เร่งขยายพอร์ตซื้อหนี้ เกมชนะ 'ชโย กรุ๊ป'

เร่งขยายพอร์ตซื้อหนี้ เกมชนะ 'ชโย กรุ๊ป'

ปลดล็อกเงินทุน & ขยายพอร์ตซื้อหนี้ 'จุดขาย' หุ้นไอพีโอน้องใหม่ 'ชโย กรุ๊ป' เตรียมระดมทุนตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ 22 มี.ค.นี้ 'สุขสันต์ ยศะสินธุ์' ผู้ก่อตั้ง หวังเงินระดมทุนเพิ่มขีดความสามารถซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ '2เท่าตัว'

เศรษฐกิจหดตัว ผลักดัน 'สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL' เพิ่มขึ้น สัญญาณดังกล่าวกำลังบ่งชี้ว่า สถาบันการเงินในเมืองไทยต้องเร่งปล่อยหนี้เสียดังกล่าวออกมาทันที และเป็นการลดระดับ NPL ของแบงก์ไม่ให้สูงเกิน 4% เพื่อไม่ให้แบงก์เกิดปัญหา...!

สัญญาณดังกล่าวกำลังส่งผลดีต่อหุ้นไอพีโอน้องใหม่ที่กำลังจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) จำนวน 140 ล้านหุ้น เข้าซื้อขายวันแรก (เทรด) ในวันที่ 22 มี.ค.นี้ ราคาหุ้นละ 2.88 บาท มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 0.50 บาท ได้เม็ดเงินระดมทุนรวม 403.2 ล้านบาท

'สุขสันต์ ยศะสินธุ์' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ชโย กรุ๊ป หรือ CHAYO ประกอบธุรกิจลงทุนและบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ธุรกิจให้บริการเจรจาติดตามทวงถามและเร่งรัดหนี้ และธุรกิจศูนย์บริการข้อมูลลูกค้า บอกสตอรี่ใหม่ผลักดันฐานะกับ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ว่า

ตัดสินใจนำบริษัทเข้าตลาด เขายอมรับว่าเพราะต้องการแก้ไขปัญหา 'ข้อจำกัด' ด้านเงินทุนเนื่องจากช่วงที่ผ่านมาบริษัทเติบโตตามกระแสเงินสดในแต่ละปี แต่หลังจากบริษัทมีเงินจากการระดมทุนแล้ว สามารถขยายมูลค่าพอร์ตการลงทุนใหญ่ขึ้นก้าวกระโดด สะท้อนผ่านเงินระดมทุนเสนอขายหุ้น IPO จะนำเงินไปซื้อกองสินทรัพย์ด้อยคุณภาพทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน

อีกประเด็นที่ได้จากการเข้าระดมทุน คือ 'การยอมรับของแบงก์' เพราะว่าในอดีตบริษัทจะทำธุรกรรมทางการเงินเกี่ยวกับแบงก์ต้องวางเงินเป็นหลักค้ำประกัน ซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้ธุรกิจไม่เติบโต เพราะว่าถูกจำกัดด้วยเงินลงทุน

ปัจจุบันภาพรวมประเทศไทยมีการปล่อยสินเชื่อ 'ราว12-13ล้านล้านบาท' เป็นหนี้เสียราว 3% ของพอร์ตการปล่อยสินเชื่อ คิดเป็นประมาณ 4 แสนล้านบาท ซึ่งยังเป็นเป็นหนี้ไม่มีหลักประกัน 20-30% ที่เหลือเป็นหนี้ที่มีหลักประกัน 70-80%

ขณะที่ 'อุตสาหกรรมหนี้เสีย' ตัวเลขหนี้ NPL ไตรมาส 3 ปี 2560 มีมูลค่าหนี้เสียทั้งประเทศอยู่ที่ 2.97% หากเทียบกับช่วงปี 2540 ที่ประเทศไทยมีหนี้เสียราว 30-50% และค่อยปรับลดลงมา แต่ในภาวะปัจจุบันที่เศรษฐกิจดีบ้างไม่ดีบ้างหนี้เสียจะอยู่ที่ 2-4%

'ผมยังไม่เคยเห็นประเทศไหนในโลกไม่มีหนี้เสีย แค่เพียงสัดส่วนมากน้อยต่างกันเท่านั้น'

ปัจจุบัน 'ชโย กรุ๊ป' ประกอบธุรกิจ 3 ประเภท ประกอบด้วย 1.ธุรกิจเจรจาติดตามทวงถามและเร่งรัดหนี้ 2.ธุรกิจลงทุนและบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ และ3.ธุรกิจศูนย์บริการข้อมูลลูกค้า

หากพิจารณาการเติบโตขององค์กรแห่งนี้พบว่าช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2557-2559) มีรายได้รวม 55.84 ,144.31 , และ 197.86 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 18.81 , 68.94 ,70.89 ล้านบาท โดยเป็นอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดดทุกปี

