นวัตกรรมวิจัย สอยจากหิ้งขึ้นห้าง

นวัตกรรมวิจัย สอยจากหิ้งขึ้นห้าง

กว่า 80 ปีของธุรกิจแปรรูปแป้งข้าวเจ้าเป็นเส้นหมี่ เส้นก๋วยเตี๋ยวและผลิตภัณฑ์อื่นๆ อาศัยการวิจัยวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือต่อยอดธุรกิจขยับสู่ตลาดเครื่องสำอางออร์แกนิคจากแป้งข้าว ปลอดภัยกับผู้ใช้ 100% แถมยังย่อยสลายไปตามธรรมชาติ

“ผลิตภัณฑ์จากการวิจัยและพัฒนานั้น เราไม่รู้เลยว่าจะขายได้หรือไม่ เพราะเป็นของใหม่ในตลาด ยังไม่รู้ว่าจะเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคหรือไม่ ภาคเอกชนเองก็ต้องมอง Unmet Need และสร้างผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่สามารถจูงใจให้เกิดความต้องการขึ้นมา” วาทิน วงศ์สุรไกร กรรมการผู้จัดการบริษัท เนอเชอร์แคร์ จํากัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายแป้งข้าวแบรนด์ไร้ซแคร์ (ReisCare) และแป้งเครื่องสำอางแบรนด์ เลดี้ ออเดรย์ (Lady Audrey) กล่าว

โจทย์จากข้าวไทย

วาทินเป็นทายาทรุ่น 2 ของธุรกิจโรงเส้นหมี่ ชอ เฮง เดินหน้าแปรรูปเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบแป้งข้าว โดยเริ่มจากเรื่องง่ายๆ สู่ขนมจีนเส้นสด สปาเก็ตตี้จากข้าว กระทั่งเกิดไอเดียที่จะพัฒนาแป้งฝุ่นทาตัวจากแป้งข้าวทดแทนแป้งทาตัวที่มีสารอนินทรีย์

มีงานวิจัยบ่งชี้ว่า สารเคมีในแป้งฝุ่นอาจเกิดสารตกค้างที่ก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจ ในขณะที่อุตสาหกรรมแป้งทาตัวในต่างประเทศมีความเปลี่ยนแปลงโดยเปลี่ยนมาใช้วัตถุดิบธรรมชาติ เช่น แป้งข้าวโพด จึงคิดว่า ข้าวไทยก็น่าจะสามารถทำได้

ผลจากการวิจัยและพัฒนาของบริษัท ทำให้ได้แป้งทาตัวที่ผลิตจากแป้งข้าวเจ้า โดยมีขนาดโมเลกุลเล็กกว่าแป้งจากวัตถุดิบอื่นๆ จึงมีเนื้อเนียนละเอียด ป้องกันความเปียกชื้นและดูดซับความมันได้ดี ไม่เกิดการตกค้างสะสมในปอด

ผลการตอบรับของไร้ซแคร์ดีมาก กระทั่งเดินหน้าสู่ตลาดส่งออกแล้วก็พบความท้าทายใหม่ นั่นคือ คนต่างประเทศใช้แป้งทาตัวน้อยกว่าที่คิด แต่เจอพันธมิตรที่จุดประกายถึงดีมานด์การใช้แป้งข้าวทดแทนสาร PMMA ที่นิยมใช้ลดความเหนียวเหนอะของเนื้อครีมในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางที่เป็นตลาดขนาดใหญ่

เนอเชอร์แคร์เป็นผู้ประกอบการที่ทำเองตั้งแต่ต้นจนจบ รวมถึงการวิจัยและพัฒนา ในขณะเดียวกัน นักวิจัยก็มองเห็นโอกาสที่จะหยิบงานวิจัยไปต่อจนถึงผู้บริโภค ด้วยโจทย์สำคัญที่ ผศ.โสภาค สอนไว อาจารย์ภาควิชาเทคโนโลยีอาหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า ต้องเกิดจากความสนใจของนักวิจัยเอง ผสานกับการมองความต้องการของตลาดและผู้บริโภคให้ออก

ยกตัวอย่างเรื่องไขมันทรานซ์ ที่เมื่อ 10 ปีก่อนยังไม่เป็นที่พูดถึง แต่มองเห็นแนวโน้มและทำงานวิจัยหาสิ่งทดแทนไขมันทรานซ์ จนถึงปัจจุบันที่กระแสโลกมุ่งให้ความสำคัญกับสุขภาพ ผลงานวิจัยเนยโกโก้เลียนแบบ หรือเนยโกโก้เทียมจากน้ำมันเมล็ดมะม่วงแก้ว จึงถูกนำมาปัดฝุ่นและผลักดันเข้าสู่กระบวนการต่อยอดเชิงพาณิชย์ในที่สุด

เช่นเดียวกับผลงานของ ศ.พิชญ์ ศุภผล อาจารย์วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่หาโจทย์วิจัยจากผู้บริโภคหรือกลุ่มเป้าหมาย เพื่อหาข้อจำกัดจากของที่มีอยู่แล้วในตลาด มาพัฒนานวัตกรรมที่ดีกว่าและตอบโจทย์ผู้ใช้มากกว่า