เปิดโฉม 12 เมนูใหม่ เกรฮาวด์ คาเฟ่ ลอนดอน

เปิดโฉม 12 เมนูใหม่ เกรฮาวด์ คาเฟ่ ลอนดอน

สามผู้บริหาร 'เกรฮาวด์ คาเฟ่' เปิดใจ เบื้องหลังกว่าจะเป็น Greyhound Cafe London เรื่องเล็กๆ (แต่ไม่เล็ก) ที่ต้องเรียนรู้มากมาย นำเสนอแนวคิดอาหารไทยแบบ The way Bangkok eats. สู่ลอนดอน

ใช้เวลากว่า 20 ปี ในที่สุด เกรฮาวด์ คาเฟ่ (Greyhound Cafe) ร้านอาหารไทยในสไตล์แฟชั่นคาเฟ่สุดอินเทรนด์โดยฝีมือคนไทยก็สามารถ ‘ปักธง’ บุกตลาดยุโรป เปิดสาขาแรกในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นผลสำเร็จ โดยไม่ผ่านระบบแฟรนไชส์ซี(Franchisee) แต่เป็นการลงทุนเองทั้งหมดกว่า 150 ล้านบาท ตั้งชื่อร้านอาหารแห่งนี้ว่า

เกรฮาวด์ คาเฟ่ ลอนดอน (Greyhound Cafe London)

"ช่วงแปดปีที่ผ่านมา เราเริ่มมีสาขาต่างประเทศแห่งแรกคือฮ่องกง ในระบบแฟรนไชส์ซี ตามมาด้วยปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กัวลาลัมเปอร์ สิงคโปร์ จาการ์ตา ขณะนี้สาขาโดยรวมในต่างประเทศเรามี 18 สาขา รวมสาขาลอนดอน โดย 17 สาขาเป็นระบบแฟรนไชส์ซี แต่สาขาที่ลอนดอนเป็นการลงทุนของเราเองทั้งหมด" พรศิริ โรจน์เมธา กรรมการผู้จัดการ บริษัทเกรฮาวด์ คาเฟ่ จำกัด ให้สัมภาษณ์กับ @taste

คุณพรศิริกล่าวด้วยว่า แนวคิดในการเปิดสาขายุโรปเริ่มขึ้นเมื่อสอง-สามปีที่ผ่านมาหลังจากเกรฮาวด์ทั้งหมดเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ บริษัทมัดแมน จำกัด (มหาชน) มองเห็นโอกาสของ ‘เกรฮาวด์’ ซึ่งเป็นแบรนด์ไลฟ์สไตล์ที่มีความแข็งแกร่งในภูมิภาคนี้ ถึงเวลาออกไปนอกเอเชีย โดยมีความเห็นตรงกันว่าภูมิภาคนั้นควรเป็น ‘ยุโรป’ และมหานคร ‘ลอนดอน’ ควรเป็นเมืองแรกในเชิงกลยุทธ์

"ลอนดอนเป็นเมืองใหญ่ เป็นเมืองระดับโลก(global city) เป็นเมืองของไลฟ์สไตล์ อาหารการกิน วัฒนธรรม การไปปักธงตรงนี้ได้เป็นสิ่งที่มีความหมายมากให้กับแบรนด์ ทำให้ตัวตน(statement)เราแข็งแรง ถูกต้อง และมีโอกาสขยับขยายต่อไปในอนาคต" พรศิริ กล่าว

แต่การนำร้านอาหารแปลกหน้าไป ‘ปักธง’ ในลอนดอนไม่ใช่เรื่องง่าย

20180206163319738 ณัฐพร รุ่งขจรกลิ่น, พรศิริ โรจน์เมธา, ภาณุ อิงคะวัต ให้สัมภาษณ์ที่ร้านเกรฮาวด์ คาเฟ่ ศูนย์การค้า ดิ เอ็มควอเทียร์

:: หาทำเลเปิดร้าน 18 เดือน ::

ใครไปเที่ยวลอนดอน เห็นร้านอาหารมากมายเปิดบริการ คงคิดว่าไม่มีอะไรมาก แต่เบื้องหลังเต็มไปด้วยกฎระเบียบ-กฎหมายที่ต้องศึกษาและปฏิบัติตามมากมาย ต้องทำความเข้าใจตลาดใหม่หมด ต้องจ้าง ‘บริษัทวิจัยตลาดในลอนดอน' ช่วยหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจและการดำเนินงาน

"เราเดินหาทำเลประมาณปีกว่า การได้ที่เปิดร้าน...ไม่ใช่กำเงินแล้วได้หมด เพราะต้องประมูลแข่งกับเจ้าอื่น เวลาประมูล เขาไม่ได้ดูแค่คุณกำเงินมาอย่างเดียว เขาดูด้วยว่าคุณเป็นใครมาจากไหน มีประสบการณ์หรือเปล่า มีเครดิตอยู่ในเมืองอะไรบ้าง ยังพูดกับทีมตอนไปใหม่ๆ เราเหมือนเป็น ‘new kid in town’ ในอังกฤษ" พรศิริ กล่าว

หลังจากใช้เวลาควานหาสถานที่ ประมูลได้บ้างไม่ได้บ้าง ในที่สุด เกรฮาวด์ คาเฟ่ ลอนดอน ร้านขนาด 600 ตารางเมตร 192 ที่นั่ง ก็สามารถลงหลักปักฐานได้ที่หัวมุมถนนเบิร์นเนอร์ (Berners Street) ตัดกับถนนมอร์ติเมอร์ (Mortimer Street) ในย่าน ฟิตซ์โรเวีย (Fitzrovia) ย่านแห่งไลฟ์สไตล์สุดฮิปใจกลางลอนดอน อยู่ไม่ไกลจากโซโห พิคคาดิลลี ไชน่าทาวน์ สถานีรถไฟใต้ดินอ็อกซ์ฟอร์ดเซอเคิส เดินได้ถึงกันไม่เกินสิบนาที

Greyhound Cafe London - 6 อีกหนึ่งความเป็นไทยที่นำสู่ลอนดอน 'แผ่นกระเบื้องพยัญชนะ' สัญลักษณ์หนึ่งของ เกรฮาวด์ คาเฟ่ ที่เมืองไทยเป็นพยัญชนะภาษาอังกฤษ แต่ที่ 'เกรฮาวด์ คาเฟ่ ลอนดอน' เปลี่ยนเป็นอักษรไทย

Greyhound Cafe London - 8

Greyhound Cafe London - 1 ภาณุ อิงคะวัต, พรศิริ โรจน์เมธา และร้านเกรฮาวด์ คาเฟ่ ลอนดอน

“เราได้ร้านที่ตรงหัวมุม ด้านหน้ามีเอาท์ดอร์เทอเรซ ตั้งโต๊ะเก้าอี้ได้ แต่ก่อนที่จะเปิดร้าน เราต้องทำแบบสำรวจ(survey)ท้องถิ่นทั้งหมด อนุมัติไหมว่าร้านนี้เขาจะมาขายอาหารไทย ให้คณะกรรมการชุมชน(council)อนุมัติ จะตั้งเก้าอี้ได้กี่ตัว คิดเงินตามจำนวนเก้าอี้ ห้ามเปิดเสียงเพลงดังรบกวนข้างนอก ออกแบบปรับเปลี่ยนพื้นที่ด้านนอกต้องขอเคาน์ซิลทุกอย่าง เนื่องจากย่านฟิตซ์โรเวียตั้งอยู่ในเขตเวสต์มินสเตอร์” ภาณุ อิงคะวัต ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายความคิดสร้างสรรค์ บริษัทเกรฮาวด์ คาเฟ่ จำกัด กล่าวถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้เพิ่มเติมในการทำร้านอาหารที่ประเทศอังกฤษ และให้ภาพทำเลที่ตั้งร้าน ‘เกรฮาวด์ คาเฟ่ ลอนดอน’ เพิ่มเติมว่า อีกไม่กี่ปีรัฐบาลอังกฤษจะห้ามรถวิ่งเข้าถนนอ็อกซ์ฟอร์ด เพื่อทำถนนอ็อกซ์ฟอร์ดให้เป็น ‘วอล์คกิ้ง สตรีท’ รถทุกคันจะถูกบังคับให้ผ่านทางถนนมอร์ติเมอร์ เป็นอีกหนึ่งจุดที่โชคดีของร้าน

หลายคนอาจสงสัย ทำไมไม่เลือกทำเลเปิดร้านบนถนนท่องเที่ยวชื่อดังของลอนดอน

นี่เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่คุณภาณุบอก ว่าคือการได้เรียนรู้แนวคิดใหม่ๆ ที่เป็นตัวตนของเมืองที่ต่างวัฒนธรรม

