นักอสังหาฯลุยไฟ “ซัพพลายล้น” แต่ “ไม่กลัว”

นักอสังหาฯลุยไฟ “ซัพพลายล้น” แต่ “ไม่กลัว”

อสังหาริมทรัพย์บางทำเล อยู่ในภาวะ “โอเวอร์ซัพพลาย" เรื่องจริง หรือ ตื่นตูม...? “เหล่ากูรู” วิพากษ์ จริง..! โดยเฉพาะคอนโดต่ำกว่า 2 ล้าน สะท้อนผ่านตลาดปีก่อน “ติดลบ” เชื่อปีนี้ตลาดเข้าสู่ “ภาวะสมดุล” หนีตายเร่งปรับโหมดสู่ Hi-End...!!

ตลาดอสังหาริมทรัพย์ มูลค่าตลาดรวมกว่า 3-4 แสนล้านบาท ส่งสัญญาณอยู่ในภาวะกำลังการผลิตล้น หรือ โอเวอร์ซัพพลาย ในบางพื้นที่ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา หลังพบว่าในหลายพื้นที่ยังคงมี หน่วยเหลือขาย จำนวนมาก ตามกำลังซื้อสินค้าคงทน (ที่อยู่อาศัย) ที่ยังชะลอตัว

ทว่า ยังมีผู้ประกอบการบางรายเป็นหมูสมองไส ไม่กลัวน้ำร้อน เดินหน้าพัฒนาโครงการใหม่ต่อเนื่อง แม้สปีดจะไม่แรงเท่าปีก่อนหน้า ปรับโหมดการลงทุน หันมาโฟกัสอสังหาฯตลาดกลางบน กลุ่มคนที่มีเงินนอนอยู่ในกระเป๋า เพื่อบริหารความเสี่ยงทางธุรกิจ

ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย ขยายความให้ “กรุงเทพธุรกิจ BizWeek” ฟังว่า ตลาดอสังหาฯกลางล่าง ระดับต่ำกว่า 2 ล้านบาท อยู่ในภาวะ “ล้นตลาด” ในบางทำเล โดยเฉพาะตามแนวโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางซื่อ -บางใหญ่) จากกำลังซื้อของผู้บริโภคยังไม่ฟื้นตัว รวมทั้งธนาคารยังเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อลูกค้าระดับนี้

ทว่า ในปีเดียวกัน “ตลาดกลางบน” กลับยังคงเติบโตที่ระดับ 19%” และคาดว่าตลาดจะเติบโตต่อเนื่องไปอีก 1-2 ปีจากนี้ เป็นจากการผู้ประกอบการอสังหาฯ หันมาลงทุนในตลาดบนมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ ภาพรวมตลาดอสังหาฯปีนี้ คาดว่า จะเติบโต ราว 5%” จากปีที่ผ่านมา ขณะที่อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ” เป็นแรงจูงใจหนึ่งในการซื้อที่อยู่อาศัย

นอกจากนี้ สภาพคล่องในระบบยังมีเหลือจำนวนมาก ส่งผลให้ผู้ประกอบการรายใหญ่สามารถลงทุนพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ โครงการผสมผสาน (Mix Used) ได้จำนวนมาก รวมถึงโครงการระบบสาธารณูปโภค (Mega Project) ของรัฐบาลเริ่มเป็นรูปธรร ทำให้ภาคเอกชนเริ่มลงทุนตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ยังมี “ปัจจัยลบ ที่อาจส่งผลกระทบต่อภาพรวมตลาดอสังหาฯ อาทิ ความผันผวนของเศรษฐกิจ จากภายในและภายนอกประเทศ ขณะที่ประเมินว่าตลาดอสังหาฯปีนี้ยังคงแข่งขันรุนแรงต่อเนื่อง แต่ตลาดยังคงเป็นของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีศักยภาพในด้านการลงทุน และความเชี่ยวชาญ

ดังนั้น ผู้ประกอบการรายกลางรายเล็กควรปรับตัวพัฒนาสินค้าที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค หาช่องว่างตลาด เข้าไปในตลาดที่รายใหญ่ยังไม่ได้เข้าไป

