ชงขึ้นเงินเดือนตร. สกัดรับส่วย-รีดไถ

ชงขึ้นเงินเดือนตร. สกัดรับส่วย-รีดไถ

“กก.ปฏิรูปตำรวจ”ชงเพิ่มเงินเดือนตำรวจจบรร.นายสิบรับเดือนละ 1.6หมื่นบาทจบ รร.นายร้อยเดือนละ 3.6หมื่นเพิ่มเงิน “ค่าทำสำนวน”พนักงานสอบสวน 100% หวังสกัดรับส่วย-รีดไถทบทวนทุกรอบ 5 ปี

นายมานิจ สุขสมจิตร คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม(ตำรวจ) เปิดเผยว่าในการประชุมคณะกรรมการที่มี พลเอกบุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธาน ได้พิจารณา ถึงประเด็นการเพิ่มค่าตอบแทนและสวัสดิการของข้าราชการตำรวจ ตามที่คณะอนุกรรมการด้านการบริหารบุคคลเสนอให้พิจารณา งานตำรวจเป็นงานที่มีความเสี่ยงมากกว่าข้าราชการพลเรือนสามัญอยู่ระหว่าง 13.56-22.57 เท่า ซึ่งในต่างประเทศนั้นค่าตอบแทนของตำรวจชั้นประทวนกับค่าตอบแทนของข้าราชการพลเรือนสามัญมีสัดส่วน ความเสี่ยง 1.28 ต่อ 1 ส่วนระดับสัญญาบัตรมีสัดส่วน 1.74 ต่อ 1

นายมานิจ กล่าวว่าจากผลการวิจัยโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง เสนอว่าข้าราชการตำรวจในสายงานป้องกันปราบปรามซึ่งมีความเสี่ยงเฉพาะในการปฏิบัติหน้าที่มากกว่างานตำรวจในกลุ่มงานอำนวยการและกลุ่มงานสนับสนุนคิดเป็นค่าเฉลี่ย 2.66 ต่อ 2.97 จึงควรได้รับเงินเพิ่มในระดับชั้นประทวนเป็นเงิน 4,300-5,000 บาท ต่อเดือนและในระดับสัญญาบัตรเป็นเงิน 18,500-21,500 บาทต่อเดือน จะมีผลทำให้ตำรวจในสายงานป้องกันปราบปรามตำแหน่ง ผบ.หมู่ที่จบจากโรงเรียนนายสิบ ได้เงินเดือนแรกบรรจุเดือนละ 9,330 บาทบวกเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว 2,000 บาท และเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งอีก 4,300-5,000 บาท รวมรายได้เดือนละ 15,630-16,330 บาท ส่วนตำแหน่งรองสารวัตรที่จบจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจควรจะได้รับเงินเดือนๆแรกบรรจุ 15,290 บาทบวกกับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่ง 18,500-21,500 บาท จะทำให้มีรายได้เดือนละ 33,790-36,790 บาท

นอกจากนี้ที่ประชุมคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจยังเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการด้านการบริหารงานบุคคลที่ให้ปรับอัตราการจ่ายเงินค่าตอบแทนการสอบสวนคดีอาญาหรือที่เรียกว่า “ค่าทำสำนวน” เพิ่มขึ้นอีก 100% ดังนี้ 1. กรณีที่เกิดคดีอาญาขึ้นและไม่รู้ตัวผู้กระทำผิด เดิมไม่จ่าย ส่งผลให้พนักงานสอบสวนไม่อยากทำสำนวนหรือไม่รับคดีจึงเสนอให้จ่ายค่าตอบแทนการสอบสวนคดีอาญาประเภทที่ไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิดไม่เกินคดีละ 500 บาท

2. ความผิดที่มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี เสนอให้จ่ายไม่เกินคดีละ 1,000 บาท (ขณะนี้จ่ายไม่เกินคดีละ 500 บาท) 3.ความผิดที่มีอัตราโทษจำคุก 3-10 ปีเสนอให้จ่ายไม่เกินคดีละ 2,000 บาท (ขณะนี้จ่ายไม่เกินคดีละ 1,000 บาท) 4. ความผิดที่มีอัตราโทษจำคุก 10 ปี ขึ้นไป เสนอให้จ่ายไม่กินคดีละ 3,000 บาท (ขณะนี้จ่ายไม่เกินคดีละ 1,500 บาท)เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม(ตำรวจ) กล่าวว่าในการเสนอของคณะอนุกรรมการด้านการบริหารงานบุคคลได้เสนออัตรารายได้ของตำรวจในสายงานป้องกันและปราบปราม ให้ต่ำกว่าอัตราที่เสนอโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง เพราะไม่อยากให้กระทบต่องบประมาณในภาพรวมของประเทศ แต่เมื่อได้มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวางรวมทั้งเหตุผลที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งเป็นอาชีพเดียวที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ให้ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม ที่ประชุมจึงเห็นสมควรให้ปรับค่าตอบแทนของข้าราชการตำรวจในสายงานป้องกันปราบปรามตามผลการศึกษาวิจัยของมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง และควรมีการพิจารณาค่าตอบแทนดังกล่าวทุกห้าปีด้วย

