วิพากษ์จุดบอดการเมือง ขาด3หลักหยั่งรากปชต.ในสังคม

วิพากษ์จุดบอดการเมือง ขาด3หลักหยั่งรากปชต.ในสังคม

"เสกสรรค์ ประเสริฐกุล" วิพากษ์จุดบอดการเมือง ขาด3หลักหยั่งรากประชาธิปไตยในสังคม ชี้การเมืองสู่จุดหายนะเพราะวาทกรรมคนดี-ลดคุณค่าความเป็นคนฝ่ายตรงข้าม แนะยอมถอยแค่ก้าวเดียวเพื่อปลูกพื้นที่ศรัทธา-จิตวิญญาณสากล

นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และสังคมศึกษา กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ประเทศไทยในความคิด ความคิดในประเทศไทย เนื่องในงาน ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 16 ซึ่งจัดโดยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอนหนึ่งถึงภาพสะท้อนสังคมการเมืองที่ขัดแย้ง และการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อปี 2557 ว่า สาเหตุสำคัญ​มาจากการความคิด ความเชื่อ ผ่านวาทะกรรม คนดี ความเป็นคนไทย และยัดเยียดแนวคิดและคำนิยามดังกล่าวไปสู่มสังคมวงกว้าง และบุคคลที่มีพฤติกรรมที่แตกต่างจากกลุ่มของตนเองหรือกล้าวิพากวิจารณ์สิ่งที่ต่างจากอุดมคติของฝ่ายตนเอง จะถูกลดคุณค่าความเป็นคน

"ความเป็นจริงของสังคมไทย ช่วง 10 ปี บ้านเมืองขัดแย้งแบบชนิดแบบที่ไม่มีใครฟังใคร และส่วนนั้นถือสาเหตุสำคัญที่ทำให้เราปรองดองกันได้มาก ทั้งที่สภาพปกติมนุษยย์มองโลกในมุมที่แตกต่างกัน แต่กลับนำไปใช้เพื่อการทะเลาะ จนกลายไปสู่การใช้อำนาจทางกายภาพสำทับความเห็นของตนเอง เชื่อมโยงเข้ากับกลุ่มผลประโยชน์ ผู้มีอำนาจและในโครงสร้างที่เกี่ยวข้อง และจากที่ผ่านมาพบว่าประเด็นที่เกิดขึ้นเปิดช่องให้เกิดการรวบอำนาจในที่สุด รวมถึงนำไปสู่การจำกัดสิทธิ และเสรีภาพของคนในสังคมตามหลักการและแนวคิดของการสร้างสังคมในระบอบประชาธิปไตย" นายเสกสรรค์ กล่าว

นายเสกสรรค์ สะท้อนความเห็นด้วยว่าตนเข้าใจต่อประเด็นการสร้างวาทะกรรมคนดีบนเวทีขับไล่รัฐบาล เมื่อปี 2557 ว่าเป็นการสร้างอัตตารวมหมู่ เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ของผู้ประท้วง พร้อมกับการเหยียดฝ่ายตรงข้าม ซึ่งหมายถึงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและประชาชนที่เลือกรัฐบาลนั้นเข้ามาว่าเป็นผู้ที่อยู่ต่ำกว่าศีลธรรม ดังนั้นการตัดสิทธิการมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้ชุมนุมช่วงนั้นไม่มีแค่การตัดสิทธินักการเมืองเท่านั้นแต่รวมถึงประชาชนนับล้านที่เลือกรัฐบาลด้วย

"ผมมองว่าการได้ผู้ปกครองในอุดมคติไม่ใช่เรื่องง่าย ที่ผ่านมาอาจใช้วิธีเลือกตั้งแก้ปัญหา หากเลือกผิดก็เลือกใหม่ เพราะมีระบบตรวจสอบนักปกครองที่ออกนอกลู่ และให้ออกจากตำแหน่ง แต่ขณะนี้มีคนจำนวนหนึ่งบอกว่าวิธีนั้นใช้ไม่ได้ และนัยของคนดีหรือคนไม่ดี บ่งชัดเจนว่าบ้านเมืองนี้ควรมีคนที่ทำหน้าที่เป็นชั้นชนปกครองและมีกลุ่มที่ถูกคุมประพฤติอย่างถาวร เมื่อถอดสมการการเมืองจะพบว่ากองหน้าของคนดี คือ ข้าราชการ ส่วนคนไม่ดี คือ นักการเมืองและชาวบ้านที่เลือกเขามา ซึ่งการเลือกใช้วาทะกรรมดังกล่าวคือสิ่งที่นำไปสู่ทางตันและเกิดความหายนะมากกว่าความเจริญ เพราะผมมองว่าไม่มีสังคมไหนที่จำแนกคนออกเป็นชนชั้นได้ แต่ผมเชื่อว่ายังมีวิธีแก้ปัญหาผ่านการให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมต่อการกำหนดนิยามหรือความหมายที่ทุกฝ่ายให้ความเห็นชอบร่วมกันในระดับที่จรรโลงสังคมได้ ทั้งนี้ผมไม่ต่อต้านความเป็นคนดี แต่การสมมติคนดีเพื่อเข้าสู่การกุมอำนาจนั้นไม่ถูกต้อง" นายเสกสรรค์ ให้ความเห็น

