'อภิสิทธิ์'เบิกความปากแรก ฟ้องม.157 'ธาริต-พวก'

'อภิสิทธิ์'เบิกความปากแรก ฟ้องม.157 'ธาริต-พวก'

"อภิสิทธิ์" เบิกความปากแรก ลำดับเหตุการณ์สลายม็อบ นปช. ถึง ดีเอสไอ แถลงข่าวสรุปสำนวนฆ่า ขณะที่เรื่องยาวสืบไม่จบ ต้องเบิกต่ออีกนัด

เมื่อวันที่ 6 มี.ค.61 ที่ห้องพิจารณา 909 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดสืบพยานโจทก์ครั้งแรก คดีหมายเลขดำ อ.310/2556 ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) , พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ ในฐานะอดีตหัวหน้าชุดคดีการเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐจากเหตุรุนแรงทางการเมืองปี2553 , พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ และ ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล ในฐานะพนักงานสอบสวน เป็นจำเลยที่ 1- 4 ในความผิดฐานเป็นร่วมกันเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตและเป็นเจ้าพนักงานสอบสวน กระทำการโดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 , 90 , 157 , 200 กรณีเมื่อเดือน ก.ค.54 - 13 ธ.ค.55 ดีเอสไอได้สรุปสำนวนดำเนินคดี นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ข้อหาก่อให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าโดยเจตนาและเล็งเห็นผล จากการออกคำสั่ง ศอฉ.ใช้กำลังเจ้าหน้าที่ กระชับพื้นที่การชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553 ซึ่งโจทก์เห็นว่าการแจ้งข้อหาบิดเบือนจากข้อเท็จจริงและดีเอสไอไม่มีอำนาจ เพราะต้องเป็นการวินิจฉัยของ ป.ป.ช.

โดยคดีนี้เดิม ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ มีคำสั่งให้ยกฟ้องในชั้นไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ เนื่องจากเห็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสี่ เป็นการดำเนินการไปตามพยานหลักฐาน กระทำไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย ซึ่งพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมายังฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสี่ มีเจตนาบิดเบือนแจ้งข้อกล่าวหา หรือกลั่นแกล้งโจทก์แต่อย่างใด เมื่อนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ยื่นฎีกา ศาลฎีกาก็มีคำสั่งเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.60 สั่งให้ศาลชั้นต้น รับฟ้องคดี เน่องจากเห็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสี่ ที่ได้สอบสวนและแจ้งข้อหาโจทก์ทั้งสอง มีเหตุผลให้เชื่อว่า จำเลยทั้งสี่ อาจไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการ อาจเป็นความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157 และ 200 ได้ โดยหลังจากศาลฎีกาสั่งให้รับคดีไว้พิจารณาแล้ว ศาลอาญา จึงได้เริ่มกระบวนสืบพยานโจทก์ ตามขั้นตอน

ซึ่งวันนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โจทก์ ก็เดินทางมาเบิกความด้วยตนเอง เพียงปากเดียว สรุปว่า ขณะพยานมีตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2553 มีการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ก่อความไม่สงบ จึงแต่งตั้งให้นายสุเทพ เป็น ผอ.ศอฉ. เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ หลีกเลี่ยงความเสียหายต่อชีวิตละทรัพย์สิน สั่งเป็นระบบตามกฎหมายเป็นไปตามหลักสากล ไม่มีการสั่งให้ใช้อาวุธกับกลุ่มผู้ชุมนุม แต่จะใช้อาวุธได้เฉพาะป้องกันตัว และรักษาทรัพย์สินและความรุนแรงอื่น ๆ ไม่มุ่งเน้นเอาชีวิต โดยยิงปืนในทิศทางที่ต่ำกว่าระดับเข่าลงไป การปฏิบัติงานของ ศอฉ.ทำหน้าที่ไม่เกินกว่าเหตุ เพื่อคลี่คลายสถานการณ์และรักษาความสงบในบ้านเมือง เหตุที่ต้องใช้อาวุธเพราะกลุ่มผู้ชุมนุมมีบุคคลอื่น (ชายชุดดำ) แฝงตัว ต่อมาหลังการเลือกตั้งปี 2554 พรรคเพื่อไทย ชนะการเลือกตั้งทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หัวหน้าพรรคขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 1 ยังคงดำรงตำแหน่งอธิบดีดีเอสไอ ได้สนองนโยบายรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในการทำลายล้างพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม โดยจำเลยกล่าวหาว่าโจทก์ทั้งสองมีเจตนาสั่งฆ่าประชาชนในระหว่างการชุมนุม ต่อมาจำเลยที่ 1 และ 2 ดำเนินการสอบสวนตนที่ห้องประชุมดีเอสไอ ระหว่างเดือน ก.ค.54-วันที่ 13 ธ.ค.55 จากนั้นจำเลยที่ 1 ได้แจ้งข้อกล่าวหาโจทก์ทั้งสอง ฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา โดยใช้อำนาจหน้าที่ในการทำร้ายและฆ่าประชาชน โดยมีการแถลงข่าวยืนยันให้สัมภาษณ์เรื่องการแจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าวแก่สื่อมวลชน การกระทำของจำเลยเป็นการปฏิบัติหน้าที่กลั่นแกล้งให้โจทก์ทั้งสองได้รับโทษทางอาญา และเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงให้โจทก์ทั้งสองได้รับโทษทางอาญาสูงสุด ทั้งที่จำเลยทั้งสี่ทราบดีว่าการทำหน้าที่ของ ศอฉ.เป็นไปตามหลักสากล จำเลยทราบว่าการชุมนุมของกลุ่ม นปช.เป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย แต่กลับบิดเบือนว่าการชุมนุมดังกล่าวเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยกล่าวหาว่าตนมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยไม่ชอบธรรม นำไปสู่การยัดเยียดข้อกล่าวหาและกลั่นแกล้งโจทก์ทั้งสอง ทั้งนี้จำเลยทั้งสี่ทำหน้าที่สนองความต้องการของผู้นำรัฐบาล

อย่างไรก็ดี เมื่อสิ้นสุดเวลาทำการศาลแล้ว นายอภิสิทธิ์ ยังเบิกความไม่เสร็จสิ้น ศาลจึงนัดสืบพยานโจทก์ปาก นายอภิสิทธิ์ ต่อในวันที่ 7 มี.ค.นี้ เวลา 09.00 น.