ขณะที่ พงษ์พันธ์ สัมภวคุปต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เอเพ็กซ์ ดีเวลลอปเม้นท์ หรือ APX  ยอมรับว่าตลาดอสังหาฯในบางทำเล อยู่ในภาวะล้นตลาด โดยเฉพาะตามแนวรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย แต่อย่าไปเหมารวมหมดเพราะในบางพื้นที่ยังมีความต้องการสูง อย่างไรก็ตามการที่ผู้ประกอบการชะลอการเปิดโครงการในมือออกไปบ้างในช่วงที่ผ่านมา ทำให้คาดว่าในปีนี้คาดว่าทั้ง ความต้องการ (ดีมานด์) และ สินค้า (ซัพพลาย) น่าจะกลับเข้าสู่ภาวะ สมดุล ในปีนี้

ขณะที่ทิศทางตลาดอสังหาฯ ปีนี้ มองว่า ตลาดเติบโตกว่าปีก่อน แต่ยังเป็นลักษณะค่อยๆ เติบโตจะยังไม่เห็นการโตแบบหวือหวาเหมือนในอดีต ประเมินว่า ผู้ประกอบการอสังหาฯ เบอร์ต้นๆ ของเมืองไทย ชะลอเปิดตัวโครงการในมือเมื่อปีที่ผ่านมา เพื่อรอดูจังหวะการฟื้นตัวของตลาด

ขณะที่ปัจจัยบวกคือการเร่งลงทุน โครงการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง) คาดว่าจะมีผู้ลงทุนเข้ามาลงทุนในเมืองไทยจำนวนมาก ฉะนั้น ความต้องการด้านที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว

ด้าน ไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บมจ. ศุภาลัย หรือ SPALI  เชื่อว่า แนวโน้มตลาดอสังหาฯปีนี้จะ ขยายตัวดีขึ้น จากปีที่ผ่านมา โดยได้รับปัจจัยหนุนจากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว การส่งออกและการท่องเที่ยว ยังเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขณะที่ภาครัฐมีการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ตลอดทั้งปี การบริโภคในประเทศก็เริ่มปรับตัวดีขึ้นตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เร่งตัวขึ้น

แต่ตลาดปีนี้ยังเป็นโอกาสของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่จะกินส่วนแบ่งการตลาดของผู้ประกอบการรายเล็ก จากความได้เปรียบเรื่องของเงินทุน การสรรหาที่ดิน และระบบเทคโนโลยีต่างๆ เนื่องจากผู้ประกอบการรายเล็กยังขาดแคลนเงินทุน ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อ เพราะธนาคารพาณิชย์คุมเข้มในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น

โดยปัจจุบันส่วนแบ่งการตลาดในแนวราบ 70% และคอนโด 65% เป็นของผู้ประกอบการ 11 รายใหญ่ และคาดว่าสัดส่วนของทั้งสองตลาดจะเพิ่มขึ้นเป็น 80-85% ได้ในไม่ช้านี้

ตอนนี้ตลาดยังเป็นของรายใหญ่ รายเล็กเปิดโครงการไม่ได้เพราะแบงก์ปล่อยสินเชื่อยากขึ้นสำหรับโครงการที่ไม่มียอดขายมาโชว์แต่รายใหญ่ยังเปิดได้อยู่ก็จะกินมาร์เก็ตแชร์ของรายเล็กไปเรื่อยๆ ภาพน่าจะเป็นแบบนี้ต่อเนื่องไปอีก 2-3 ปี

ทายาทศุภาลัย ยังเผยแผนธุรกิจในปีนี้ว่า จะเดินหน้าเปิดตัวโครงการใหม่ทั้งหมด 35 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 4 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น โครงการแนวราบ 30 โครงการ ในจำนวนนี้อยู่ในต่างจังหวัด 13 โครงการ และแนวราบในกรุงเทพฯและปริมณฑลอีก 17 โครงการ ส่วนคอนโดปีนี้จะอยู่ในกรุงเทพฯทั้งหมด 5 โครงการ

