ศาลเริ่มพิจารณาคดีลับหลัง 'ทักษิณ' คดีแปลงค่าสัมปทานฯรัฐสูญ6.6หมื่นล.

ศาลเริ่มพิจารณาคดีลับหลัง 'ทักษิณ' คดีแปลงค่าสัมปทานฯรัฐสูญ6.6หมื่นล.

ศาลฎีกานักการเมือง เริ่มพิจารณาคดีลับหลัง "ทักษิณ" คดีแปลงค่าสัมปทานกิจการโทรคมนาคม ตามกฎหมายใหม่ ทำให้รัฐเสียหาย6.6หมื่นล้าน "ทักษิณ" ไม่มา สั่งออกหมายจับใหม่ - นัดตรวจพยานหลักฐาน 10 ก.ค.นี้

ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถนนแจ้งวัฒนะ วันที่ 6 มี.ค.61 เวลา 10.00 น. นายไพโรจน์ วายุภาพ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา และอดีตประธานศาลฎีกา เจ้าของสำนวน พร้อมด้วยองค์คณะผู้พิพากษา 9 คนคดีแปลงสัมปทานกิจการโทรคมนาคม คดีหมายเลขดำ อม.9/2551 ได้ออกบัลลังก์นั่งพิจารณาคดีครั้งแรก

ภายหลังนายเข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุด โจทก์ มอบอำนาจให้อัยการสำนักงานคดีพิเศษ ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 21 พ.ย. 60 ขอให้ศาลพิจารณานำคดีที่ได้ยื่นฟ้อง “นายทักษิณ ชินวัตร” อายุ 69 ปี อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 เป็นจำเลยตั้งแต่วันที่ 11 ก.ค.51 ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทาน หรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว, เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใดเข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อประโยชน์สำหรับตัวเอง หรือผู้อื่น , เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152,157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4 ,100 ,122 กรณีแปลงค่าสัมปทานกิจการโทรคมนาคม เป็นภาษีสรรพาสามิต ด้วยการตราพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพาสามิต ( พ.ศ.2527) พ.ศ.2546 เอื้อประโยชน์ธุรกิจบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ทำให้รัฐเสียหาย 6.6 หมื่นล้านบาท เมื่อปี 2551

ซึ่งเคยถูกจำหน่ายออกจากสารบบความชั่วคราวเพราะตัวจำเลยหลบหนีคดีโดยจำเลยถูกออกหมายจับตามขั้นตอนไปแล้ว ขึ้นมาพิจารณาต่อไป ตามกระบวนพิจารณา มาตรา 28 พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (วิ อม.) ฉบับใหม่ พ.ศ.2560 ที่มีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งบัญญัติว่า เมื่อสำเนาคำฟ้องให้จำเลยทราบโดยชอบแล้วจำเลยไม่มาศาลและได้ออกหมายจับแล้ว ถ้าไม่สามารถจับจำเลยได้ภายใน 3 เดือนนับแต่ออกหมายจับ ให้ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีได้โดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย แต่ไม่ตัดสิทธิจำเลยที่จะตั้งทนายความมาดำเนินการแทนตนได้ และไม่ตัดสิทธิจำเลยที่จะมาต่อสู้คดีเมื่อใดก็ได้

ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา โดยองค์คณะ 9 คนซึ่งประกอบด้วย นางอุบลรัตน์ ลุยวิกกัย รองประธานศาลฎีกา 1 , นายธนสิทธิ์ นิลกำแหง รองประธานศาลฎีกา คนที่ 2 , นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ รองประธานศาลฎีกา คนที่ 3 , นายโสภณ โรจน์อนนท์ รองประธานศาลฎีกาคนที่ 4 , นายวิชัย เอื้ออังคณากุล รองประธานศาลฎีกาคนที่ 5 ,นายพิศล พิรุณ ประธานแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา , นายไพโรจน์ วายุภาพ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา และอดีตประธานศาลฎีกา, นายประทีป เฉลิมภัทรกุล ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา , นายดิเรก อิงคนินันท์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา และอดีตประธานศาลฎีกา เมื่อถึงเวลานัด อัยการโจทก์ เดินทางมาศาล ขณะที่ฝ่ายจำเลยไม่มีผู้ใดมาศาลและไม่มีการแต่งตั้งทนายความ สู่กระบวนพิจารณาคดี โดยก่อนหน้านี้ ศาลได้สำเนาฟ้องและปิดหมายที่บ้านพัก ย่านจรัญสนิทวงศ์ ของจำเลยให้ทราบแล้ว องค์คณะพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า นัดพิจารณาคดีครั้งแรก อัยการโจทก์มาศาล โดยโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ฟ้องในวันนี้

ส่วนจำเลยทราบนัดโดยชอบ แต่ไม่เดินทางมาและไม่แจ้งเหตุขัดข้องหรือขอเลื่อนนัดพิจารณาคดี จึงให้ออกหมายจับจำเลย โดยให้อัยการ โจทก์ ติดตามดำเนินการจับกุมจำเลยและรายงานให้ศาลทราบทุกๆ 1 เดือน

