยอดจากธุรกิจปิโตรเคมีด้วยการนำเม็ดพลาสติกโพลิเอทิลีนเกรดพิเศษ มาพัฒนาเป็นทุ่นลอยสำหรับใช้กับแผงโซลาร์ ซึ่งติดตั้งง่ายและประหยัดพื้นที่ได้ถึง 10% เมื่อเทียบกับการติดตั้งโซลาร์เซลล์แบบลอยน้ำชนิดอื่นๆ อีกทั้งมีอายุการใช้งานถึง 25 ปีใกล้เคียงกับอายุการใช้งานของแผงโซลาร์

นวัตกรรมนี้จะเป็นทางเลือกใหม่ให้กับการติดตั้งโซลาร์เซลล์ เนื่องจากเล็งเห็นโอกาสความเป็นไปได้จากการเปลี่ยนพื้นผิวน้ำให้เป็นแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้า เพราะประเทศไทยมีพื้นผิวน้ำจืดที่ยังไม่ถูกนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ 14,000 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 9 ล้านไร่ คิดเป็น 3% ของพื้นที่ประเทศ

"ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตพลังงานสะอาดดังกล่าว ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขณะนี้มีผู้ประกอบการแสดงความสนใจ 4-5 ราย คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้” ชลณัฐ กล่าว

สำหรับการบำรุงรักษานั้นจะใช้โดรนติดกล้องและเซนเซอร์ ทำการบินสำรวจ บันทึกภาพและตรวจสอบค่าความร้อน เพื่อนำมาวิเคราะห์ประสิทธิภาพการทำงานของแผงโซลาร์เซลล์ รวมทั้งหุ่นยนต์ดำน้ำจะตรวจสอบทุ่นและโครงสร้างใต้น้ำ

นอกจากโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำแล้ว เอสซีจียังเปิดตัว “อิมิสโปร” สารเคลือบเตาเผาอุตสาหกรรมเพื่อการประหยัดพลังงานสำหรับโรงงาน ตอนนี้มีลูกค้าแล้วเป็นโรงงานปิโตรเคมีและโรงกลั่น และ “อิมิสโปรไฮเท็ม” สำหรับใช้ในเตาเผาอุตสาหกรรมที่ใช้อุณหภูมิสูงเกินกว่า 1,200 องศาเซลเซียส เช่น โรงงานผลิตเหล็ก โดยสามารถลดการใช้พลังงานได้กว่า 2-6%

ส่วนโอกาสการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพ ชลณัฐ กล่าวว่าที่ผ่านมาก็ได้รับการติดต่อจากสตาร์ทอัพที่สนใจซื้อเทคโนโลยีของเอสซีจีไปใช้ในกลุ่มที่ไม่ใช่ปิโตรเคมี จึงมีโอกาสความเป็นไปได้ที่เข้าไปร่วมลงทุนในกลุ่มที่มีศักยภาพ คาดว่าจะเห็นภาพการลงทุนในสตาร์ทอัพภายในปีนี้

“นวัตกรรมเปิด” คือคำตอบ

ชลณัฐ กล่าวอีกว่า นวัตกรรมจากเอสซีจีเกิดจากการสร้างนวัตกรรมในธุรกิจเดิม (ปิโตรเคมี ) อาทิ การสร้างมูลค่าเพิ่มในพลาสติกชนิดใหม่ ส่วนนวัตกรรมที่แตกมาจากธุรกิจหลักก็คือ การพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อใช้ในงานตรวจสอบและบำรุงรักษาเครื่องจักร

นอกจากจะตอบโจทย์ด้านความปลอดภัยการทำงานในบางพื้นที่ของโรงงานที่เข้าไปตรวจสอบได้ยากแล้ว หุ่นยนต์ยังสามารถตรวจสอบได้ละเอียด แม่นยำ ช่วยลดต้นทุนและช่วยให้บริหารจัดการโรงงานทั้งระบบมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงจะเป็นโมเดลธุรกิจบริการแบบครบวงจรในการวิเคราะห์ ตรวจสอบและนำข้อมูลที่ได้มาสังเคราะห์เพื่อประโยชน์ด้านการแจ้งเตือน

“ธุรกิจใหม่นี้เพิ่งจะเริ่มต้นแต่สามารถสร้างรายได้ 100-200 ล้านบาท ซึ่งยังน้อยมากเมื่อเทียบกับธุรกิจหลักที่มีมูลค่า 2 แสนกว่าล้านบาท แต่เป็นอนาคตที่ต้องสร้างเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่จะได้รับผลกระทบเร็วขึ้น เมื่อเทียบกับเอสซีจีที่ทำธุรกิจแบบบีทูบี และนำเทคโนโลยีมาใช้ปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไม่ต้องปรับเปลี่ยนมาก”

แต่ขณะเดียวกันต้องเปิดมุมมอง เตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง และสร้างแรงบันดาลใจการพัฒนาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ในรูปแบบนวัตกรรมเปิด ทั้งที่เกิดจากพัฒนาขึ้นเองภายในองค์กร หรือการทำร่วมกับองค์กรภายนอก หรือการลงทุนซื้อผลงานของผู้อื่นมาใช้ เนื่องจากไม่สามารถทำทุกอย่างได้หมด