ในส่วนของ โครงการแนวราบ มองว่าตลาดยังเติบโตได้ดีทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด แต่จะแข่งขันกันมากขึ้นในเรื่องของนวัตกรรมการออกแบบ การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า รวมทั้งทำเลที่ตั้งที่ต้องสะดวกต่อการเดินทาง 

ขณะที่ โครงการแนวสูง ยอดขายคอนโดในปีที่ผ่านมาเริ่มฟื้นตัว และน่าจะเติบโตขึ้นต่อเนื่องในปีนี้ โดยตลาดหลักยังอยู่ในกรุงเทพฯ ที่ระดับราคา 3-5 ล้านบาท ถือเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการเนื่องจากราคาที่ดินปรับเพิ่มขึ้นทุกปีเฉลี่ยปีละ 9-10% ทำให้ต้นทุนในการก่อสร้างสูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น หากผู้ประกอบการรายใดได้ทำเลที่ดินที่ดีและสามารถทำราคาขายที่ 3-5 ล้านบาท ก็จะยิ่งทำให้ได้เปรียบผู้ประกอบการรายอื่น

เมื่อราคาที่ดินเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่ก็ทำเป็นลักชัวรี่ไปเลย คนจะได้รับรู้ว่าเป็นของดี สามารถที่จะส่งผ่าน ราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นไปให้ลูกค้าได้เลย แต่ถ้าดูกันแล้วตลาดใหญ่ในกรุงเทพฯคือ 3-5 ล้าน ดังนั้นถ้าใครมีทำเลที่ดีและทำราคานี้ได้อยู่ก็ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกเยอะ

สำหรับการพัฒนาโครงการในต่างประเทศยังคงเป็นการร่วมทุนกับพันธมิตรทั้งหมด เนื่องจากทั้งอาศัยความเชี่ยวชาญของพันธมิตรท้องถิ่นที่รู้จักตลาดเป็นอย่างดี โดยปีนี้มีแผนพัฒนาโครงการแนวราบในประเทศออสเตรเลียอีก 1-2 โครงการ จากปัจจุบันที่มีโครงการทั้งหมด 6 โครงการ แต่ยอมรับว่าการแข่งขันในตลาดออสเตรเลียสูงมาก หลังมีการเข้ามาทำตลาดของกลุ่มทุนจากจีน

ส่วนตลาดอาเซียนหลังจากปีที่ผ่านมาได้ขายอาคารสำนักงานในฟิลิปปินส์ไปแล้ว บริษัทก็ยังสนใจที่จะลงทุนพัฒนาโครงการในฟิลิปปินส์ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างหารือร่วมกับพันธมิตรท้องถิ่น ซึ่งยังมีความเห็นแย้งกันอยู่ เนื่องจากบริษัทสนใจที่จะลงทุนโครงการแนวราบ แต่พันธมิตรอยากที่จะพัฒนาโครงการคอนโดมากว่า นอกจากนี้ก็อยู่ระหว่างศึกษาตลาดอื่นๆ เพิ่มเติมทั้ง อินโดนีเซีย กัมพูชา และเมียนมา

เขา บอกว่า ปีนี้บริษัทตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 2.6 หมื่นล้านบาท โดยปัจจุบันมียอดขายที่รอรับรู้รายได้ (Backlog) แล้วเกือบ 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะรับรู้เป็นรายได้ในปีนี้ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท และปีหน้าอีก 1.1 หมื่นล้านบาท ขณะที่ยอดขายตั้งเป้าไว้ที่ 3.3 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น ยอดขายจากโครงการคอมโดมิเนียมในกรุงเทพฯ 44% โครงการแนวราบในกรุงเทพฯ 27% โครงการแนวราบในต่างจังหวัด 25% และคอนโดมิเนียมในต่างจังหวัด 4%