“แสดงว่าปัจจุบันนี้ ตำรวจได้รับค่าตอบแทนที่ยังไม่เหมาะสม จึงอ้างว่ารายได้ไม่เพียงพอต้องหารายได้พิเศษจากการรีดไถ และรับส่วย เมื่อเพิ่มรายได้ให้แล้วควรจะได้กวดขันตำรวจที่ทุจริตและประพฤติมิชอบต่อไป คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม(ตำรวจ) ระบุ

วันเดียวกันศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ความโปร่งใสยุติธรรมและความมั่นใจของประชาชนต่อระบบงานสอบสวนของตำรวจ” สำรวจระหว่างวันที่ 1 - 6 มี.ค.2561 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป

จากการสำรวจเมื่อถามถึงความโปร่งใสยุติธรรมของขั้นตอนการดำเนินคดีและระบบงานสอบสวนของตำรวจ พบว่า 9.68% ระบุว่า มีความโปร่งใสยุติธรรมมาก เพราะทำตามระบบและขั้นตอนการทำงานเป็นอย่างดี 39.6% ระบุว่า ค่อนข้างมีความโปร่งใสยุติธรรม เพราะ มีระบบการทำงานที่ดี มีหลักฐานประกอบชัดเจน 35.2% ระบุว่า ไม่ค่อยมีความโปร่งใสยุติธรรม เพราะ เกิดความล่าช้า มีข้อผิดพลาดค่อนข้างบ่อย มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง และใช้ระบบพวกพ้อง 14.64% ระบุว่า ไม่มีความโปร่งใสยุติธรรมเลย เพราะ ประชาชนไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบหรือมีส่วนร่วมในการสอบสวนได้ บางครั้งมีหลักฐานที่ไม่ชัดเจน ชอบยัดข้อหาให้กับคนจน ถูกแทรกแซงการทำงานจากผู้มีอิทธิพล และเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง และ 0.88% ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ด้านความมั่นใจต่อขั้นตอนการดำเนินคดีและระบบงานสอบสวนของตำรวจ พบว่า 11.12% ระบุว่า มั่นใจมาก เพราะมีระบบขั้นตอนการทำงานที่ละเอียด ชัดเจน และตำรวจทำหน้าที่ดีอยู่แล้ว 37.2% ระบุว่า ค่อนข้างมั่นใจ เพราะมีระบบการทำงาน ที่ค่อนข้างละเอียดอยู่แล้ว ปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ และหลักฐานที่มี 40.56% ระบุว่า ไม่ค่อยมั่นใจ เพราะมีการใช้ระบบพวกพ้อง มีผู้มีอิทธิพลเข้ามาแทรกแซงการทำงาน และมีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง 10.72% ระบุว่า ไม่มั่นใจเลย เพราะมีอำนาจของเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง คนรวยมักหลุดพ้นคดี และ 0.4% ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

เมื่อถามถึงแนวทางในการปรับปรุงงานสอบสวนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 41.52% ระบุว่า ควรมีการบันทึกเสียงและภาพในระหว่างการสอบสวน เพื่อลดความผิดพลาดและเพิ่มความโปร่งใส รองลงมา 26.24% ระบุว่า ส่งเสริมด้านการมีจริยธรรมและจรรยาบรรณของตำรวจ 20% ระบุว่า กระจายอำนาจการสอบสวนไปให้หน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อช่วยลดปริมาณงานของพนักงานสอบสวน ทำให้การสอบสวนคดีมีประสิทธิภาพมากขึ้น 17.36% ระบุว่า ให้พนักงานอัยการ มีบทบาทในกระบวนการสอบสวนคดีอาญาร่วมกับพนักงานสอบสวน 15.36% ระบุว่า ควรให้หน่วยงานภายนอกหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบ 15.28% ระบุว่า แยกหน่วยงานสอบสวนออกจากตำรวจ 13.84% ระบุว่า ออกกฎหมาย ที่รับรองความเป็นอิสระของพนักงานสอบสวนไม่ให้ถูกแทรกแซง 6.48% ระบุว่า เพิ่มบุคลากรด้านงานสอบสวนและงบประมาณให้เพียงพอ 1.84% อื่น ๆ ได้แก่ พัฒนาระบบงานสอบสวนให้มีความรวดเร็วมากกว่านี้ เพิ่มทักษะให้ตำรวจ เช่น ความรู้ด้านกฎหมาย เรื่องคดีความให้หาข้อมูลในการสอบสวน ลงพื้นที่ หาพยานหลักฐานเพิ่มมากขึ้น ลดอำนาจของตำรวจลง ขณะที่บางส่วนระบุว่า ระบบงานสอบสวนดีอยู่แล้ว และไม่มีทางแก้ไขได้ และ 2.88% ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