ชมผลงานหายากชั้นครู อันเป็นขุมทรัพย์แห่งภูมิปัญญาเชิงช่างจากทั่วประเทศ

ชมผลงานหายากชั้นครู อันเป็นขุมทรัพย์แห่งภูมิปัญญาเชิงช่างจากทั่วประเทศ

ปีนี้ งาน "อัตลักษณ์แห่งสยาม" จัดอย่างยิ่งใหญ่ ภายใต้แนวคิด Thai Wisdom, True Treasure ซึ่งพิเศษและยิ่งใหญ่กว่าทุกครั้ง...

        ช่วงต้นเดือนมีนาคม ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์กรมหาชน) หรือ SACICTจัดงาน อัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 9 ให้คนรักงานศิลปะร่วมชื่นชมงานหัตถศิลป์สุดอลังการตระการตา และร่วมเชิดชูเกียรติ “ครูศิลป์ของแผ่นดิน” ประจำปี 2561 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

          ในงานนี้ประชาชนคนรักงานศิลป์ ได้สัมผัสและพูดคุยกับ “ครูช่าง” แขนงต่าง ๆ ที่นำผลงานมาจัดแสดง พร้อมบอกเล่าถึงกระบวนการผลิตงานอย่างใกล้ชิด และเลือกซื้อผลงานต่าง ๆ อีกทั้งชมเวิร์คช็อปและสาธิตทำผลงานต่าง ๆ อยากเรียนรู้ อยากศึกษาต่อยอด หรือสร้างแรงบันดาลใจได้ตลอดระยะเวลาการจัดงาน

          นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ บอกว่า งานอัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 9 จัดอย่างยิ่งใหญ่ ภายใต้แนวคิด “ขุมทรัพย์แห่งปัญญา” ที่นำสุดยอดงานหัตถศิลป์ไทยจากฝีมือครูศิลป์ฯ ครูช่างฯ และทายาทฯ ระดับประเทศ หาชมได้ยากกว่า 150 ราย มาจัดแสดงและจำหน่าย ซึ่งปีนี้มีพื้นที่ที่เพิ่มขึ้น และจำนวนผู้เข้าร่วมจัดแสดงผลงานมากกว่าปีที่ผ่านมา 3 เท่า จึงถือเป็นงานใหญ่ที่รวบรวมองค์ความรู้ อนุรักษ์  และสืบสานคุณค่าแห่งงานหัตถศิลป์ไทยที่หาชมยาก

          โดยการจัดแสดงผลงานแบ่งออกเป็น 3 โซนหลัก ได้แก่

          โซนที่ 1. “จากเวหาจรดบาดาล” (The Master Gallery) จัดนิทรรศการ แสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ประจำปี 2561 รวม 25 ราย

          โซนที่ 2 “หัตถกรรม...หัดทำมือ” (The Artisan’s Workshop) กิจกรรมเวิร์คชอปต่าง ๆ อาทิ หน้ากากผีตาโขน, ลูกปัดมโนราห์, จักสานป่านศรนารายณ์ เป็นต้น

          โซนที่ 3 “ตลาดหัตถศิลป์” (The Craftsman Collections) เป็นส่วนจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ศิลปหัตถกรรมของครูช่างในสาขาต่าง ๆ กว่า 150 คูหา แบ่งเป็น 4 โซนจำหน่าย ประกอบด้วย โซน “เริงลม หรรษา” (ประเภทการละเล่น หนังตะลง เครื่องดนตรี) โซน “ภูษา ธารา (ประเภทงานผ้า) และโซน “แผ่นดินทอง” (ประเภทหัตถศิลป์ชั้นสูง เครื่องทอง เครื่องเงิน) และโซน “เพลินไพร” (ประกอบด้วยงานไม้ หวาย จักสาน)

ผู้อำนวยการ SACICT...

นิทรรศการมรดกศิลป์          

         ใครได้ไปชมงานจะพบว่าแต่ละโซนมีไฮไลท์เด่น แต่ละผลงานน่าสนใจทั้งสิ้น เช่นผลงานครูช่างที่หาชมยาก ได้แก่ งานหัตถกรรมโคมล้านนา ของ แม่ครูบัวไหล คณะปัญญา แห่งบ้านเมืองสารต อายุ 88 ปี จ.เชียงใหม่ (ได้รับรางวัล “ครูศิลป์แห่งแผ่นดิน ประจำปี 2561) ผู้ริเริ่มงานหัตถกรรมทำ โคมล้านนา โดยประดิษฐ์ขึ้นจากวัสดุพื้นบ้าน เช่น ไม้ไผ่ กระดาษสา ผ้าดิบ ฯ ผู้สั่งสมภูมิปัญญาและประสบการณ์การทำโคมล้านนามากว่า 72 ปี ด้วยกรรไกรเพียงด้ามเดียวตัดกระดาษเป็นลวดลายที่ละเอียดและคมชัด