“ที่กรุงเทพฯ เรารู้จักแต่ละย่านอยู่แล้ว แต่ที่อังกฤษ บริษัทวิจัยที่เราจ้างถามว่า คุณจะเป็นร้านอะไรล่ะ เป็นร้านแบบเก๋หรือเปล่า ต้องไม่อยู่บนถนนใหญ่ ถ้าอยู่บนถนนใหญ่กลายเป็นร้านแมส(mass) อ็อกซ์ฟอร์ดสตรีทที่ทุกคนรู้จัก รีเจนท์สตรีท บอนด์สตรีท อย่าไปอยู่ มันจะเชยทันที มันจะกลายเป็นแมสแบรนด์ คุณต้องไปอยู่ซอยเล็กๆ เพราะคนที่นั่นจะติดตามโซเชียลเน็ทเวิร์ค พวกรีวิวอาหาร เสาะแสวงหา ตอนแรกเราก็อยากไปเปิดย่านโซโหเพราะคนเยอะมาก แต่พอมาเปิดที่นี่(ฟิตซ์โรเวีย) ทุกคนที่มารับประทาน โดยเฉพาะนักข่าวในลอนดอนทุกคนบอกที่ตั้งร้านดีมาก ไม่ไกลจากย่านท่องเที่ยวหลัก”

แต่ละประเทศมีกฎระเบียบต่างกันโดยเฉพาะเรื่อง สุขอนามัยร้านอาหาร แม้กระทั่ง อุณหภูมิน้ำ ที่ใช้ล้างภาชนะ

“ลอนดอนใช้น้ำอุณหภูมิสูงล้างจาน ถ้าเราเอาของที่คุณภาพไม่รองรับเข้าไป ก็จะแตก ภาชนะเกี่ยวกับอาหารทุกอย่างต้องเป็น food grade (ผ่านมาตรฐานรับรองสามารถสัมผัสอาหารได้)” ณัฐพร รุ่งขจรกลิ่น ผู้อำนวยการธุรกิจระหว่างประเทศ บริษัทเกรฮาวด์ คาเฟ่ จำกัด กล่าวและว่า ความสะอาดของร้านอาหารเป็นเรื่องสำคัญมาก ต้องเตรียมการอย่างดี 

"เราต้องมีที่ปรึกษาด้านสุขอนามัย กฎระเบียบของเขาคือ พนักงานทุกคนในร้านต้องทำข้อสอบระดับพื้นฐานสุขอนามัยเบื้องต้นภายในร้าน เป็นการสอบออนไลน์ เป็นกฎหมายของเขา มีเจ้าหน้าที่มาสุ่มตรวจอยู่เรื่อยๆ มาแล้วเจอใคร..ก็ถาม เราต้องจ้างคนไทยหรือคนเอเชียที่มีใบอนุญาตทำงาน(work permit) ถ้าเอาคนไทยที่นี่ไป ต้องสอบเหมือนไปทำงานต่างประเทศ เราต้องเรียนรู้กฎหมายแรงงาน การเปิดบริษัท การเปิดบัญชีธนาคาร กฎระเบียบมีความเข้มงวดสูงขึ้นหลังอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป(Brexit)" ณัฐพร กล่าว

:: ยืนกรานใช้เมนูภาพอาหาร ::

แม้เรียนรู้และยอมรับเรื่องราวใหม่ๆ ต่างความคิดต่างวัฒนธรรม, แต่ก็มีความคิดหลายอย่างที่ ‘เกรฮาวด์ คาเฟ่’ ยืนยันอัตลักษณ์ตนเอง

“เราไม่รู้จักตลาดและคนที่อังกฤษ เราก็จ้างบริษัทวิจัย สไกป์คุยกันทุกเย็น หลายคืนติดกัน แล้วมาสรุปเป็นข้อเรียนรู้ ข้อท้าทาย เราจะเอาชนะตรงนี้ออย่างไร” พรศิริ กล่าว จนมาถึงการทำ สมุดรายชื่อรายการอาหาร ที่บริษัทวิจัยแนะนำว่า อังกฤษไม่ใช้เมนูมีรูปภาพ รายการอาหารเขียนจบในกระดาษหนึ่งแผ่น