ทว่า หลังจากมีเงินระดมทุนบริษัทจะมีการเติบโตอย่าง 'โดดเด่น' ในอนาคต เนื่องจากขีดความสามารถในการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (ซื้อหนี้) ได้มูลค่าสูงขึ้น โดยหลังมีเงินทุนตั้งเป้าซื้อหนี้ด้อยคุณภาพทั้งมีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน วงเงิน 600-800 ล้านบาทต่อปี เดิม 200-300 ล้านบาทต่อปี ซึ่งความสามารถในการซื้อหนี้เพิ่มขึ้นกว่า '2 เท่าตัว'

'ผู้ก่อตั้ง' เล่าต่อว่า วางแผนธุรกิจระยะ 3 ปี (2561-2563) เพิ่มสัดส่วนรายได้พอร์ตหนี้ที่มีหลักประกันเป็น 70% ขณะที่พอร์ตหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน 30% จากปี 2559 พอร์ตหนี้ที่มีหลักประกัน 5% และไม่มีหลักประกัน 95%

'เรามาเน้นซื้อหนี้มีหลักประกันเพราะว่ามีความเสี่ยงน้อยกว่าหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน หากลูกหนี้ไม่ชำระคืนหนี้ เรายังมีสินทรัพย์ที่ค้ำประกันอยู่ และสินทรัพย์ดังกล่าวอาจมีมูลค่าเพิ่มขึ้นหากทำเลย่านนั้นมีการเปลี่ยนแปลงส่งผลให้สินทรัพย์ดังกล่าวมีมูลค่าเพิ่มขึ้นด้วย เช่น มีโครงการรถไฟฟ้าผ่าน , มีถนนตัดผ่าน เป็นต้น'

ทั้งนี้ ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า (2561-2562) จะเน้นขยายพอร์ตโดยการซื้อหนี้เข้ามาให้เป็นตามเป้าตามสัดส่วนพอร์ต 70% หนี้มีหลักประกัน และ 30% หนี้ไม่มีหลักประกัน ถือว่าในช่วงที่ผ่านมาเป็นช่วงที่ต้องเน้นซื้อหนี้มาบริหารเป็นหลัก แต่หลังจากรัฐบาลชุดปัจจุบันประกาศเลือกตั้งในปี 2562 แล้วนั้น สัญญาณดังกล่าวบ่งชี้ว่าสถานการณ์การลงทุนจะมากขึ้น

ฉะนั้น เมื่อมีการลงทุนเศรษฐกิจฟื้นตัว ส่งผลให้เม็ดเงินกระจายลงสู่ระดับรากหญ้า ซึ่งเมื่อนั้นคนที่เป็นหนี้ก็จะมีเงินจ่ายชำระคืน สะท้อนกลับมาที่บริษัทว่าบริษัทมีฐานลูกค้ากว่า 'แสนราย' ดังนั้นเมื่อลูกค้ามีความมั่นคงด้านการเงิน เขาก็จะนำเงินมาชำระคืนหนี้ ดังนั้น ในปี 2562-2563 จะเป็นปีของการเก็บเกี่ยวสิ่งที่ลงทุนไปแล้ว

โดยในธุรกิจ 'ลงทุนและบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ' เขาบอกว่า จะเน้นซื้อกองสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากสถาบันการเงินที่เป็นธนาคารพาณิชย์เป็นหลักมาบริหารมากขึ้น หลังจากมีเงินทุนมากขึ้นแล้ว โดยการกำหนดราคาประมูลซื้อกองสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในแต่ละครั้ง บริษัทจะทำการประมาณการการจัดเก็บหนี้ของบริษัทโดยพิจารณาถึงปัจจัยด้านต่างๆ

ประกอบด้วย ความสามารถในการจัดเก็บหนี้แต่ละประเภท ประเภทหนี้ อายุของหนี้ด้อยคุณภาพ หลักประกัน สถานะทางกฎหมาย รวมถึงมูลหนี้คงค้าง เป็นต้น ซึ่งบริษัทมีการจัดเก็บข้อมูลเชิงสถิติในฐานข้อมูลของบริษัทเพื่อที่จะสามารถกำหนดราคาประมูลซื้อได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้ สินทรัพย์ด้อยคุณภาพสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ สินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่มีหลักประกัน และ สินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่ไม่มีหลักประกัน

'ธุรกิจเจรจาติดตามทวงถามและเร่งรัดหนี้' ในแผนธุรกิจบริษัทจะเน้นขยายฐานลูกค้าเพิ่มมากขึ้น เช่น ลิสซิ่ง ,นอนแบงก์ , รถยนต์ เป็นต้น จากปัจจุบันกลุ่มลูกค้าตามคือ กลุ่มสถาบันการเงินชั้นนำ ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ประเภทสินเชื่อส่วนบุคคล เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารออมสิน ธนาคารธนชาต ธนาคารเกียรตินาคิน และธนาคารกสิกรไทย

และกลุ่มบริษัทเอกชนชั้นนำ ได้แก่ บริษัทในกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารซึ่งเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์หรือผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ เช่น บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ ADVANC บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ DTAC และ บริษัท กสท โทรคมนาคม หรือ CAT