นอกจากนี้ บริษัทชนะประมูลซื้อที่ดินของสถานทูตออสเตรเลีย เนื้อที่กว่า 7 ไร่ ริมถนนสาทร ด้วยมูลค่ากว่า 4,600 ล้านบาท ตอนนี้อยู่ระหว่างการออกแบบโครงการโดยจะใช้ชื่อว่า“Supalai Icon” มูลค่าโครงการราว 1.8-2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการผสมผสาน ประกอบด้วย คอนโดมิเนียมระดับลักชัวรี่และอาคารสำนักงานให้เช่า รวมทั้งยังมีศูนย์การค้าและเรสซิเดนซ์ ซึ่งอยู่ระหว่างการพูดคุยกับพันธมิตร ว่าจะแบ่งขายที่ดินให้ไปพัฒนา หรืออาจจะให้เช่าที่ดินเป็นเวลา 30 ปี ซึ่งน่าจะได้ข้อสรุปภายในไปเกินไตรมาส 3 นี้

“Supalai Icon ถือเป็นโครงการใหญ่ที่สุดตั้งแต่เราก่อตั้งบริษัทมา แต่ถามว่าใหญ่เกินตัวไหมผมว่าไม่ เพราะถ้าดูจากยอดขายในปัจจุบันของเรา ดูฐานะการเงินของเราก็คงไม่ได้ยากเกินไปที่จะพัฒนาโครงการนี้ได้แม้ว่าเราจะทำคนเดียวหรือจะมีพันธมิตรเข้ามาร่วมทุนก็ตาม และในอนาคตก็น่าจะมีโอกาสที่จะได้เห็นโครงการที่ตื่นเต้นแบบนี้จากเราอีก

โดยแหล่งเงินทุนที่จะนำมาใช้พัฒนาโครงการดังกล่าวก็จะมาจากกระแสเงินสดของบริษัท เงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน และการออกหุ้นกู้ที่บริษัทมีแผนที่จะออกหุ้นกู้วงเงิน 5-6 พันล้านบาท ในช่วงปลายปีนี้ เพื่อทดแทนหุ้นกู้ชุดเดิมที่จะครบกำหนดอายุ

แม้ว่าตลาดตอนนี้จะดูดีน้ำดูนิ่ง แต่ก็ไม่รู้ว่ามีคลื่นใต้น้ำหรือเปล่า ถ้าเราสามารถทำให้บริษัทแข็งแรงที่สุดเพื่อที่จะรองรับการเติบโตในอนาคตได้เราก็ควรที่จะทำ การปรับโครงสร้างเงินทุนครั้งนี้ก็จะทำให้เราแข็งแรงขึ้น ซื้อที่ดินแปลงที่อยากซื้อได้ เพื่อเตรียมความพร้อมในการพัฒนาโครงการในอนาคต

--------------------------------

ท่องเที่ยวโต” ดัน APX โดดเด่น

พงษ์พันธ์ สัมภวคุปต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เอเพ็กซ์ ดีเวลลอปเม้นท์ หรือAPX เล่าให้ฟังว่า แผนธุรกิจ 4 ปี (2561-2564) ของ เอเพ็กซ์ ดีเวลลอปเม้นท์” เน้นเพื่อพัฒนาโครงการทั้งโรงแรมและเรสซิเด้นซ์ มูลค่ารวม 2.3 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย การพัฒนาที่ดินหาดยาว จังหวัดกระบี่ จำนวน 231 ไร่ แบ่งเป็นพัฒนาโครงการ CLUB MED DRABI RESORT AND RESIDENCES พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกตามรูปแบบ “CLUB MED” บนที่ดินประมาณ 100 ไร่ มูลค่าโครงการ 3,800 ล้านบาท

โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในเดือนก.ย. 2561 และมีกำหนดแล้วเสร็จประมาณต้นปี 2564 ซึ่ง “Club Med กระบี่” ประกอบด้วย Club Med Premium Resort ในรูปแบบต่างๆ จำนวน 300 ห้องพัก และ Pool Villa Residences จำนวน 50 วิลล่า โดยมี จุดเด่น คือ ตั้งอยู่ติดชายทะเลยาว 300 เมตร

