พลิกกม.-เจาะไทม์ไลน์คดี 'เปรมชัย' เร็วหรือถ่วง?

พลิกกม.-เจาะไทม์ไลน์คดี 'เปรมชัย' เร็วหรือถ่วง?

คดีนายเปรมชัย กรรณสูต มีกระแสวิจารณ์ในโลกโซเชียลฯว่าตำรวจทำงานล่าช้า ถึงขนาดล่าชื่อให้เปลี่ยนตัว พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล จากหัวหน้าพนักงานสอบสวน

“ล่าความจริง” ย้อนดูไทม์ไลน์คดี ตั้งแต่วันจับกุมนายเปรมชัยกับพวก จนถึงปัจจุบัน พร้อมเปิดประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) เพื่อเป็นข้อมูลประกอบว่า ตกลงคดีนี้ช้าจริงหรือไม่

เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร เข้าควบคุมตัวนายเปรมชัยกับพวกรวม 4 คน ขณะลักลอบตั้งแคมป์ในเขตหวงห้าม เมื่อเช้ามืดวันที่ 4 ก.พ. จากนั้นก็คุมตัวออกจากป่า ไปสอบปากคำที่สำนักงาน วันรุ่งขึ้นกลับไปค้นแคมป์ที่พัก พบซากเสือดำ สัตว์ป่าคุ้มครองอื่นๆ อาวุธปืน และอุปกรณ์ต่างๆ อีกจำนวนมาก จึงควบคุมตัวส่งพนักงานสอบสวน สภ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี แจ้งข้อหาล่าสัตว์ป่าและอื่นๆ รวม 9 ข้อหา

ต่อมาวันที่ 6 ก.พ. พนักงานสอบสวนส่งตัวทั้งหมดไปฝากขังที่ศาลจังหวัดทองผาภูมิ และได้ประกันตัวออกไป โดยยื่นหลักทรัพย์เป็นเงินสดคนละ 150,000 บาท

ตาม ป.วิอาญา พนักงานสอบสวนสามารถขออนุญาตศาลให้สั่งขังผู้ต้องหาได้ระหว่างการสอบสวนคดี เรียกว่า "ฝากขัง" โดยสั่งได้ครั้งละ 12 วัน รวมแล้วไม่เกิน 84 วัน สำหรับคดีที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ซึ่งคดีนายเปรมชัยกับพวกอยู่ในเกณฑ์นี้ แต่การ "ฝากขัง" นั้น ผู้ต้องหาก็สามารถยื่นขอประกันตัวได้ แต่ต้องรายงานตัวต่อศาลตามนัดทุก 12 วัน และตำรวจสามารถเรียกสอบปากคำได้ตลอดเวลา

แต่สำหรับศาลจังหวัดทองผาภูมิที่ตำรวจนำนายเปรมชัยไปฝากขัง มีโครงการลดระยะเวลาในการมารายงานตัวในชั้นสอบสวน เพราะศาลตั้งอยู่ในถิ่นทุรกันดารห่างไกล จึงเปิดโอกาสให้ผู้ต้องหามารายงานตัวในการฝากขังครั้งที่ 4 ทีเดียวเลย ซึ่งคดีนายเปรมชัย จะครบกำหนดในวันที่ 26 มี.ค.

สำหรับการทำงานของตำรวจ ขณะนี้อยู่ระหว่างการฝากขังครั้งที่ 3 (ครบกำหนดฝากขังครั้งที่ 2 ไปเมื่อวันที่ 2 มี.ค.) พนักงานสอบสวนยังมีเวลาทำสำนวนอีก 4 ฝาก (หมายถึงฝากขังอีก 4 ครั้ง) ครั้งละ 12 วัน รวม 48 วัน และยังต้องรวมเวลาการฝากขังครั้งที่ 3 ที่ยังเหลืออีก 8 วัน (ครบวันที่ 14 มี.ค.) เท่ากับว่ายังเหลือเวลาทำสำนวนก่อนเส้นตายยื่นฟ้องถึง 56 วัน หรืออีกเกือบๆ 2 เดือน

กรอบเวลา 84 วัน (ซึ่งยังเหลืออีก 56 วัน) จะเรียกว่าเป็นระยะเวลาการทำงานของตำรวจกับอัยการเพื่อส่งฟ้องคดีต่อศาลก็ได้ เพราะหากฟ้องคดีไม่ทันตามกำหนดเวลา 84 วัน ศาลก็สั่งขังระหว่างสอบสวนไม่ได้อีก ที่ผู้ต้องหาเคยยื่นประกันตัวไว้ ก็ไม่ต้องยื่น ถ้าศาลสั่งขังอยู่ ก็ต้องปล่อยตัวเป็นอิสระ แต่ไม่ได้หมายความว่าคดีจบ นายเปรมชัยไม่ผิด เพียงแต่กระบวนการยุติธรรมหมดอำนาจควบคุมตัว (เป็นการรักษาสิทธิ์ผู้ต้องหาตามรัฐธรรมนูญ) แต่หลังจากนั้น หากอัยการจะยื่นฟ้องต่อศาล ก็ออกหมายเรียกให้นายเปรมชัยมารายงานตัว และนำตัวไปฟ้องได้ตลอดเวลา ส่วนในชั้นศาล จะสั่งขังระหว่างพิจารณา หรือให้ประกันตัวก็ได้ เป็นไปตามดุลยพินิจ

เรื่องทำคดีช้าหรือไม่ช้า มองได้ 2 มุม มุมแรกถ้าพนักงานสอบสวนทำสำนวนคดีแบบชุ่ยๆ แล้วส่งให้อัยการฟ้อง ถ้าสำนวนคดีไม่รอบคอบรัดกุม เมื่อถึงชั้นศาล ผู้ต้องหาอาจหลุดคดีได้

อีกมุมหนึ่ง ถ้าพนักงานสอบสวนใช้เวลาอีกสักหน่อย เพราะยังเหลือเวลาอีกเกือบ 2 เดือน เพื่อทำสำนวนคดีให้ครบถ้วนสมบูรณ์ รัดกุม ชัดเจน และเหลือเวลาให้อัยการได้พิจารณาพยานหลักฐานด้วยตามสมควร เมื่อฟ้องคดีไปก็มีโอกาสสูงที่ศาลจะพิพากษาลงโทษ

นี่เป็นข้อเท็จจริงประกอบกับข้อกฎหมาย ส่วนคดีจะช้าหรือเร็วคงต้องพิจารณาจากเงื่อนไขทั้งหมดที่กล่าวหา แต่ต้องไม่ลืมเป้าหมายว่า ต้องนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้ ฉะนั้นบางทีความล่าช้า แต่ชัวร์ และมีเหตุผลมากพอ เช่น ต้องรอผลตรวจทางนิติวิทยาศาสตร์ ก็อาจจะคุ้มค่าที่คดีช้า

แต่ถ้าช้าเพราะเตะถ่วง ช่วยเหลือผู้ต้องหา หรือบิดเบือนสำนวนคดี แบบนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งสังคมก็ต้องติดตามตรวจสอบต่อไป