"ที่อังกฤษเขาไม่ใช้เมนูมีรูปภาพ ในคอนเซปต์เขา เมนูรูปภาพเป็นอะไรที่ดูไม่แพง เป็นทัวริสติก เรสเตอรองต์ ให้ใช้แค่หนึ่งแผ่นกระดาษ อ่านแล้วให้ลูกค้าจินตนาการเอง เป็นสิ่งที่เวิร์คมากสำหรับลอนดอน 

แต่เรากลับคิดว่าไม่จริง ร้านอาหารเรายาก เราอยากให้เขาเห็น เราเลยส่งเมนูที่กรุงเทพฯ ไปให้ทีมรีเสิร์ช ปรากฏว่าทุกคนชอบมาก เขาบอกไม่เคยเห็นเมนูแบบนี้ เหมือนแมกกาซีนมากๆ ช่วยให้เข้าใจอาหารมากขึ้น เพราะเราใส่องค์ประกอบรายละเอียดของอาหารไทย รายละเอียดของกรุงเทพฯ สมุดรายการอาหารของเราเป็นสิ่งที่ ‘รีวิวเวอร์’ พูดชม รวมทั้งการตกแต่งร้าน และอาหาร" พรศิริ กล่าว

GH1 สมุดชื่อรายการอาหารของ เกรฮาวด์ คาเฟ่ ลอนดอน ที่ไม่ได้จบภายในกระดาษแผ่นเดียวตามพิมพ์นิยมของร้านอาหารในลอนดอน

:: คอนเซปต์อาหาร ::

การนำเสนอ คอนเซปต์อาหาร ของร้าน ‘เกรฮาวด์ คาเฟ่ ลอนดอน’ กลับกลายเป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องที่ต้องสร้างความชัดเจนและถกเถียงกันระหว่างทีมงาน

คุณภาณุกล่าวว่า ก่อนเปิดร้านอาหารครั้งนี้ เขาตระเวนชิมอาหารไทยในลอนดอนตลอดระยะเวลาสองปี เพื่ออยากรู้ว่าอาหารไทยไปถึงไหนแล้ว ปรากฎว่าร้านอาหารไทยตอนนี้เติบโตก้าวไกลมาก เมื่อก่อนชาวต่างชาติรู้จักแกงเขียวหวาน แกงแดง ทอดมัน แต่ขณะนี้กลายเป็นร้านที่คนอายุ 50-60 ปีไปรับประทาน ชาวต่างชาติเริ่มรู้จักอาหารไทยในระดับท้องถิ่น เช่น อาหารอีสาน อาหารเหนือ

"มีร้านอาหารไทยที่ฝรั่งเป็นเจ้าของ ร้านน้ำ(Nahm) โดยเดวิด ทอมป์สัน เชฟชื่อดังชาวออสเตรเลีย ในที่สุดเขาปิดตัวลงที่ลอนดอน ลูกน้องทั้งหลายคันไม้คันมือแตกตัวกันออกมาแล้วเปิดร้านอาหารไทยเต็มไปหมด แต่ละคนพยายามเสาะหาคอนเซปต์ใหม่ๆ

คนหนึ่งมาเรียนทำอาหารอีสานที่เมืองไทย แล้วกลับไปเปิดชื่อร้าน ‘ส้มซ่า’ อีกคนมาเรียนอาหารเหนือ กลับไปเปิดร้านชื่อสโมคกิ้ง โกต(Smoking Goat) อีกคนเปิดร้านชื่อ Kiln(กลิ่น) เป็นร้านที่กำลังดังมากในลอนดอน 

คนทำอาหารอีสานเกือบจะเรียกได้ว่า เหมือนนั่งกินข้างปั๊มน้ำมันในกรุงเทพฯ จานชามพลาสติกสีชมพูสีฟ้า แต่ราคาเท่ากับห้าดาว คนแน่นมาก ฝรั่งทั้งนั้น ส้มตำมีห้ารสให้เลือก ตำไทย ตำลาว ตำปู ตำปลาร้า ขนมมีครองแครงน้ำกะทิใส่ขนุน... 

สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ เขาเป็นอาหารไทยที่ยืนอยู่บนคำว่า ออเธนติก ไทย (authentic Thai, อาหารไทยแท้) 

ผมยังจำได้ เราไปนั่งกินที่ ‘ส้มซ่า’ ฝรั่งทั่งร้าน เอเชียน้อยมาก ฝรั่งกินปลาร้า ต้มแซ่บ ลองหันไปคุยด้วย เขาบอกเคยมาเมืองไทยแล้ว ชอบมาก เคยไปเที่ยวอีสาน ชอบอาหารอีสาน พวกนี้คนรุ่นใหม่จริงๆ นักท่องเที่ยวจริงๆ..

หลังจากคุยแล้วก็ค้นพบว่า คนพวกนี้มองหาความจริง ความเป็นอาหารพื้นบ้านที่แท้จริงของประเทศเรา...

เราก็เลยเอาไงล่ะ เกรฮาวด์ที่กรุงเทพฯ เราไม่ใช่ร้านอาหารไทยอย่างเดียว เราเป็นแฟชั่นคาเฟ่ เราสนุกกับการนำเสนอเทรนด์ใหม่ๆ ให้ลูกค้า เพราะเราโตมากับความเป็นแฟชั่นแบรนด์ แต่พอเราออกไปจากเมืองไทย แม้กระทั่งฮ่องกง เมืองจีน ทำให้เราต้องหันกลับมาดูตัวเอง....

เราไปลอนดอนเราจะวางตัวเองอย่างไรให้ชัดเจน(position) เราตัดสินใจยอมรับเราเป็นคนไทย เราไปลอนดอน ต้องเป็นอาหารไทยแน่นอน เราจะเป็นไทยอย่างไรดีที่แตกต่างจากเขาด้วย และเขายืนอยู่บนคำว่า ‘ออเธนติก’ กันหมด และเราดันเป็น ‘โมเดิร์น ไทย’ 

ตอนที่เราทำรีเสิร์ชถามฝรั่ง what do you remember of bkk? (คุณจำอะไรได้บ้างเกี่ยวกับกรุงเทพฯ) ทุกคนจำได้อย่างเดียว ถนนข้าวสาร ผัดกระทะไฟแลบริมถนน เยาวราช รถตุ๊กตุ๊ก เป็นสิ่งสนุกที่เขาจดจำ ห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ เป็นสิ่งที่เขาเคยเห็นแล้วที่บ้านเขาเอง ความออเธนติกจึงเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับเขา

ก็เลยกลับมาทำการบ้านกันเยอะมาก มาพร้อมคำถามเต็มไปหมด ร้านก็ไม่ไทย แต่โมเดิร์น...ทำอย่างไร อาหาร เมนู คอนเซปต์ทำอย่างไร แม้แต่ชื่อร้านก็เป็นฝรั่งเอีก" คุณภาณุ เล่า

หลังจากค่อยๆ คิดไปทีละจุด ทีมงานก็ตัดสินใจได้ว่าจะวางตัวตนให้กับ ‘เกรฮาวด์ คาเฟ่ ลอนดอน’ ว่าเป็น โมเดิร์น แบงค็อก คาเฟ่ (Modern Bangkok Cafe)

"เราไม่ใช่เทรดิชั่นแนล ไทย เรสเตอรองต์ แต่เรานำสิ่งที่คนไทยจริงๆ กิน-ใช้ชีวิต มาให้คนลอนดอนสัมผัส อันนี้คือจุดแตกต่างที่เราคิดว่าจะเอาไปขายแข่งกับ ‘ส้มซ่า’ ซึ่งไก่ย่างเขาปิ้งเตาถ่าน เสิร์ฟต้มแซ่บในหม้อดินของจริง น้ำปลาพริกขี้หนูก็แบบไทยแท้อีก" ภาณุยกตัวอย่างพร้อมกับอดที่จะหัวเราะไม่ได้

คุณภาณุสรุปด้วยว่า "เกรฮาวด์ไม่ได้แปลว่าอาหาร แต่แปลว่า โททัล เอ็กซ์พีเรียนซ์(total experience) หรือประสบการณ์ที่เขามาใช้ชีวิตอยู่กับเราหนึ่งชั่วโมง หรือสองชั่วโมง หรือเวลาที่เขามาใช้อยู่กับเรา ผ่านประสาทรับสัมผัสทุกด้าน"

:: 15 เมนูเดิม + 15 เมนูลอนดอน ::