ทั้งนี้ บริษัทเป็นผู้ให้บริการเจรจาติดตามทวงถามและเร่งรัดหนี้ โดยบริษัทจะรับติดตามทวงถามหนี้ซึ่งเป็นหนี้ด้อยคุณภาพหรือหนี้คงค้างที่ผู้ว่าจ้างต้องการให้ติดตามทวงถามให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตามเงื่อนไขที่ผู้ว่าจ้างได้กำหนดไว้ ภายใต้พระราชบัญญัติและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น หนี้บัตรเครดิต หนี้เงินกู้ส่วนบุคคล รวมถึงหนี้ค่าสาธารณูปโภค หนี้ค่าบริการ และหนี้โทรศัพท์ เป็นต้น

และ 'ธุรกิจศูนย์บริการข้อมูลลูกค้า' (Call center) เริ่มดำเนินธุรกิจในปี 2559 ภายใต้บริษัท CHAYO Call Center โดยให้บริการระบบข้อมูลลูกค้าสัมพันธ์ผ่านทางโทรศัพท์ตามความต้องการของลูกค้า ตั้งแต่การนำเสนอข้อมูลผลิตภัณฑ์และบริการของผู้ว่าจ้าง รวมถึงการทำตลาดทางโทรศัพท์ (Telemarketing)

โดยปัจจุบันบริษัทเป็นผู้ให้บริการศูนย์ข้อมูลลูกค้าแก่บริษัทในกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพียงรายเดียวโดยได้รับค่าตอบแทนตามผลสำเร็จของงานตามที่ตกลงกับผู้ว่าจ้าง ทว่าในอนาคตบริษัทจะขยายฐานลูกค้าเข้าไปในกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น ธนาคาร , ลิสซิ่ง ,ประกันชีวิต ,ประกันรถยนต์ เป็นต้น

'ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ธุรกิจ Call center ยังน้อยแค่ 2-3% เท่านั้น แต่ในปีนี้เราตั้งเป้าสัดส่วนรายได้เพิ่มเป็น 5% หลังจากเรามุ่งเน้นขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ เข้ามา' 

ทั้งนี้ บริษัทสามารถแบ่งการให้บริการออกเป็น 2 ประเภท ประกอบด้วย 1.การติดต่อลูกค้าของผู้ว่าจ้างเพื่อให้ข้อมูลสินค้าหรือบริการของผู้ว่าจ้าง (Outbound) บริษัทจะรับหน้าที่ในการติดต่อลูกค้าผ่านทางโทรศัพท์เพื่อแจ้งข้อมูลผลิตภัณฑ์สินค้าหรือบริการ รวมไปถึงการแจ้งข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่ผู้ว่าจ้างต้องการให้แก่ลูกค้าของผู้ว่าจ้างพิจารณาเลือกใช้หรือเลือกซื้อ

และ 2.การรับสายโทรศัพท์ลูกค้าของผู้ว่าจ้างที่ติดต่อเข้ามา (Inbound) บริษัทจะทำหน้าที่รับสายโทรศัพท์ซึ่งติดต่อโดยลูกค้าของผู้ว่าจ้างเพื่อสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และ/หรือบริการของผู้ว่าจ้างเพื่อให้ลูกค้าของผู้ว่าจ้างเลือกใช้หรือเลือกซื้อ

'ในปี 2563 เราจะเน้นขยายฐานลูกค้าในธุรกิจ Call center และ เร่งรัดหนี้ แม้ในปัจจุบันบริษัททำธุรกิจทั้ง 2 ส่วนนี้อยู่แล้ว แต่คิดเป็นสัดส่วนรายได้ไม่มาก ซึ่งในอนาคตบริษัทจะเน้นขยายฐานลูกค้าเข้าใปในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น ลิสซิ่ง ,นอนแบงก์ , รถยนต์ เป็นต้น' 

สำหรับทิศทางการดำเนินงานในปี 2561 บริษัทคาดว่าจะเติบโตเพิ่มมากขึ้นจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากการลงทุนประมูลซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหารจัดการเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ตั้งเป้ารายได้เติบโตเฉลี่ยทุกปี 15-20%

โดยตั้งเป้างบลงทุนสำหรับปีนี้ ไว้ที่ 600 ล้านบาท เพื่อเข้าประมูลซื้อหนี้เพิ่มเติม เบื้องต้น คาดว่าจะได้หนี้เข้ามาบริหารเพิ่มอีกประมาณ 6,000 ล้านบาท จากเมื่อ ณ สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. ที่ผ่านมา มีพอร์ตบริหารหนี้สะสมอยู่ที่ประมาณ 26,000 ล้านบาท

สุดท้าย 'สุขสันต์' ฝากทิ้งท้ายว่า เรามีความมุ่งมั่นที่จะทำให้ธุรกิจมีการเติบโต สะท้อนไปที่ผลประกอบการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และมุ่งมั่นที่จะนำพาบริษัทให้มีความเจริญก้าวหน้าต่อไป เพื่อสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนให้เกิดขึ้นกับบริษัทฯ และสร้างผลตอบแทนสูงสุดให้กับผู้ถือหุ้นทุกท่าน