ศาลปค.สั่งเพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตฯ คดีคลองด่าน ไม่เสียค่าโง่5พันล้าน

ศาลปค.สั่งเพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตฯ คดีคลองด่าน ไม่เสียค่าโง่5พันล้าน

คพ.เฮชนะคดียกแรก ขอรื้อฟื้นคดีคลองด่าน ศาลพิพากษาไม่ต้องจ่าย ไม่เสียค่าโง่5พันล้าน แต่ยังลุ้นเอกชนอุทธรณ์ได้อีก ด้านโฆษกศาลปกครอง แจงขั้นตอน คดียังไม่จบ คพ.ต้องร้องงดบังคับคดีเดิมจ่ายค่างวดด้วย

ที่ศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ วันที่ 6 มี.ค.61 เวลา 10.00 น. ศาลได้อ่านคำพิพากษาในคดีที่บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด กับพวกรวม 6 คน ร้องขอให้ศาลบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 50/2546 หมายเลขแดงที่ 2/2554 ลงวันที่ 12 ม.ค.54 ที่ให้ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ชำระเงินจำนวน 4,983,342,383 บาท กับอีก 31,035,780 ดอลล่าร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวน 4,424,099,982 บาท และจำนวน 26,434,636 ดอลล่าร์สหรัฐ ตามสัญญาโครงการออกแบบรวมก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย ซึ่งคดีดังกล่าวศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น

แต่ต่อมา กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ซึ่งเป็นผู้คัดค้านและกระทรวงการคลัง ได้ร้องขอให้พิจารณาพิพากษาคดีใหม่ โดยอ้างว่ามีคำพิพากษาในคดีอาญา ซึ่งเป็นคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คำพิพากษาของศาลแขวงดุสิต และคำพิพากษาของศาลอาญา อันแสดงให้เห็นว่าการดำเนินโครงการไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และมีการร่วมกันวางแผนและมีการเอื้อประโยชน์ระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐในฐานะผู้แทนฝ่ายผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้าง

ศาลปกครองกลาง จึงวินิจฉัยว่า กระทรวงการคลังไม่ใช่คู่สัญญาและไม่ได้รับผลกระทบจากผลแห่งคำพิพากษาโดยตรง จึงไม่มีสิทธิขอให้พิจารณาคดีใหม่ แต่กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เป็นผู้คัดค้าน และคู่สัญญา จึงมีสิทธิขอพิจารณาคดีใหม่

โดยศาลปกครองกลางวินิจฉัยประเด็นดังนี้ 1.บริษัท นอร์ทเวสต์ วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นหุ้นส่วน ผู้นำโครงการของกิจการ ร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี (NVPSKG) ได้กล่าวอ้างคุณสมบัติด้านการเงินของบริษัท นอร์ทเวสต์ วอเตอร์ กรุ๊ป จำกัด โดยไม่มีหลักฐานใดๆ ว่าบริษัทดังกล่าวจะเข้ามาร่วมรับผิดชอบในโครงการ และบริษัท นอร์ทเวสต์ วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด มีส่วนรับผิดชอบการลงทุนเฉพาะงานเดินระบบและซ่อมบำรุง ซึ่งมีมูลค่าของงานประมาณร้อยละ 10 ของราคาโครงการ การกระทำของเจ้าหน้าที่ คพ. ที่ไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่กิจการร่วมค้า NVPSKG ผู้รับจ้าง

2.เจ้าหน้าที่ คพ. ผู้คัดค้านได้มีประกาศท้องที่ที่จะขายที่ดินสำหรับใช้ในโครงการ ซึ่งห่างไปจากที่บริษัทที่ปรึกษาได้ทำการศึกษาไว้กว่า 20 กม. ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาโครงการที่เพิ่มสูงขึ้น โดยบริษัทคลองด่านมารีน แอนด์ ฟิชเชอรี่ จำกัด เป็นผู้เสนอขายที่ดินในบริเวณดังกล่าว อันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทดังกล่าว ซึ่งมีความสัมพันธ์ในเชิงบริหารและเชิงทุนกับบริษัทหนึ่งในกิจการร่วมค้า