เกรฮาวด์คาเฟ่มีอาหารละลานตามากถึง 90 รายการ คุณภาณุและทีมงานตัดสินใจเลือกอาหาร 15 รายการจากเมนูเดิม และให้ เชฟหฤษฎ์ เวชากุล พ่อครัวใหญ่คู่ครัวเกรฮาวด์คาเฟ่มาตลอดระยะเวลา 21 ปี สร้างสรรค์รายการอาหารใหม่อีก 15 รายการเพื่อนำไปบริการที่ร้าน เกรฮาวด์ คาเฟ่ ลอนดอน

“เราเลือกไป 30 เมนู เพราะเราต้องการเน้นความเป็นไทย แนะนำตัวก่อน อย่าทำให้เขาตกใจ แล้วจะทำให้เขางงด้วยว่าตกลงเราเป็นร้านอะไรกันแน่ ถ้าเราเอาสปาเก็ตตีคาร์โบนาราไป มันจะเป็นร้านอาหารไทยได้ยังไง” คุณภาณุ กล่าวและว่า แต่เมื่อตกลงกันแล้วว่าอาหารของ ‘เกรฮาวด์ คาเฟ่ ลอนดอน’ คือการนำเสนออาหารในลักษณะ The way Bangkok eats และไม่ทิ้งอัตลักษณ์ความเป็น ‘เกรฮาวด์ คาเฟ่’ จึงมีการโต้แย้งเรื่องเมนู ‘สปาเกตตี’ กับบริษัทที่ปรึกษาซึ่งยืนยันข้อมูลว่าลอนดอนกำลังให้ความสำคัญกับอาหารที่เป็นของแท้(authentic)

"ผมก็ไปคุยกับเขาเรื่องพาสต้า มันแปลกนะ เขาก็พูดเลยว่า เอาเก็บไว้ที่บ้านคุณแล้วกัน เอาของที่เป็นของจริงของไทยมาดีกว่า แต่ผมคิดว่าเป็นความแตกต่างที่เราอยากไปเปิดตัวที่นั่น(ลอนดอน) สปาเกตตีเราเป็นสปาเกตตีเผ็ดร้อน เป็น สปาเกตตีขี้เมา สปาเกตตีปลาเค็ม แค่นี้เขาก็รู้สึกประหลาดแล้วที่มาเจอร้านอาหารไทยขายสปาเกตตี หรือแฮมเบอร์เกอร์ เราก็เอาไป แต่เราเรียกว่า เฮฟวี่เวทมวยไทยเบอร์เกอร์ คือเนื้ออย่างหนา รสจัดมาก มีเครื่องเทศเต็มไปหมดหมักอยู่ในเนื้อ นี่คือสิ่งที่คนกรุงเทพฯ กิน แต่คุณ(ชาวลอนดอน)ไม่เคยได้สัมผัส นี่คือความสนุกของเขา ข้าวกะเพรากลายเป็นท็อปฮิตของเรา ทั้งๆ ที่ธรรมดามากสำหรับคนไทย" ภาณุ กล่าว

เมนูที่ทำขึ้นใหม่สำหรับร้านที่ลอนดอน เช่น มัสมั่นเนื้อ เดิมไม่มีที่เกรฮาวด์คาเฟ่กรุงเทพฯ แต่เนื่องจากเป็นเมนูติดอันดับ ‘เบสต์ เคอร์รี่ อิน เดอะ เวิลด์’ จึงตัดสินใจเพิ่มเมนูมัสมั่นที่ลอนดอน โดยเชฟหฤษฎ์ปรับใช้ 'เนื้อแก้มวัว' เคี่ยวให้เปื่อยแทนการใช้เนื้อน่องแบบทั่วไป แต่ยังคงปรุงกับมันฝรั่งและหอมแดงแบบมัสมั่นโบราณ เสิร์ฟคู่ข้าวหอมมะลิและผักดอง

คุณภาณุยกตัวอย่างอาหารขายดีอันดับแรกของ ‘เกรฮาวด์ คาเฟ่ ลอนดอน’ ในขณะนี้ ผัดไทยหอยเชลล์ (Scallop Pad Thai) รสชาติผัดไทยของแท้ ซอสผัดไทยแท้ๆ ไม่ใช่ซอสมะเขือเทศหรือแค่ใส่ซีอิ๊ว เพียงเติมวัตถุดิบให้มีความพิเศษ คือหอยเชลล์ ราคาขายจานละ 15.5 ปอนด์