จ้องแดงโบราณ-ผลงานนายวิเชิญ แก้วเอี่ยม ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2561

          งานหัตถกรรมจ้องแดงโบราณ ของ ครูวิเชิญ แก้วเอี่ยม อายุ 64 ปี จ.เชียงใหม่ (ได้รับรางวัล “ครูศิลป์แห่งแผ่นดิน” ปี 2561) “จ้องแดง” คือร่มโบราณ หนึ่งในภูมิปัญญาบรรพบุรุษที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน ในปัจจุบันใกล้สูญหาย เหลืออยู่เพียงบ้านเดียวที่ยังงอนุรักษ์การทำจ้องแดง

หุ่นกระบอกไทย-ผลงานนายนิเวศ แววสมณะ ครูช่างศิลปหัตกรรม  ปี 2561

  หุ่นกระบอกไทย นายนิเวศ        

         คนรุ่นใหม่อายุน้อยที่ได้รางวัล “ครูช่างศิลปหัตถกรรม” ประจำปี 2561 ครูนิเวศ แววสมณะ อายุ 46 ปี จากกรุงเทพฯ ที่ใคร ๆ ก็แวะเวียนไปชมผลงาน “งานหัตถกรรมหุ่นกระบอกไทย” ที่สวยงาม อ่อนช้อย จากทักษะในการสร้างและศิลปะการแสดงเชิดหุ่นกระบอกไทยมากว่า 21 ปี เป็นงานที่ทำด้วยมือทั้งหมด

นายวิทวัส  โสภารักษ์ - ทายาทช่างศิลป์ปี 2561 หัตถกรรมผ้าไหมแพรวาre

          นายวิทวัส โสภารักษ์ อายุ 29 ปี จ.กาฬสินธุ์ เป็นคนรุ่นใหม่อายุน้อยที่ได้รับรางวัล “ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม” ประจำปี 2561 ประเภทเครื่องทอ งานหัตถกรรมผ้าไหมแพรวา ผลงานเด่นคือสร้างสรรค์ผ้าไหมแพรวาย้อมสีธรรมชาติ และลวดลายแบบดั้งเดิมที่ใกล้สูญหาย

แหวนกลไก-ผลงานนายชูเกียรติ เนียมทอง-ทายาทช่างศิลป์ฯ ปั 2561re

          นายชูเกียรติ เนียมทอง อายุ 41 ปี จ.จันทบุรี (ได้รับรางวัล “ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม” 2561)  ประเภทเครื่องโลหะ งานหัตถกรรมเครื่องเงิน เครื่องทอง ซึ่งสืบทอดเทคนิคการทำ “แหวนกลไกและเครื่องทอง” มาเป็นเวลา 30 ปี ด้วยความหลงใหลในกลไกเทคนิคการประกอบแหวนกล ที่สามารถถอดและประกอบใหม่ได้ ซึ่งได้รับถ่ายทอดสืบทอดเฉพาะในครอบครัวช่างทอง

ครูสรพล ถีระวงษ์ -ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ประจำปี 2560- ด้านพัสตราภรณ์rere

   20180222161847464re       

          นายสรพล ถีระวงษ์ จ.นนทบุรี (ได้รับรางวัล “ทายาทฯ” ปี 2560) ประเภทพัสตราภรณ์โบราณ โดยใช้เทคนิคการปักแบบโบราณทุกขั้นตอน เน้นเลียนแบบให้เหมือนของดั้งเดิมมากที่สุด แล้วผสมผสานเทคนิคการปักที่ได้จากการเรียนรู้ นำมาปรับประยุกต์เป็นเทคนิคเฉพาะของตัวเอง

เครื่องประดับโบราณ1re

          นายบุญชัย แก่บ้าน จ.นครปฐม (ได้รับรางวัล “ทายาทฯ” ปี 2560) ประเภทเครื่องประดับโบราณ โดยอนุรักษ์กระบวนการทำงานเครื่องประดับแบบโบราณทั้งรูปแบบและสีสัน ทุกขั้นตอนทำด้วยมือ ทั้งการขึ้นรูป การดัด และการทำลวดลายด้วยการสลักดุนด้วยอุปกรณ์ของช่างโบราณ และนำลายกราฟฟิกมาผสมผสานกับลายไทยทำให้ดูร่วมสมัยขึ้น