เขา บอกต่อว่า บริษัทยังอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการโรงแรมและเรสซิเด้นซ์ ภายใต้การบริหารของเชนโรงแรมชั้นนำอีกประมาณ 3 โครงการ ในบริเวณหาดยาวเพื่อสร้างแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่จังหวัดกระบี่ บนที่ดินกว่า 170 ไร่ โดยคาดว่าสร้างรายได้อย่างต่อเนื่องให้กับบริษัทในระยะยาว

บริษัทมีนโยบายหลักมุ่งพัฒนาธุรกิจอสังหาฯ ที่เกาะติดความเจริญของการท่องเที่ยวไทย จึงได้เสาะแสวงหาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ และจ.กระบี่ พบว่าเป็นบริเวณชายหาดที่สวยงาม และยังไม่มีการพัฒนาใดๆ แต่จะสามารถพัฒนาทั้งบริเวณหาดยาวนี้ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของกระบี่ได้” พงษ์พันธ์ ระบุ

อีกทั้งบริษัทยังมีแผนพัฒนาที่ดินหาดไม้ขาว จ.ภูเก็ต เนื้อที่ 14 ไร่ ซึ่งปัจจุบันได้ผู้ร่วมทุนจากฮ่องกง สนใจร่วมพัฒนาโครงการเป็นโรงแรมและเรสซิเด้นซ์ และอยู่ระหว่างตกลงกันในรายละเอียดเพื่อทำสัญญาร่วมทุน รวมถึงมีแผนพัฒนาที่ดินบริเวณหาดในยาง จ.ภูเก็ต เพื่อพัฒนาโครงการโรงแรมและเรสซิเด้นซ์ ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจาซื้อที่ดิน

“จากแผนพัฒนาเพิ่มโครงการและรายได้ของบริษัทใน 4 ปี จะทำให้บริษัทมีประมาณการมูลค่าขายของโครงการประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้ภาพรวมของธุรกิจบริษัทมีศักยภาพมากยิ่งขึ้น”

นอกจากนี้ โครงการพัทยา โดยบริษัทซื้อโรงแรมเก่าอยู่ริมหาดจอมเทียนกว่า 10 ไร่ มาปรับปรุงใหม่ คาดว่าจะใช้เวลารีโนเวทราว 15 เดือน และในพื้นที่ดังกล่าวยังมีที่ดินเหลืออีก 4 ไร่ บริษัทลงทุนก่อสร้างเป็นเรสซิเด้นซ์เป็นตึก 30 ชั้น จำนวน 350 ห้องพัก คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี และเปิดดำเนินการปี 2563

เขา บอกว่า ในปีนี้สถานการณ์การท่องเที่ยวยังได้รับปัจจัยบวก จากเศรษฐกิจทั่วโลกเติบโตขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา , ยุโรป ฉะนั้น นักท่องเที่ยวจะเดินทางไกลมากขึ้น ขณะที่คนในเอเชียก็เดินทางเข้ามาในเมืองไทยจำนวนมากอยู่แล้ว ยิ่งเฉพาะชาวจีนที่เป็นสัดส่วนมากสุด

เมืองไทยธุรกิจท่องเที่ยวเติบโตทุกปี โดยเมืองไทยติดอันดับ 2 ของโลก ในการมาเยือนของนักท่องเที่ยวทั่วโลก โดยปีที่แล้วมีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาราว 21.3 ล้านคน และในจังหวัดภูเก็ตนั้นมีนักท่องเที่ยวมากว่า 11 ล้านคน คาดว่าปีนี้จังหวัดภูเก็ตเติบโตอย่างน้อยเฉลี่ย 5%”

ดังนั้น ปีนี้จะเป็นปีที่บริษัทมีผลประกอบการเติบโต ก้าวกระโดด เพราะว่าเริ่มรับรู้รายได้จากโครงการที่ลงทุนจากปีก่อนที่เป็นช่วงของการจัดซื้อที่ดินและลงทุน

"ช่วงที่ผ่านมาเรามีแต่การลงทุน แต่หลังจากนี้ไปเราจะเริ่มรับรู้รายได้จากการลงทุนไปแล้ว เราคาดหวังการเติบโตของรายได้ใกล้เคี่ยงกับเป้าหมายที่วางไว้ ในแผน 4 ปี ยอดรับรู้อยู่ที่ 2.3 หมื่นล้านบาท”