และเมื่อจำเลยไม่เดินทางมาศาล ถือว่าจำเลยให้การปฏิเสธ จึงนัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 10 ก.ค.นี้. เวลา 09.30 น. และให้แจ้งนัดให้จำเลยทราบตามที่อยู่ทะเบียนราษฎร์ที่แจ้งไว้ย่านจรัญสนิทวงศ์ หากไม่มีผู้รับให้ติดหมายนัดที่บ้านพักจำเลย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับหมายจับให้มาฟังพิจารณาคดีที่ศาลออกให้วันนี้ เป็นหมายจับที่ออกใหม่ เนื่องจากเป็นการเริ่มเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีตามกฎหมายใหม่ โดยที่หมายจับใบเดิมในคดีนี้ศาลยังไม่ได้มีคำสั่งยกเลิกและยังไม่ถือว่าหมดอายุความ

ทั้งนี้ นอกจากคดีดังกล่าวแล้ว ยังมีคดีที่อัยการสูงสุดและป.ป.ช. ในฐานะโจทก์ยื่นฟ้องคดี และยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีลับหลังจำเลยตามวิ.อม.ใหม่ อีก 3 สำนวน ประกอบด้วย คดีทุจริตปล่อยกู้ธนาคารกรุงไทย, คดีทุจริตการปล่อยกู้เอ็กซิมแบงค์ และคดีหวยบนดิน

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับคำฟ้องคดีนี้ อัยการ ระบุพฤติการณ์สรุปว่า ระหว่างวันที่ 9 ก.พ. 44 – วันที่ 19 ก.ย. 49 จำเลยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาลมีอำนาจหน้าที่กำกับโดยทั่วไปในการบริหารราชการแผ่นดิน รวมทั้งการสั่งราชการที่เกี่ยวข้องกับภาษีสรรพสามิต ผ่านทาง รมว.คลัง และที่เกี่ยวข้องกับทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารผ่าน รมว.ไอซีที ได้ปฏิบัติหรือและเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียในกิจการโทรคมนาคมด้วยการกระทำการ สั่งการตามอำนาจหน้าที่ให้มีการแปลงค่าสัมปทานในกิจการโทรคมนาคมให้เป็นภาษีสรรพสามิตเพื่อประโยชน์แก่ธุรกิจของ บมจ.ชินคอร์ปฯ โดยค่าสัมปทานดังกล่าว บมจ.แอดวานซ์ฯ บมจ.ดิจิตอลโฟนฯ ที่ บมจ.ชินคอร์ปฯ ถือหุ้นใหญ่ มีหน้าที่ต้องชำระให้แก่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท.โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) โดยจำเลยมอบนโยบายและสั่งการให้ออก พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2546 พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 พ.ศ.2546 ประกาศกระทรวงการคลังเรื่องลดอัตราและยกเว้นภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 68 ) ลงวันที่ 28 ม.ค.46 และมติ ครม. วันที่ 11 ก.พ.46 กรณีที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากกิจการโทรคมนาคม และให้นำค่าสัมปทานหักกับภาษีสรรพสามิต โดยการกระทำดังกล่าวทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ , กระทรวงการคลัง , กระทรวงไอซีที , บมจ.ทีโอที และบมจ.กสท. รวมทั้งบริษัทอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยทำให้ บมจ.ทีโอที และบมจ.กสท.ที่เป็นคู่สัญญานำค่าภาษีสรรพสามิตมาหักออกจากค่าสัมปทาน ทำให้เสียหายจำนวน 41,951.68 ล้านบาท และจำนวน 25,992.08 ล้านบาท

นอกจากนี้จำเลยไม่กำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในกิจการดาวเทียม ทั้งที่เป็นกิจการโทรคมนาคม และเป็นกิจการที่ บมจ.ชินคอร์ปฯ ได้รับสัมปทานจากรัฐเช่นเดียวกับโทรศัพท์พื้นฐานและโทรศัพท์เคลื่อนที่ จึงถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมายและเป็นการใช้อำนาจของจำเลยในฐานะนายกรัฐมนตรีโดยไม่สุจริต เหตุตามฟ้องเกิดที่แขวง-เขตดุสิต และ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กทม.โดยสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ.ทีโอที มีหนังสือลงวันที่ 29 พ.ย.49 ถึงประธานคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ตรวจสอบการตรา พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราสรรพสามิต ดังกล่าว ซึ่งดำเนินการโดยรัฐบาล ที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่ง คตส.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน ได้รวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ แล้วเห็นว่า พยานหลักฐานที่ตรวจสอบมาพอที่จะแจ้งข้อกล่าวหากับ พ.ต.ท.ทักษิณ ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ให้บุคคลอื่นเป็นผู้ถือหุ้นแทนใน บมจ.ชินคอร์ปฯ ซึ่งเป็นบริษัทที่รับสัมปทานจากรัฐ เป็นการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.ฯ ม.100, 122 และ เป็นความผิด ตาม ป.อาญา ม.152 และ 157 จึงเสนอ คตส.ซึ่งได้มีมติให้แจ้งข้อกล่าวหาให้จำเลยทราบแล้วต่อมาจำเลยได้ชี้แจงข้อกล่าวหาโดยให้การปฏิเสธโดยระหว่างไต่สวนจำเลยไม่ถูกควบคุมตัว