เครื่องประดับโบราณ2re

          แต่ละโซนมีไฮไลท์มากมาย โดดเด่น และควรค่าแห่งการสืบสาน และต่อยอดออกเป็นธุรกิจให้เป็นงานศิลป์ที่มีคุณค่าและมีมูลค่า ตามนโยบายเพื่อการพัฒนาประเทศสู่ยุคการตลาด 4.0 เช่น ผลงาน ผ้าปะลางิง ของ ครูปิยะ สุวรรณพงษ์ จ.ยะลา ในงาน “อัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 9” ครูปิยะ นำผ้าปะลางิงมาจัดแสดงพร้อมจำหน่าย ผืนผ้าที่เต็มไปด้วยสีสันและลวดลายบ่งบอกเอกลักษณ์งานศิลป์จากภาคใต้ ครูปิยะใช้เวลาศึกษา พลิกฟื้นอยู่กว่า 6 ปี จากที่เกือบสูญหายไป โดยศึกษาจากหนังสือโบราณของกรมศิลปากร จากแม่พิมพ์โบราณ รวมถึงภาพจิตรกรรมตามฝาผนังในวัด การเริ่มใส่ผ้าลายเมื่อไหร่ ปีไหน วิธีการนุ่ง ฯลฯ

  ผ้าปะลางิง3re         

        “สมัยก่อนภาคใต้มีการปลูกเลี้ยงไหม มีกรมหม่อนไหมที่สุราษฏร์ฯ แต่เนื่องจากสภาพภูมิอากาศไม่อำนวย การทำผ้าไหมเลยขาดหายไป เมืองยะลาเป็นเมืองสุดท้ายที่สูญหายไปจากในสามเมือง ปัตตานี นราธิวาส ยังมีการทออยู่ หรือสงขลาก็มีผ้าทอเกาะยก แต่ยะลาเป็นจังหวัดเดียวที่อยู่ในกลุ่มงานทอผ้าแต่หายไปเลย” ครูปิยะเล่า

          “ผ้าปะลางิง มีหลักฐานการพบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2472 ในขบวนรับเสด็จสมเด็จพระปกเกล้าฯ เมื่อครั้งเสด็จประพาสมณฑลปัตตานี พบว่าผู้ที่ร่วมในขบวนเสด็จแต่งกายด้วยผ้าปะลางิงและผ้าจวน

          ปะลางิง มาจากภาษายาวี “ป๊ะ” แปลว่า 4 คือการทอผ้ายกดอก 4 ตะกรอ แล้วนำมาพิมพ์ลายด้วยแม่พิมพ์ไม้ สมัยก่อนกลุ่มที่ทำแม่พิมพ์ไม้คือตระกูลช่างทำกริช โบราณของยะลา จากนั้นมาลงสี ความสำคัญของผ้าปะลางิงคือ เป็นผ้าของชุมชน แต่ละชุมชนก็ทำของเขาแล้วนำมาร่วมกัน เช่นกลุ่มที่ทอผ้า พอทอเสร็จต้องไปหากลุ่มที่แกะลายผ้า หรือแกะลายแม่พิมพ์สำหรับการพิมพ์ และนำมาย้อมรวมกัน เป็นงานที่คนในชุมชนร่วมกันทำ”

          ผ้าปะลางิงมีแบบผ้าฝ้ายทั้งผืน ผ้าไหมทั้งผืน และฝ้ายแกมไหม

         “เริ่มต้นด้วยการทอผืนผ้าสีขาวจากผ้าไหมหรือฝ้าย หรือทั้งสองอย่าง ผืนที่เห็นมีความแวววาวคือผสมไหม ตัวลวดลายบนผ้าเป็นการเล่าเรื่องจากวัฒนธรรมมา เช่น ลายช่องลมบ้านโบราณ ซึ่งเราถอดแบบมาทอลงบนตัวเนื้อผ้า ผืนผ้าแต่ละผืนแสดงความหลากหลายของวัฒนธรรม เช่น ตัวลายด้านล่างที่เป็นลายกราฟฟิกมาจากผ้าจวนปัตตานี ฉะนั้นผ้าผืนนี้รวมเทคนิคหลากสีเข้าไปปอยู่ในตัวผ้า 1 ผืน เฉพาะเทคนิคการทำเทียน การเพ้นท์ การพิมพ์ แค่นี้ก็ 8 สีแล้ว ยังมีเทคนิคการมัดย้อมแต่ละตัว เมื่อมัดย้อมและเขียน ความหลากหลายของสีจะเยอะมาก การวางคู่สีก็สำคัญ  เป็นผ้า 1 ผืน ที่มีหลายเทคนิค หลายวัฒนธรรมในตัวเดียวกัน”

