จีนไฟเขียว ‘สี’ นั่งประธานาธิบดีไม่มีกำหนด

จีนไฟเขียว ‘สี’ นั่งประธานาธิบดีไม่มีกำหนด

ที่ประชุมสภาประชาชนแห่งชาติของจีนมีมติท่วมท้น แก้ไขรัฐธรรมนูญให้ผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีอยู่ในตำแหน่งได้นานกว่า 2 สมัย เปิดทางให้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงอยู่ในตำแหน่งได้อย่างไม่มีกำหนด

ผลการหยั่งเสียงของที่ประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ (เอ็นพีซี) สมัยที่ 13 ในวันนี้ (11 มี.ค.) ปรากฏว่า มติที่เสนอโดยคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี “ควรอยู่ในตำแหน่งได้นานกว่า 2 สมัย” ได้รับเสียงสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากสมาชิก

มติดังกล่าวมีเพียง 2 คนคัดค้าน 3 คนงดออกเสียง และมีผู้ส่งบัตรเปล่า 1 ใบจึงถือเป็นบัตรเสีย จากจำนวนบัตรลงคะแนน 2,964 ใบ หมายความว่า จำนวนเสียงสนับสนุนอยู่ที่ 2,958 เสียง คิดเป็น 99.79%

การแก้ไขมาตราดังกล่าวของรัฐธรรมนูญถือเป็นการสิ้นสุดธรรมเนียมปฏิบัติของการที่ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงทางการเมืองควรอยู่ในตำแหน่งไม่เกิน 2 สมัยหรือ 10 ปี ที่กำหนดขึ้นเมื่อปี 2525 ตามแนวคิดของนายเติ้ง เสี่ยวผิง ประธานคณะกรรมาธิการที่ปรึกษาส่วนกลางแห่งพรรคคอมมิวนิสต์ในเวลานั้น เพื่อป้องกันการเกิด “ความไม่สงบและความวุ่นวาย” ทางการเมือง ไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำรอยช่วงหลังการถึงแก่อสัญกรรมของประธานเหมา เจ๋อตุง

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นไปตามความคาดหมายของทุกฝ่ายทั้งในและต่างประเทศ โดยปัจจุบันประธานาธิบดีสี มีอายุ 64 ปี และจะมีอายุ 69 ปี เมื่อครบวาระการดำรงตำแหน่งผู้นำจีนสมัยที่ 2 “ตามธรรมเนียม” ในปี 2565

แม้พรรคคอมมิวนิสต์จีนมี “ธรรมเนียมปฏิบัติ” ของการไม่เลื่อนขั้นให้แก่สมาชิกที่มีอายุมากกว่า 68 ปี แต่บทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ เดอะ โกลบอล ไทม์ส ซึ่งเป็นหนึ่งในสื่อกระบอกเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์ ระบุว่าจีนต้องการ “ภาวะผู้นำที่มีเสถียรภาพ” ระหว่างปี 2563-2568

อย่างไรก็ตาม รายงานของหนังสือพิมพ์พีเพิลส์ เดลี อีกหนึ่งสื่อในสังกัดพรรคคอมมิวนิสต์ ยืนยันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ไม่ใช่การปูทางทางให้สมาชิกระดับสูงอยู่ในตำแหน่ง “ตลอดชีวิต”

นอกเหนือจากการยกเลิกธรรมเนียมการจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีแล้ว เอ็นพีซียังมีมติให้บรรจุ “หลักปรัชญาสี จิ้นผิง” ว่าด้วย แนวคิดสังคมนิยมอันเป็นคุณลักษณะเฉพาะสำหรับชาวจีนในศักราชใหม่ เพิ่มเติมเข้าสู่รัฐธรรมนูญของจีนอย่างเป็นทางการ หลังที่ประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ (ซีพีซี) มีมติในเรื่องนี้เมื่อเดือนต.ค. ปีที่แล้ว ถือเป็นผู้นำระดับสูงสุดคนที่ 3 ของพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีหลักปรัชญาเป็นชื่อของตัวเองต่อจาก “แนวคิดเหมา” ของประธานเหมา เจ๋อตุง ผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ และทฤษฎีปฏิรูปเศรษฐกิจของนายเติ้ง เสี่ยวผิง