20180206162223718 ผัดไทยหอยเชลล์ 15.5 ปอนด์

เมนูที่ลงอินสตาแกรมเยอะมาก ขาหมูหมักสมุนไพรไทยทอดกรอบ (Hot Oil Pork Knuckle, 22 ปอนด์) ขาหมูทอดกรอบสไตล์เยอรมัน กินกับผักดอง ข้าวเหนียว น้ำพริกมะขาม น้ำจิ้มแจ่ว แรงบันดาลใจจากคอหมูย่าง “กลายเป็นเมนูฮือฮา และผมก็แปลกใจมาก ผู้หญิงตัวเล็กๆ กินคนเดียวขาหนึ่งเลย” คุณภาณุเล่า

20180206162618148 ขาหมูหมักสมุนไพรไทยทอดกรอบ 22 ปอนด์

20180206162612040 ทอดมันป๊อบส์ 6.5 ปอนด์ 

20180206162228667 เมี่ยงปลากะพง 19 ปอนด์

ทอดมันป๊อบส์ (Todmun Pops, 6.5 ปอนด์) คือทอดมันปลากรายแท้ รสชาติเครื่องแกงครบเครื่อง แต่ปั้นเป็นก้อนกลมคล้ายลูกบอลเล็กๆ เสิร์ฟกับผักดองแบบไทยที่เรียก ‘อาจาด’

เมี่ยงปลากะพง (Sea Bass Miang, 19 ปอนด์) ปลากะพงทั้งตัวย่างสมุนไพร เสิร์ฟกับเส้นหมี่ขาว ผักสด และน้ำยำไทยที่มีทั้งหอมแดง มะนาวสด ขิงสด ทั้งหมดหั่นเต๋า และถั่วลิสงคั่ว ครบตำรับเมี่ยง

หมาป่าร้องไห้ หรือในชื่อเมนู Weeping Wolf เชฟย่างเนื้อแกะส่วนสะโพกให้สุกพอประมาณ หั่นเป็นชิ้นพอคำ วางบนซูกินีสดฝานเป็นแผ่นยาวบางๆ เรียงสลับเป็นลายตารางบนจานสวยงาม หยอดเพสโตซอสบนเนื้อแต่ละชิ้น โรยใบโหระพาทอดกรอบทั่วๆ จาน เวลารับประทานก็ห่อเนื้อแกะด้วยซูกินี สัมผัสได้ทั้งความนุ่มและรสหวานของเนื้อแกะ ความกรอบของซูกินี ความหอมมันของเพสโตซอส อ้อ..ในจานยังมีหอมแดงฝานให้แกล้มสำหรับผู้ต้องการรสชาติที่จัดจ้านขึ้น จานนี้ราคา 7.8 ปอนด์

20180206162615056 หมาป่าร้องไห้ 7.8 ปอนด์

20180206162226492 ก๋วยเตี๋ยวเป็ดตุ๋นหนังกรอบ 13 ปอนด์

20180206162224251 ไก่ย่าง-ข้าวเหนียว 14.8 ปอนด์

ก๋วยเตี๋ยวเป็ดตุ๋นหนังกรอบ คือก๋วยเตี๋ยวเป็ดสไตล์เยาวราช ซดน้ำซุปเปล่าๆ ก็ได้รสชาติที่เข้มข้นกำลังดีและหอมเครื่องยาจีนเบาๆ เสิร์ฟพร้อมพวงเครื่องปรุงที่มีทั้งพริกป่น น้ำส้มพริกเหลืองตำ น้ำตาลทราย น้ำปลา นอกจากน้ำซุปแล้ว ทีเด็ดยังอยู่ที่เป็ดตุ๋นที่ปรุงในแบบ duck confit กรอบนอก-เปื่อยใน ชามนี้ราคา 13 ปอนด์

ไก่ย่าง-ข้าวเหนียว ไก่ครึ่งตัวย่างขมิ้น เสิร์ฟกับข้าวเหนียวไรซ์เบอร์รี่ ส้มตำ น้ำจิ้มแจ่วและซอสพริกหวาน เมนูนี้ชื่อ Esarn Chicken เซตนี้ราคา 14.8 ปอนด์