นอกจากนี้ อยู่ระหว่างการศึกษาการลงทุนในต่างประเทศ คาดว่าจะได้เห็นการลงทุนภายในปี 2561 เช่น เมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ที่มีโครงการร่วมกันพัฒนากับพันธมิตร จำนวน 2 โครงการ ขณะที่พันธมิตรฮ่องกงสนใจมาลงทุนอสังหาฯ ในเมืองไทย ซึ่งในบางโครงการสนใจมาร่วมทุนกับบริษัท รวมทั้งชักชวนให้บริษัทร่วมลงทุนที่ฮ่องกงด้วย ซึ่งปัจจุบันบริษัทกำลังศึกษาโครงการที่เหมาะสมและไม่มีความเสี่ยงมาก

“แต่ละประเทศที่เราจะเข้าไปลงทุนยังคงคอนเซ็ปต์คือเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางไปเยือนตลอด เพียงแต่เราโยกย้ายฐานลูกค้าใหม่เพิ่มเข้ามาแทนที่จะเป็นฐานลูกค้าในเมืองไทยเท่านั้น”

--------------------------------

ซัพพลาย “คอนโดยังนำโด่ง..!

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ประเมินอุปทาน (ซัพพลาย) ตลาดที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ ปี 2561 มีจำนวน 276,100 หน่วย แบ่งเป็น แนวราบ 154,200 หน่วย สัดส่วน 55.8% และอาคารชุด 121,900 หน่วย สัดส่วน 44.2%

โดยจำนวนหน่วยที่มีมากที่สุด คือ อาคารชุด 44.1%  ทาวน์เฮ้าส์ 24.3% บ้านเดี่ยว 23.5% บ้านแฝดและอาคารพาณิชย์ 8.1% ด้วยจำนวนซัพพลายดังกล่าวยังไม่อยู่ในภาวะล้นตลาด เนื่องจากตลาดยังมีอัตราการดูดซับดี

จากตัวเลขคาดการณ์ซัพพลายปีนี้ ที่จำนวน 276,100 หน่วย ประเภท แนวราบ 154,200 ยูนิต แบ่งเป็น กรุงเทพฯ และปริมณฑล 74,300 ยูนิต สัดส่วน 48.2% ภูมิภาค จำนวน 79,900 ยูนิต สัดส่วน 51.8% ส่วนอาคารชุด จำนวน 121,900 ยูนิต แบ่งเป็น กรุงเทพฯและปริมณฑล 79,900 ยูนิต และ ภูมิภาค 42,000 ยูนิต

สำหรับซัพพลาย เฉพาะพื้นที่ กรุงเทพฯและปริมณฑล ที่จำนวนหน่วย 154,200 หน่วย ประเภท หน่วยมากที่สุด คือ คอนโด 51.2%, ทาวน์เฮ้าส์ 29.1% , บ้านเดี่ยว 13.6% บ้านแฝดและอาคารพาณิชย์ 6.1% ขณะที่ซัพพลายที่อยู่อาศัย ภูมิภาค” ทั่วประเทศ จำนวน 121,900 หน่วย ประเภทหน่วยที่มีมากที่สุด คือ บ้านเดี่ยว 36.2% , คอนโด 34.5% , ทาวน์เฮ้าส์ 18.1% บ้านแฝดและอาคารพาณิชย์ 11.2%

อย่างไรก็ตาม ในภาวะการขายหรืออัตราดูดซับตลาดที่อยู่อาศัยทั่วประเทศปีนี้ คาดว่าจะใช้เวลาเฉลี่ย 15 เดือน หากแยกเป็นบ้านแนวราบคาดจะใช้เวลาดูดซับ 17 เดือน ซึ่งใช้เวลาน้อกว่าปกติที่เฉลี่ย 19 เดือน ส่วนตลาดคอนโดคาดจะใช้เวลาดูดซับ 13 เดือน โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติเล็กน้อยที่ 12 เดือน