อนาคตเทคโนโลยีวัสดุ? ส่องจากนโยบายยุคนี้

อนาคตเทคโนโลยีวัสดุ? ส่องจากนโยบายยุคนี้

อุโมงค์ทนไฟ วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม วัสดุน้ำหนักเบาในยานยนต์ เหล่านี้คือ "วัสดุล้ำสมัย" ซึ่งเป็นโจทย์วิจัยของหน่วยงานวิจัยต่างๆ ตามกรอบนโยบายการพัฒนาเทคโนโลยีวัสดุของประเทศไทย พ.ศ. 2560-2569

เทคโนโลยีวัสดุ หรือ Materials Technology เป็นศาสตร์อีกแขนงหนึ่งที่เป็นเทคโนโลยีเป้าหมายของประเทศ เพื่อตอบโจทย์ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมพลังงานชีวภาพ อิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่ สุขภาพและเครื่องมือแพทย์ และแม้แต่อุตสาหกรรมการบิน ฯลฯ เทคโนโลยีวัสดุล้วนเป็นพื้นฐานองค์ความรู้ที่สำคัญของอุตสาหกรรมเหล่านี้


จากการคาดการณ์เทคโนโลยีแห่งอนาคต โดย McKinsey Global Institute ชี้ให้เห็นว่า ในอนาคตจะมี 12 เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงโลก ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ วัสดุล้ำสมัย หรือ Advanced Materials นอกจากนี้ ข้อมูลที่รวบรวมจากสถาบันวิจัยด้านวัสดุ 50 สถาบันทั่วโลกได้สรุปการศึกษาแนวโน้มการวิจัยและพัฒนาด้านวัสดุศาสตร์และวิศวกรรมวัสดุ เพื่อตอบโจทย์ความท้าทายระดับโลกออกเป็นหลายด้าน ทั้งวัสดุเพื่อพลังงานทดแทนและการกักเก็บพลังงาน ซึ่งต้องการวัสดุที่มีสมบัติพิเศษเฉพาะทาง เช่น ทนอุณหภูมิสูง เกิดปฏิกริยาเคมีไฟฟ้าให้พลังงานสูง วัสดุสำหรับอาคารและโครงสร้าง เช่น อุโมงค์ทนไฟซึ่งต้องการวัสดุฉนวนที่ทนไฟได้มากขึ้น วัสดุก่อสร้างชนิดใหม่ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยืดอายุการใช้งานของอาคาร วัสดุการแพทย์ที่สามารถฝังใน เข้ากับร่างกายได้ น้ำหนักเบาแต่แข็งแรง เป็นต้น วัสดุที่ทนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ เช่น วัสดุทนการกัดกร่อน


ในเมื่อเทคโนโลยีวัสดุมีความสำคัญอย่างนี้ ที่ผานมาประเทศไทยมีสถาบันการศึกษา หน่วยงานสถาบันเฉพาะทาง ที่ดำเนินงานวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีวัสดุ และในปัจจุบันภาคเอกชนและให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาด้านวัสดุ มีการจัดตั้งศูนย์วิจัยเฉพาะทางขึ้นหลายแห่ง เมื่อต้นปีนี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สวทช. จัดทำกรอบนโยบายการพัฒนาเทคโนโลยีวัสดุของประเทศไทย พ.ศ. 2560-2569 โดยมีวิสัยทัศน์ว่า เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านวัสดุศาสตร์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และยกระดับคุณภาพของสังคมไทย ด้วยความร่วมมือแบบไตรภาคี โดยเน้นความร่วมมือของหน่วยงานที่สำคัญในลักษณะเครือข่าย (Network) หรือ consortium


วัตถุประสงค์เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศ เพื่อผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ปิดลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมในระดับชุมชน พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ศักยภาพกำลังคนและบุคลากร สร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาพัฒนากฎระเบียบและเกิดการลงทุนร่วมมือและการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีจากต่างประเทศ ตัวอย่างเช่นในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีวัสดุ น้ำหนักเบา วัสดุนำไฟฟ้า วัสดุชีวภาพ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ การขึ้นรูปแบบ 3 มิติ, ในอุตสาหกรรมเกษตร วัสดุหน้าที่เฉพาะทาง ฟิล์มเลือกผ่าน วัสดุหน้าที่เฉพาะทาง, อุตสาหกรรมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน วัสดุพลังงานที่ทันสมัย วัสดุเพื่อกักเก็บพลังงาน วัสดุก่อสร้างเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม โดยมีประเด็นท้าทาย ได้แก่ การพัฒนาและเพิ่มศักยภาพกำลังคนให้พอเพียง การบูรณาการโครงสร้างพื้นฐานของห้องปฏิบัติการทดสอบในระบบคุณภาพและมาตรฐาน ประเด็นท้าทายการลงทุนและการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ


ทั้งหมดนี้เพื่อประเทศขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยเทคโนโลยีวัสดุก้าวหน้า หวังว่าเมื่อเสร็จสิ้นแผน 10 ปี ประเทศไทยจะอยู่ในระดับแถวหน้าของโลกได้บ้าง

*บทความโดย ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ ผู้อำนวยการหน่วยวิจัย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)