ปชช.40.5%ไม่ค่อยมั่นใจขั้นตอนดำเนินคดี ระบบสอบสวนของตำรวจ

ปชช.40.5%ไม่ค่อยมั่นใจขั้นตอนดำเนินคดี ระบบสอบสวนของตำรวจ

ผลสำรวจประชาชน40.5%ไม่ค่อยมั่นใจขั้นตอนดำเนินคดี ระบบสอบสวนของตำรวจ เพราะมีการระบบพวกพ้อง มีผู้มีอิทธิพลเข้ามาแทรกแซงการทำงาน และมีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ความโปร่งใสยุติธรรมและความมั่นใจของประชาชนต่อระบบงานสอบสวนของตำรวจ” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 1 – 6 มีนาคม 2561 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับ ความโปร่งใสยุติธรรมและความมั่นใจของประชาชนในระบบงานสอบสวนของตำรวจ การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างด้วยความน่าจะเป็น จากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาคสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0

จากการสำรวจเมื่อถามถึงความโปร่งใสยุติธรรมของขั้นตอนการดำเนินคดีและระบบงานสอบสวนของตำรวจ พบว่า ร้อยละ 9.68 ระบุว่า มีความโปร่งใสยุติธรรมมาก เพราะ ทำตามระบบและขั้นตอนการทำงานเป็นอย่างดี ร้อยละ 39.60 ระบุว่า ค่อนข้างมีความโปร่งใสยุติธรรม เพราะ มีระบบการทำงานที่ดี มีหลักฐานประกอบชัดเจน ร้อยละ 35.20 ระบุว่า ไม่ค่อยมีความโปร่งใสยุติธรรม เพราะ เกิดความล่าช้า มีข้อผิดพลาดค่อนข้างบ่อย มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง และใช้ระบบพวกพ้อง ร้อยละ 14.64 ระบุว่า ไม่มีความโปร่งใสยุติธรรมเลย เพราะ ประชาชนไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบหรือมีส่วนร่วมในการสอบสวนได้ บางครั้งมีหลักฐานที่ไม่ชัดเจน ชอบยัดข้อหาให้กับคนจน ถูกแทรกแซงการทำงานจากผู้มีอิทธิพล และเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง และร้อยละ 0.88 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ด้านความมั่นใจต่อขั้นตอนการดำเนินคดีและระบบงานสอบสวนของตำรวจ พบว่า ร้อยละ 11.12 ระบุว่า มั่นใจมาก เพราะมีระบบขั้นตอนการทำงานที่ละเอียด ชัดเจน และตำรวจทำหน้าที่ดีอยู่แล้ว ร้อยละ 37.20 ระบุว่า ค่อนข้างมั่นใจ เพราะมีระบบการทำงาน ที่ค่อนข้างละเอียดอยู่แล้ว ปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ และหลักฐานที่มี ร้อยละ 40.56 ระบุว่า ไม่ค่อยมั่นใจ เพราะมีการใช้ระบบพวกพ้อง มีผู้มีอิทธิพลเข้ามาแทรกแซงการทำงาน และมีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ร้อยละ 10.72 ระบุว่า ไม่มั่นใจเลย เพราะมีอำนาจของเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง คนรวยมักหลุดพ้นคดี และร้อยละ 0.40 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ปชช.40.5%ไม่ค่อยมั่นใจขั้นตอนดำเนินคดี ระบบสอบสวนของตำรวจ

ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงแนวทางในการปรับปรุงงานสอบสวนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 41.52 ระบุว่า ควรมีการบันทึกเสียงและภาพในระหว่างการสอบสวน เพื่อลดความผิดพลาดและเพิ่มความโปร่งใส รองลงมา ร้อยละ 26.24 ระบุว่า ส่งเสริมด้านการมีจริยธรรมและจรรยาบรรณของตำรวจ ร้อยละ 20.00 ระบุว่า กระจายอำนาจการสอบสวนไปให้หน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อช่วยลดปริมาณงานของพนักงานสอบสวน ทำให้การสอบสวนคดีมีประสิทธิภาพมากขึ้น ร้อยละ 17.36 ระบุว่า ให้พนักงานอัยการ มีบทบาทในกระบวนการสอบสวนคดีอาญาร่วมกับพนักงานสอบสวน ร้อยละ 15.36 ระบุว่า ควรให้หน่วยงานภายนอกหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบ ร้อยละ 15.28 ระบุว่า แยกหน่วยงานสอบสวนออกจากตำรวจ ร้อยละ 13.84 ระบุว่า ออกกฎหมาย ที่รับรองความเป็นอิสระของพนักงานสอบสวนไม่ให้ถูกแทรกแซง ร้อยละ 6.48 ระบุว่า เพิ่มบุคลากรด้านงานสอบสวนและงบประมาณให้เพียงพอ ร้อยละ 1.84 อื่น ๆ ได้แก่ พัฒนาระบบงานสอบสวนให้มีความรวดเร็วมากกว่านี้ เพิ่มทักษะให้ตำรวจ เช่น ความรู้ด้านกฎหมาย เรื่องคดีความให้หาข้อมูลในการสอบสวน ลงพื้นที่ หาพยานหลักฐานเพิ่มมากขึ้น ลดอำนาจของตำรวจลง ขณะที่บางส่วนระบุว่า ระบบงานสอบสวนดีอยู่แล้ว และไม่มีทางแก้ไขได้ และร้อยละ 2.88 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 8.80 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.68 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 17.52 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.20 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 14.80 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่าง ร้อยละ 56.24 เป็นเพศชาย และร้อยละ 43.76 เป็นเพศหญิง ตัวอย่าง ร้อยละ 7.28 มีอายุ 18 – 25 ปี ตัวอย่าง ร้อยละ 14.88 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 20.64 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 36.24 มีอายุ 46 – 59 ปี ร้อยละ 18.80 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และร้อยละ 2.16 ไม่ระบุอายุ

ตัวอย่าง ร้อยละ 89.76 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 4.72 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 1.20 นับถือศาสนาคริสต์ /ฮินดู/ซิกข์/ยิว/ไม่นับถือศาสนาใด ๆ และร้อยละ 4.32 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่าง ร้อยละ 22.80 ระบุว่า สถานภาพโสด ร้อยละ 67.44 สมรสแล้ว ร้อยละ 4.88 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 4.88 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส ตัวอย่าง ร้อยละ 26.88 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 29.76 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 7.44 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 25.84 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 4.80 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 5.28 ไม่ระบุการศึกษา

ตัวอย่างร้อยละ 12.64 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 13.04 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 19.76 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 13.52 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 15.44 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 16.88 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 3.44 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 0.08 เป็นพนักงานองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหากำไร และร้อยละ 5.20 ไม่ระบุอาชีพ ตัวอย่างร้อยละ 13.60 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 24.08 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 23.04 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 12.56 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 5.04 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 8.80 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 12.88 ไม่ระบุรายได้