3.เจ้าหน้าที่ คพ. ผู้คัดค้าน ได้แจ้งเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อกำหนดการประกวดราคา (TOR) ทำให้ที่ดินของกลุ่มบริษัทมารูเบนี่ คอเปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นผู้เสนอราคาอีกรายหนึ่งขาดคุณสมบัติ จึงเหลือที่ดินของบริษัท คลองด่านมารีน แอนด์ ฟิชเชอรี่ จำกัด ซึ่งเป็นที่ดินซึ่งอยู่ในความควบคุมของกิจการร่วมค้า NVPSKG เพียงรายเดียว ทำให้กลุ่มบริษัทอีกรายหนึ่งไม่มีที่ดินที่จะใช้ดำเนินโครงการและขอถอนตัว
4.สำนักงานอัยการสูงสุดได้ตรวจร่างสัญญาและกำหนดให้กิจการร่วมค้า NVPSKG และบริษัท นอร์ทเวสต์ วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด รับผิดร่วมกันและแทนกันตามสัญญา แต่เจ้าหน้าที่คพ. ได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความเป็นให้กิจการร่วมค้า NVPSKG รับผิดร่วมกัน โดยตัดข้อความที่ให้บริษัท นอร์ทเวสต์ วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ต้องรับผิดร่วมกันออก และในการลงนามในสัญญาได้ให้บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด ผู้ร้องที่ 1 เป็นผู้ลงนามแทนกิจการร่วมค้า NVPSKG และบริษัท นอร์ทเวสต์ วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด โดยอาศัยหนังสือมอบอำนาจที่ยื่นครั้งการประกวดราคา ซึ่งต่อมาบริษัทแม่ของบริษัทนอร์ทเวสต์ วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้แจ้งขอถอนหนังสือมอบอำนาจเดิมต่อเจ้าหน้าที่ คพ.แล้ว แต่ไม่มีการตรวจสอบโดยอ้างว่าเป็นปัญหาภายในที่ไม่เกี่ยวกับกรมควบคุมมลพิษ อันเป็นการช่วยเหลือกิจการร่วมค้า หลังจากนั้นได้มีการยินยอมให้บริษัท สมุทรปราการ ออพเปอร์เรทติ่ง จำกัด ผู้ร้องที่ 6 ซึ่งไม่เคยมีประสบการณ์เข้ามาเป็นคู่สัญญาแทนบริษัท นอร์ทเวสต์ วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด การกระทำของเจ้าหน้าที่ คพ.ที่ได้ดำเนินการขัดต่อระเบียบของทางราชการ , มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และกฎหมาย ทั้งในขั้นตอนการพิจารณาคัดเลือกผู้มีคุณสมบัติเหมาะสม การจัดหาที่ดิน การประกวดราคา และมีการแก้ไขข้อความในร่างสัญญาที่ผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานอัย การสูงสุดในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ ทำให้ทางราชการได้รับความเสียหาย โดยผู้ที่จะรับประโยชน์คือบริษัท คลองด่านมารีน แอนด์ ฟิชเชอรี่ จำกัด และกิจการร่วมค้า NVPSKG สัญญาโครงการออกแบบรวมก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย ซึ่งเกิดจากการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่มีผลผูกพันกรมควบคุมมลพิษผู้คัดค้าน คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ชี้ขาดให้ผู้คัดค้านชำระเงิน จึงมีเหตุให้เพิกถอนได้ เนื่องจากการบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลปกครองกลางจึงมีคำพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 50/2546 หมายเลขแดงที่ 2/2554 ลงวันที่ 12 ม.ค.2554

ภายหลัง นายประวิตร บุญเทียม โฆษกศาลปกครอง กล่าวอธิบายขั้นตอนหลังจากที่ศาลปกครองกลาง พิพากษาให้เพิกถอนคำชี้ขาดคณะอนุญาโตฯ การชำระค่างวดคดีคลองด่านว่า การมีคำพิพากษาในวันนี้ เป็นไปตามการยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ของ คพ.ที่อ้างว่ามีข้อเท็จจริงใหม่ซึ่งศาลปกครองกลาง ก็ได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า มีข้อเท็จจริงใหม่ที่ฟังได้อย่างไรบ้าง ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลปกครองกลางที่เป็นศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาออกมาใหม่ โดยตามขั้นตอนกฎหมาย คู่ความคือกลุ่มเอกชน ยังสามารถยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลปกครองสูงสุดได้อีกภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำพิพากษา ดังนั้นคดีจึงยังไม่ถือว่าสิ้นสุด

นายประวิตร กล่าวชี้แจงต่อว่า เมื่อคดียังไม่ถึงที่สุด คพ.ยังมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาเดิมของศาลปกครองสูงสุดที่เคยสั่งไว้ ดังนั้น คพ.จะต้องยื่นคำร้ององค์คณะคดีเดิมว่า ขณะนี้ปรากฏข้อเท็จจริงใหม่ตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางในการร้องขอพิจารณาคดีคลองด่านใหม่ ที่ศาลสั่งเพิกถอนคำวินิจฉัยคณะอนุญาโตฯ เพื่อให้องค์คณะคดีเดิมวินิจฉัยว่า จะงดการบังคับคดีต่อไปหรือไม่ อย่างไร โดยศาลก็มีอำนาจวินิจฉัยและสั่งงดการบังคับคดีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ( ป.วิ แพ่ง) มาตรา 289 ขณะที่การวินิจฉัยนั้นกลุ่มเอกชน คู่ความ ก็สามารถยื่นโต้แย้งสิทธิได้ ซึ่งศาลก็จะนำมาพิจารณาประกอบกัน หลังจากนี้ ต้องดูว่า เอกชน คู่ความจะยื่นอุทธรณ์ผลคำพิพากษาใหม่นี้ต่อศาลปกครองสูงสุด เพราะหากไม่มีการอุทธรณ์คำพิพากษาใหม่นี้ คดีจึงจะถึงว่าที่สุด คือ ให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอนุญาโตฯ ที่ คพ. หน่วยงานรัฐ ไม่ต้องชำระเงินใดๆ ตามคำวินิจฉัยของคณะอนุญาโตฯ