กกร.คงคาดการณ์จีดีพีปี 61 โต3.8-4.5% แนะจับตาความผันผวนค่าเงิน

กกร.คงคาดการณ์จีดีพีปี 61 โต3.8-4.5% แนะจับตาความผันผวนค่าเงิน

ประธาน ส.อ.ท. เผย "กกร." คงคาดการณ์จีดีพีปี 61 โต3.8-4.5% แนะจับตาความผันผวนค่าเงิน และผลกระทบมาตรการกีดกันการค้าของสหรัฐฯ

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า กกร.ยังคงกรอบประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2561 ไว้ตามเดิมที่ 3.8-4.5% และการส่งออก ขยายตัว 3.5-6.0% โดยมองว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในต้นปี 61 ยังคงบ่งชี้ถึงแรงส่งของการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่องจากช่วงไตรมาส 4 ปี 60 สะท้อนจากการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวสูงในเดือนม.ค.61 อีกทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้น แม้ว่าจะยังไม่แข็งแรงนักก็ตาม

ขณะที่เป็นที่สังเกตว่า การลงทุนของภาครัฐในช่วงไตรมาส 4 ปี 60 ซึ่งเป็นช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 61 หดตัว 6% สะท้อนเม็ดเงินจากภาครัฐที่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมีความล่าช้า ซึ่งนอกจากจะเป็นผลของการเปรียบเทียบกับฐานที่สูงในปีก่อนหน้าแล้ว ยังเป็นผลมาจากขั้นตอนการเบิกจ่ายภายหลังการบังคับใช้ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่

พร้อมกันที่ ที่ประชุม กกร.เห็นว่า แม้เครื่องชี้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะสะท้อนการเติบโตที่แข็งแกร่ง แต่ค่าเงินดอลลาร์ยังอ่อนค่า เนื่องจากตลาดยังมีปัจจัยกังวลต่อการขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มขึ้นของทางการสหรัฐฯ ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) น่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ โดยคาดว่าจะเริ่มปรับขึ้นในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) วันที่ 20-21 มี.ค.นี้

ในระยะถัดไป กกร.มองว่า นอกจากความผันผวนของค่าเงินที่อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยแล้ว ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตาม คือ ผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมและการค้าของไทย จากการดำเนินมาตรการปกป้องการค้าของสหรัฐฯ และการที่หลายประเทศเศรษฐกิจหลัก เช่น สหภาพยุโรป, แคนาดา, จีน และเกาหลีใต้ อาจจะดำเนินมาตรการตอบโตทางการค้า ซึ่งในที่สุดจะส่งผลกระทบต่อการผลิต-การค้า และราคาของสินค้าต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในตลาดโลก

นอกจากนี้ กกร.มีประเด็นกังวลต่อความคืบหน้าของการลงทุนภาครัฐ ซึ่งที่ผ่านมามีข้อติดขัด จึงต้องการให้ภาครัฐให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ เพราะหากการเบิกจ่ายสามารถทำได้ราบรื่นมากขึ้น จะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนการเข้าถึงและการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากได้

นายเจน ยังกล่าวถึงมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ต่อสินค้าเหล็กและอลูมิเนียมว่า ผลกระทบทางตรงน่าจะทำให้ปริมาณการส่งออกลดลง แต่ที่เป็นห่วงคือผู้ผลิตจะต้องหาตลาดใหม่มาชดเชย อันอาจนำมาสู่การตัดราคาเพื่อแข่งขัน ซึ่งผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต้องติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิดว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นหรือไม่

อย่างไรก็ตาม หากภาครัฐจะมีมาตรการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ คงต้องพิจารณาอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่อยู่ปลายน้ำ ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตเครื่องจักรกล, อุตสาหกรรมก่อสร้าง โดยเฉพาะการนำเข้าเหล็กที่ไม่สามารถผลิตได้เองในประเทศ