พบเชื้อพิษสุนัขบ้าในสุนัขกว่า 250 หัว ทั่วปท.ภาคอีสานมากสุด

พบเชื้อพิษสุนัขบ้าในสุนัขกว่า 250 หัว ทั่วปท.ภาคอีสานมากสุด

กรมควบคุมโรค เผยพบเชื้อพิษสุนัขบ้าในสุนัขกว่า 250 หัว ทั่วประเทศมากที่สุดคือ ภาคอีสาน

เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2561 นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้พบว่ามีหัวสุนัขที่พบเชื้อกระจายอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศกว่า 250 หัว เพิ่มขึ้นแม้ไม่ถึงเท่าตัวของการพบเชื้อในหัวสุนัขในปีที่ผ่านๆ มา แต่ก็เป็นการเพิ่มขึ้นมาก มากที่สุดคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคเหนือ และภาคใต้ ตามลำดับ โดยบางจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบหัวสุนัขมีเชื้อพิษสุนัขบ้าในทุกอำเภอ ซึ่งนับเป็นความเสี่ยงที่ประชาชนมีโอกาสสัมผัสหรือติดเชื้อเพิ่มขึ้น โดยข้อมูลตั้งแต่เดือนมกราคม-วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2561 มีรายงานประชาชนถูกสุนัขกัด เข้ารับการรักษาและขึ้นทะเบียนไว้ 39,101 ราย และมีประชาชนเสียชีวิตจากพิษสุนัขบ้า 2 ราย

นพ.อัษฎางค์ กล่าวว่า ขณะนี้กรมปศุสัตว์ประกาศพื้นที่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าไปประมาณ 15 จังหวัด เพื่อเป็นเครื่องมือให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สามารถจัดเตรียมวัคซีนมาฉีดให้สุนัขได้อย่างสะดวกขึ้น และขณะนี้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก็ปลดล็อกให้ อปท.สามารถจัดซื้อและฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าได้แล้ว และมีหลายพื้นที่ดำเนินการไปแล้วโดยเฉพาะพื้นที่ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมีการประกาศเป็นพื้นที่ระบาด

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีทีการพบกระบวนการต่อต้านการฉีดวัคซีน การทำหมันสุนัขว่าเป็นการทารุณกรรมสัตว์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า อปท.สามารถเข้าไปดำเนินการได้ เพราะทุกคนเข้าใจตรงกันแล้วว่าโรคพิษสุนัขบ้าหากไม่ควบคุมป้องกันที่สุนัข ผลอัตราการพบเชื้อในสุนัขจรจัดมากขึ้น ยิ่งขณะนี้พบสูงขึ้นกระจายทุกภูมิภาค มีคนตายแล้ว ดังนั้นการฉีดวัคซีน หรือทำหมัน เป็นการควบคุมป้องกันโรคไม่ใช่การทารุณกรรมสัตว์ แต่เป็นควบคุมไม่ให้เกิดปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าเพื่อไม่ให้มีคนต้องเสียชีวิตอีก

“ประชาชนควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเลี้ยงสุนัข หรือแมวต้องพาไปฉีดวัคซีนทุกปี ซึ่งจากที่ทราบก็พบว่ามีการพาสัตว์เลี้ยงไปรับวัคซีนมากขึ้น และอีกสิ่งสำคัญหากถูกกัดต้องปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง โดยล้างด้วยน้ำสบู่ซ้ำหลายๆ ครั้ง ไปพบแพทย์เพื่อรับวัคซีน ส่วนสัตว์ตัวที่กัดนั้นให้เฝ้าระวังอย่างน้อย 10 วัน หากสัตว์นั้นยังมีชีวิตอยู่ก็น่าจะบอกได้ว่าไม่น่าจะเป็นโรคพิษสุนัขบ้า แต่หากใน 10 วัน สัตว์ตัวนั้นหายไป ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือแม้แต่จะตายจากการถูกรถทับก็ตามให้อนุมานว่าสุนัขตัวนี้มีเชื้อพิษสุนัขบ้า ซึ่งตรงนี้ควรรับวัคซีน” นพ.อัษฎางค์ กล่าวและว่า สิ่งหนึ่งสำคัญที่อยากจะย้ำหลังสำรวจพบประชาชนร้อยละ 25 เข้าใจผิดว่าโรคพิษสุนัขบ้ารักษาหาย ขอย้ำว่าไม่สามารถรักษาหายได้ โอกาสเสียชีวิตคือร้อยละ 100 ไม่มีคนไหนรอด ต้องฉีดวัคซีนตามโปรแกรมที่กำหนดให้ครบ