ข้าวโพดทอดเนื้อปู (Crab and Corn Pops, 6.8 ปอนด์) เป็นเมนูที่กรุงเทพฯ แต่เปลี่ยนรูปทรงให้เป็นลูกบอลเล็กๆ ลูกค้าในลอนดอนนิยมสั่งกินแกล้มเบียร์ และที่ยังคงเป็นที่ฮือฮาเหมือนเดิมคือ แซลมอนแช่พริก หรือในชื่อที่ลอนดอนว่า Salmon in Hot Pursuit ราคาจานละ 6 ปอนด์ แซลมอนสดสไลซ์โรยหน้าด้วยซอสมะนาวรสจัดจ้านแบบเกรฮาวด์คาเฟ่ ติดอันดับเมนูขายดีตั้งแต่เปิดร้านวันแรก 

20180206162614576 ข้าวโพดทอดเนื้อปู 6.8 ปอนด์

ฮิตตามมาติดๆ คือ ปีกไก่แดดเดียวทอดน้ำปลา หรือในชื่อเมนู Greyhound ‘Single Bone’ Wings ราคาจานละ 6.5 ปอนด์ แฟนเกรฮาวด์คาเฟ่ชาวไทยคงรู้ชัดถึงรสชาติดีอยู่แล้ว แต่กว่าจะอร่อยเหมือนเมืองไทยก็มีเรื่องให้เชฟต้องจัดการ

"ไก่ฝรั่งตัวโต ปีกไก่ฝรั่งจึงใหญ่มาก การหมักต้องเข้มข้นเป็นพิเศษ เวลาทอด หนังหนา ความกรอบจะมีปัญหา ปีกไก่เกรฮาวด์หนังจะแห้งๆ รสจัด กรอบ พอหนังเยอะกลิ่นจะหายไป เราก็ต้องปรับสูตร ควานหาปีกไก่ที่มีขนาดใกล้เคียงที่สุด" คุณภาณุ ยกตัวอย่าง

เครื่องดื่มก็ได้รับการสร้างสรรค์เมนูขึ้นใหม่ อาทิ น้ำตะไคร้เกล็ดน้ำแข็งไส ซึ่งได้รับการตั้งชื่อว่า Icy Lemongrass Juice น้ำตะไคร้ที่นำเสนอในรูปแบบกรานิต้า(เกล็ดน้ำแข็ง) และน้ำบ๊วยชื่อเก๋ Bubble Plum Plum น้ำมะนาวผสมน้ำผึ้งและบ๊วยแช่แข็ง

GH Icy Lemongrass Juice และ Bubble  Plum Plum,  (ภาพขวา) Plam Sugar Banana หรือกล้วยทับราดน้ำตาลเคี่ยว เสิร์ฟกับไอศกรีมวานิลลา ราคา 7 ปอนด์

20180206161818150 Sun-dried Banana Date Cake หรือ กล้วยตากและเค้กกล้วยตากผสมอินทผลัม ราคา 7 ปอนด์

:: ชิม 8 เมนูลอนดอนที่กรุงเทพฯ ::

ในโอกาสฉลองก้าวสู่ปีที่ 21 และเปิดสาขาใหม่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ, เกรฮาวด์ คาเฟ่ นำเมนูลอนดอนมาให้คนไทยได้ชิมจำนวน 8 เมนูด้วยกัน คือ ข้าวตังสามภาค 180 บาท, หมาป่าร้องไห้ 240 บาท, ทอดมันป๊อบส์ 150 บาท, ก๋วยเตี๋ยวเป็ดตุ๋นหนังกรอบ 200 บาท, มัสมั่นเนื้อแก้มวัวตุ๋น 260 บาท, ขาหมูหมักสมุนไพรไทยทอดกรอบ 720 บาท, เค้กกล้วยตาก 180 บาท, และ น้ำตะไคร้เกล็ดน้ำแข็งไส 100 บาท ที่ร้านเกรฮาวด์ คาเฟ่ ชั้น 2 ศูนย์การค้า ดิ เอ็มควอเทียร์ พร้อมโอกาสลุ้นรับแพ็คเกจทัวร์ไปลอนดอน 4 คืน 5 วันกับซิตี้แบงก์ ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2561

-----------

หมายเหตุ :

Greyhound Cafe London ตั้งอยู่เลขที่ 37, ถนน Berners, ลอนดอน ประเทศอังกฤษ รายละเอียดคลิก www.greyhoundcafe.uk

รายละเอียด Greyhound Cafe ในประเทศไทย คลิก www.GreyhoundCafe.co.th

------------------------

ภาพ : เอกรัตน์ ศักดิ์เพชร