ศาลปกครองเพิกถอนมติมธ.ไม่ว่าจ้าง 'ครูเคท' เป็นอาจารย์

ศาลปกครองเพิกถอนมติมธ.ไม่ว่าจ้าง 'ครูเคท' เป็นอาจารย์

ศาลปกครองตัดสินเพิกถอนคำสั่งกรรมการ ม.ธรรมศาสตร์ ไม่ว่าจ้าง "ครูเคท" เป็นพนักงานมหาวิทยาลัย

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2561 ศาลปกครองกลาง อ่านคำพิพากษา ในคดีหมายเลขดำที่ บ. 447/2558 ระหว่าง นายเคท หรือคทาวุธ ครั้งพิบูลย์ ผู้ผ่านการคัดเลือกเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ตำแหน่งอาจารย์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยื่นฟ้องมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-2

คำฟ้องระบุว่า ผู้ฟ้องคดีสมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ ตำแหน่งอาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ สังกัดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้ผ่านการคัดเลือกแล้ว แต่คณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีมติไม่ว่าจ้างให้ผู้ฟ้องคดีเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย เนื่องจากเห็นว่าผู้ฟ้องคดีมีพฤติกรรมการแสดงออกด้วยการใช้ถ้อยคำผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในลักษณะที่ไม่เหมาะสม และอาจมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย

นายคทาวุธ ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสืออุทธรณ์ต่อคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ถูกฟ้องคดีที่2 โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 พิจารณาหนังสือแล้วมีมติยืนยันตามมติเดิม ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นฟ้องต่อศาล

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่ผู้ฟ้องคดีสื่อสารทางสังคมออนไลน์เป็นวิธีสื่อสารถึงกัน อันเป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามมาตรา4 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ที่ใช้บังคับในขณะเกิดข้อพิพาทรับรองสิทธินี้ไว้ แต่สิทธิเสรีภาพในการสื่อสารทางสังคมออนไลน์ของผู้ฟ้องคดีจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายและระเบียบข้อบังคับของทางราชการ หากผู้ฟ้องคดีมีการสื่อสารทางสังคมออนไลน์โดยไม่ได้อยู่ภายใต้ขอบเขตกฎหมาย และระเบียบข้อบังคับของทางราชการ ผู้ฟ้องคดีย่อมไม่ได้รับการคุ้มครองตามที่รัฐธรรมนูญรับรองสิทธิและเสรีภาพไว้

ศาลได้พิจารณามติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 แล้วเห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีมติไม่ว่าจ้างผู้ฟ้องคดีเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยไม่ได้เกี่ยวกับเพศสภาพ หากแต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้นำพฤติการณ์หรือการกระทำของผู้ฟ้องคดีที่ได้สื่อสารทางสังคมออนไลน์มาใช้อ้างในการมีมติไม่ว่าจ้างผู้ฟ้องคดีเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย แต่เมื่อศาลได้พิจารณาพฤติการณ์หรือการกระทำของผู้ฟ้องคดีที่ได้สื่อสารทางสังคมออนไลน์ ได้แก่ เฟซบุ๊ก (Facebook) จำนวน 4 ข้อความ และอินสตาแกรม (Instagram) จำนวน 2ข้อความ พร้อมภาพประกอบแล้วเห็นว่าการใช้ถ้อยคำของผู้ฟ้องคดีและภาพที่ได้เผยแพร่ในเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมอาจจะมีการใช้ถ้อยคำไม่สุภาพและภาพไม่เหมาะสมอยู่บ้างบางคำบางภาพ แต่ยังไม่ถึงขนาดที่จะถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีมีลักษณะต้องห้ามอันเนื่องจากเป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดี ตามมาตรา 7(ข) (4) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2547

การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีมติไม่ว่าจ้างผู้ฟ้องคดีเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ตำแหน่งอาจารย์ จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงพิพากษาเพิกถอนมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ไม่ว่าจ้างผู้ฟ้องคดีเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ ตำแหน่งอาจารย์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ โดยให้มีผลนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด และมีข้อสังเกตและแนวทางเกี่ยวกับการปฏิบัติให้เป็นไปตามคำพิพากษาว่า ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่2ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เรียกให้ผู้ฟ้องคดีไปทำสัญญาจ้างเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ ตำแหน่งอาจารย์ตามที่สอบคัดเลือกได้ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด