สั่งปรับ 'ผอ.เขตประเวศ' อุทาหรณ์ จนท.รัฐห้ามละเลยคำสั่งศาล

สั่งปรับ 'ผอ.เขตประเวศ' อุทาหรณ์ จนท.รัฐห้ามละเลยคำสั่งศาล

"ทีมโฆษกศาล ปค." แจงสั่งปรับ ผอ.เขตประเวศ คดีคุมตลาดป้าทุบรถ อุทาหรณ์จนท.รัฐห้ามละเลยคำสั่งศาล / คดี "ยิ่งลักษณ์-บุญทรง" ร้องค้านชดใช้หมื่นล้าน ยังไม่คืบ

เมื่อวันที่ 8 มี.ค.61 ที่ศาลปกครองกลาง ถ.แจ้งวัฒนะ ภายหลังการแถลงผลงานบนิหารคดี ครบรอบ 17 ปี นายประวิตร บุญเทียม โฆษกศาลปกครอง พร้อมด้วย นายวชิระ ชอบแต่ง รองโฆษกฯ และทีมรองโฆษกอีก 5 คน ร่วมตอบข้อซักถามการบังคับคดีตามคำสั่งศาลปกครอง แผนกคดีสิ่งแวดล้อม ที่มีคำสั่งเตือนผู้ว่าฯ กทม. และสั่งปรับ ผอ.เขตประเวศ 5,000 บาท ฐานละเลยการปฏิบัติตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวปี 2556 ในคดีที่ น.ส.บุญศรี แสงหยกตระการ กับพวก ซึ่งอาศัยในหมู่บ้านเสรีวิลล่า ไม่ให้ได้รับความเดือดร้อน จากการจัดตั้งตลาดนัดรอบบริเวณก่อนมีความพิพากษาว่า กรณีนี้สำนักงานบังคับคดีปกครอง ของสำนักงานศาลปกครอง ได้ติดตามการบังคับคดีปฏิบัติตามคำสั่งศาล ที่กฎหมายใหม่ซึ่งบังคับใช้ในปี 2559 ให้อำนาจศาลในการสั่งลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ตั้งแต่การสั่งปรับ ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้สูงสุด 50,000 บาท ไปจนถึงการรายงานให้ผู้บังคับบัญชาลงโทษทางวินัย หรือให้พ้นจากตำแหน่งได้กรณีที่เป็นผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

สำหรับกรณีเมื่อวันที่ 7 มี.ค.61 ศาลได้สั่งปรับ ผอ.เขตประเวศ ที่ละเลยทำตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ครบถ้วน โดยการปรับเงินก็เป็นการบังคับเอากับทรัพย์สินส่วนตัวของ ผอ.เขตประเวศ คนปัจจุบัน ซึ่งแม้จะมาเพิ่งรับตำแหน่งก็เอามาเป็นเหตุอ้างไม่รับผิดชอบไม่ได้ แม้คดีปกครองเป็นการฟ้องโดยตำแหน่งแต่เมื่อมารับหน้าที่ใหม่ก็ต้องรับผิดชอบและติดตามงานคงค้างทั้งหมด หากมีส่วนใดยังไม่ปฏิบัติตามกฎหมายก็รีบดำเนินการ คดีนี้ถือเป็นอุทาหรณ์ที่ดีและถือเป็นคดีแรกของการใช้กฎหมายใหม่ติดตามการบังคับคดีโดยศาลมีคำสั่งลงโทษเจ้าหน้าที่ถึงขึ้นปรับ ซึ่งหากยังพบว่าไม่มีการปฏิบัติตามคำสั่งศาลอีกก็สามารถสั่งปรับได้อีกโดยเพิ่มจำนวนเงินได้ตามเรทสูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท และอาจรายงานผู้บังคับบัญชาให้ลงโทษทางวินัยได้อีก ส่วนกรณีที่ลงโทษ ผู้ว่าฯกทม. กับ ผอ.เขตประเวศ ไม่เท่ากัน โดยแค่ตักเตือนผู้ว่าฯกทม.แต่ไม่สั่งปรับนั้น ศาลก็ได้ดูตามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับหน้าที่ของแต่ละคนว่า ได้ปฏิบัติไปอย่างไรบ้างตามอำนาจ

ทั้งนี้ ศาลก็เชื่อว่า บทลงโทษจากการละเลยปฏิบัติตามคำสั่งบังคับคดี ที่ศาลมีอำนาจตามกฎหมายใหม่ จะทำให้ผู้ที่มีหน้าที่เกิดความเกรงกลัว และปฏิบัติตามที่ศาลมีคำสั่ง รวมถึงจะเป็นผลดีต่อการบริหารราชการอย่างเดียว เพราะจะทำให้การบังคับคดีมีความเข้มข้นมากขึ้น โดยในส่วนของเงินค่าปรับนั้น สุดท้ายแล้วจะนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินด้วย

สำหรับคดี การรื้อถอนอาคารสูง ดิเอทัส ซ.ราวมฤดี ซึ่งศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วก่อนปี 2559 ที่ยังมีปัญหาการบังคับคดีนั้น ทีมโฆษกศาลปกครอง กล่าวชี้แจงว่า ล่าสุดในการติดตามผลการบังคับคดี กทม.อยู่ระหว่างการทำทีโออาร์ (TOR) หาผู้รับเหมามาทำการรื้อถอนอาคารดังกล่าว โดยกำหนดจะรื้อถอนให้แล้วเสร็จภายใน 365 วันนับแต่วันที่ 20 มิ.ย.60 ซึ่งกรณีนี้ศาลก็เคยมีคำสั่งเตือน ผู้ว่าฯ กทม.และผอ.เขตปทุมวัน และลงโทษปรับเช่นกัน จนมีการแจ้งความคืบหน้าในช่วงปี 2559 ว่ามีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาราคารื้อถอนและและวางแผน ศาลจึงยกเลิกคำสั่งปรับไป

จากตัวอย่างทั้งสองคดีที่กล่าวมาทำให้เห็นว่า อำนาจตามกฎหมายใหม่ถือเป็นดาบเดียวที่ศาลมีอยู่ในมือสำหรับการบังคับคดี ซึ่งศาลจะพยายามใช้ให้เข้มข้นมากขึ้น ส่วนการเยียวยาผู้อาศัยอยู่ในอาคารดังกล่าว เป็นเรื่องที่ผู้พักอาศัยในอาคารต้องไปฟ้องเรียกค่าเสียหายจากเจ้าของอาคาร

เมื่อถามถึงความคืบหน้าการพิจารณาคดีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ กับพวกจำเลยคดีจำนำข้าวและระบายข้าวจีทูจี ฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่ง ก.คลัง และ ก.พาณิชย์ ที่ให้ชดใช้ค่าเสียหายนับหมื่นล้านบาท

นางมาเรียม วิมลทอง รองโฆษกศาลปกครอง กล่าวว่า ในส่วนคดีหลักทั้งของน.ส.ยิ่งลักษณ์ และนายบุญทรงกับพวก ยังอยู่ในชั้นการแสวงหาข้อเท็จริง ที่ให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายทำคำให้การและข้อโต้แย้ง ยังไม่สามารถที่จะระบุระยะเวลาว่าคดีทั้งสองคดีจะสามารถวินิจฉัยได้เมื่อใด เพราะในคดีปกครอง ศาลจะให้โอกาสผู้พิพาททั้งสองฝ่ายแสดงพยานหลักฐานอย่างเต็มที่ แต่จะพยายามดูไม่ให้คู่ความนำเรื่องการขอขยายเวลาส่งเอกสารหลักฐานมาเป็นเหตุประวิงคดี ซึ่งศาลจะพยายามพิจารณาคดีให้เสร็จโดยไม่รอผลผลคำพิพากษาในคดีอาญาถึงที่สุดก่อน