องค์ปาฐกพิเศษของงาน ยังสะท้อนมุมมองต่อจุดอ่อนของการสร้างรากฐานระบอบ ประชาธิปไตยของประเทศไทย ว่า ส่วนหนึ่งเกิดจากนักการเมืองที่ช่วงที่มีอำนาจขาดการปกป้องระบอบและส่งเสริมรากฐานประชาธิปไตยไปสู่ประชาชนได้ มีบางครั้งที่ฝ่ายล้มระบอบประชาธิปไตยใช้ข้ออ้างว่าเพื่อพิทักษ์ประชาธิปไตย และสร้างประชาธิปไตยที่ดีกว่า ปัญหาสำคัญที่ตนมองเห็นคือ นักการเมืองฐานะผู้เล่นหลักมีความคิดประชาธิไตยที่คับแคบ อาศัยการเลือกตั้งเพื่อเข้าสู่อำนาจและหมกหมุ่นอยู่ในอำนาจรัฐสภาและบริหาร จนลืมการส่งเสริมการเมืองภาคประชาชน ละเลยเสียงวิจารณ์ของสามัญชน หรือสื่อมวลชน ดังนั้นสิ่งที่ยังไม่ได้ทำ คือ 1.กระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง เพื่อลดราชการรวมศูนย์ ที่เคยถูกออกแบบให้เป็นกลไกควบคุมและกำกับสังคม 2. ปฏิรูประบบราชการที่ยึดโยงกับประชาชน ตรวจสอบได้ และ 3. เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการนิติบัญญัติอย่างสม่ำเสมอ

"ที่ผ่านมา พรรคการเมืองและนักการเมือง ใช้ระบบสัมพันธ์แบบจารีต มากกว่าการส่งเสริมหลักการประชาธิปไตย เขามักจะสร้างฐานเสียงทั้งในพรรคและนอกพรรค ซึ่งการสร้างระบบพรรคการเมืองแบบนั้นแท้จริงคือร่างอวตาลของระบบอุปถัมภ์ ขัดกับปรัชญาสิทธิเสรีภาพมาก รวมถึงขาดความยืดหยุ่น ทำให้รูปแบบการเมืองที่เห็นคือการมุ่งเอาชนะกันเพียงอย่างเดียว แต่ระยะ4ปีที่นักการเมืองถูกจำกัดความเคลื่อนไหว ทำให้ความสัมพันธ์ระหวางนักการเมืองและสังคมสะดุดและหยุดบทบาทลงชั่วคราว" นายเสกสรรค์ กล่าว

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และด้านสังคม กล่าวตอนท้ายของงานด้วยว่า มนุษย์ไม่สามารถมองโลกได้อย่างสมบูรณ์ภายใต้ความคิดของตนเองได้ ดังนั้นในความคิดที่แตกต่างต้องปรับตัว ไม่ใช่มองโลกแบบไม่คิด เพราะหากเป็นเช่นนั้นเท่ากับการปิดกั้นสังคม ส่วนความขัดแย้งในสังคมมีทั้งส่วนที่จำเป็นและไม่จำเป็น โดยเฉพาะไม่จำเป็นต้องขยายความขัดแย้งทางความคิดไปสู่จุดที่รุนแรง​ ขณะเดียวกันภายใต้ชุดความคิดที่หลากไลายไม่ควรลดทอนวิธีที่นำไปสู่การแก้ไข เพราะในปรากฎการณ์หรือสถานที่เดียวกันการแก้ปัญหามีทางเลือกที่หลากหลาย ดังนั้นควรอดทน ละเว้นการละเมิดสิทธิ หรือเสรีภาพผู้อื่น พร้อมยอมรับความเห็นที่แตกต่าง

"สังคมไทย จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความจริญอย่างมีราก ฐาน โดยทุกฝ่ายต้องร่วมช่วยสร้างและปลดล็อค สังคม วันที่เราได้เสรีภาพคืน คงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะมองคนไทยเป็นก้อนเดียว คิดเหมือนกัน หรือปฏิบัติเหมือนกัน และไม่ยอมรับความเห็นที่แตกต่างกัน เมื่อสังคมที่มีคนหลากหลายและมีความแตกต่างกัน ผมมองว่าประเด็นความเป็นธรรมและยุติธรรมเป็นสิ่งสำคัญที่จะรักษาเอกภาพได้ ดังนั้นเมื่อเราอยู่ท่ามกลางความแตกต่าง หลากหลาย ควรถอยห่างจากตัวเองสักหนึ่งก้าว เพื่อปลูกพื้นที่ศรัทธาของเพื่อมนุษย์และนำไปสู่จิตวิญญาสากล" นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และสังคม กล่าวตอนท้าย