         ครูปิยะ เล่าต่อว่า

         “คนรุ่นโบราณก็ทำแบบนี้ แต่ใช้เทคนิคมัดย้อมและการทำเทียนเป็นตัวนำ การปิดลายเทียนเป็นรอง แต่ผมใช้เทคนิคการพิมพ์เป็นตัวนำ แต่เท่ากับว่าเทคนิคโบราณอยู่ครบ เพียงแต่เปลี่ยนอัตลักษณ์เพื่อสร้างเอกลักษณ์ใหม่ขึ้นมา

         ผ้าปะลางิง เป็นผ้าที่สะท้อนถึงชุมชนที่อยู่ในโซน 3 จังหวัดภาคใต้ รวมถึงบางพื้นที่ในมาเลเซียด้วย แต่จะเสียงเพี้ยนเป็น “เปลังงิง” และสีสันเขาจะไม่เหมือนเรา ของเราสวยกว่ามาก แต่ละชิ้นมีความต่างกัน เป็นลายละหนึ่งผืน ๆ ไม่มีความซ้ำกันเลย แฮนด์เมดทั้งหมด”

        กว่าจะได้ผ้า 1 ผืน ผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน ตั้งแต่ทอผ้าเป็นผืนสีขาว-มัดย้อมเป็นสี ๆ ตามดอก ตามเชิง-เก็บตัวสีมัดย้อมด้วยการเขียนมือด้วยปากกาจันติ้ง-ปิดเทียนเก็บไว้-ลงสีพื้นใหม่อีกรอบ-การพิมพ์ลาย-การเพ้นท์ด้วยการลงสีชั้นแรก ชั้นที่สอง-การเคลือบกันสีตก”

          วันนี้ ผ้าปะลางิงพลิกฟื้นคืนสู่วิถีชุมชน มีลูกศิษย์คนรุ่นใหม่ต่อยอดไปสู่งานผ้าพื้นถิ่นที่ขายได้ (มีจำหน่ายที่คิง เพาเวอร์ และในรีสอร์ทต่าง ๆ)

          “ราคาเริ่มต้น ผ้าฝ้ายคลุมไหล่ 1,500 บาท ผ้าไหมเริ่มต้นที่ 2 พัน ผ้าซิ่นโบราณ 15,000 บาท ถ้าเทคนิคน้อยหน่อยเริ่มที่ 4,500 บาท การดูแลรักษาปกติ จุดประสงค์ที่รื้อฟื้นผ้าปะลางิงคือ ต้องการให้ผ้าอยู่ในวิถีชุมชนต่อไป ถ้าเราไม่ถ่ายทอดต่อคงสูญหายแน่ เพราะเทคนิคเยอะ ทำยาก และตอนนี้กลายเป็นผ้าที่นักสะสมต้องการ ด้วยลวดลายและสีสันที่โดดเด่นแบบชาวใต้

          งานศิลป์ของคนใต้มีสีสันเยอะ ตั้งแต่อาหารสีสดจัด รสเผ็ดร้อน เหมือนกับสภาพภูมิอากาศ ฝน ทะเล ความร้อน ลวดลายก็จะเป็นอย่างนั้น หนังตะลุง เรือกอและก็ลายทั้งลำ มโนราห์ เครื่องทรงคือลวดลายทั้งนั้นเลย สะท้อนวัฒนธรรม ชีวิตของผู้คน ผิวคล้ำแต่ชอบสีสด ลายเยอะ เป็นภาพสะท้อนของวิถีชุมชน”

          อีกทั้งลวดลายที่สะท้อนงานสถาปัตยกรรมท้องถิ่น เช่น ลายจวนตานี ลายกระเบื้องโบราณ ลายลูกกรงบันได ลายช่องลมหน้าต่าง ลายหัวเข็มขัดโบราณ ลายดอกดองดึงส์ ดอกพุดตาน การเล่นว่าว ลวดลายของงานแกะไม้ชุมชนทำด้ามกริช ฯลฯ

  ผ้าปะลางิง1         

         “สมัยก่อนผู้ชายคนพุทธก็นุ่งนะครับ นุ่งเหมือนชาวมุสลิม ใส่กับเสื้อพื้นรัดรูปคอปีน แล้วใช้ผ้าปะลางิงคาดเอวเหน็บด้วยกริชรามัญ งานประดับหัวกริชก็บ่งบอกฐานะ เช่น ทำรูปหัวนก หุ้มเงินหุ้มทอง ด้ามตกแต่งพลอย 7 สี...”

          แดดแรง ฟ้าแจ้ง ทะเลสีสด สะท้อนสู่งานศิลป์ บ่งบอกเอกลักษณ์แห่งดินแดนด้ามขวาน แสดงอัตลักษณ์แห่งสยาม...อย่างน่าภาคภูมิ