เจาะแพลตฟอร์ม มหาอำนาจออร์แกนิค

เจาะแพลตฟอร์ม มหาอำนาจออร์แกนิค

BIOFACH ใช้เวลา 27 ปีกว่าจะก้าวเป็นผู้นำ งานแฟร์ออร์แกนิคใหญ่ที่สุดในโลก ดึงกลุ่มธุรกิจกว่า 3 หมื่นราย ส่งผ่านไลเซ่นส์ยกงานมาสู่ไทย ปักธงปั้น “ฮับ ออร์แกนิค” อาเซียน

เทรนด์ใส่ใจสุขภาพเป็นหนึ่งในความต้องการของมนุษย์ทุกคนที่อยากมีอายุยืนยาว จึงหันมากินคลีน (Clean) นี่คือตลาดของคนยุคใหม่ที่เติบโตขึ้นทุกปี ปลุกโมเดลธุรกิจ และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ล้วนมุ่งเจาะตลาดนี้ เพื่อโหนกระแสโตไปพร้อมกัน 

เช่นเดียวกันกับงานแสดงสินค้าเฉพาะด้านอย่างเกษตรอินทรีย์ (Organic) ตลาดย่อยเซ็กเมนท์เล็กๆแทรกตัวอยู่ในเมืองเก่าแก่อย่าง “เนิร์นแบร์ก” (Nurnberg) ไม่มีใครจะคิดว่า งานแฟร์ที่เริ่มต้นเมื่อประมาณ 27 ปี ที่ผ่านมา ใสชื่อ “เนิร์นแบร์ก แมสเซ่” (Nurnberg Messe) จะกลายเป็นแบรนด์ งานแฟร์ออแกนิคที่แข็งแกร่ง เป็นศูนย์กลางการรวบรวมผลิตภัณฑ์ เจรจาการค้า องค์ความรู้และเทรนด์ด้านออร์แกนิคครบวงจร ที่มีชื่อเสียง กระจายไปจัดงานใน 6 ประเทศทั่วโลก 

ล่าสุดกำลังจะ ปักหมุด” ในอาเซียน โดยใช้ไทยเป็นหมุดหมายที่ 7 ของงานแฟร์ออร์แกนิคโลก !

มาร์คุส รีทซ์ ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายงานสินค้าระหว่างประเทศ บริษัท เนิร์นแบร์ก แมสเซ่  กลุ่มผู้นำด้านการจัดงานแฟร์สินค้าออร์แกนิค หรือ BIOFACH ประเทศเยอรมนี ตลาดออร์แกนิคที่กำลังขยายใหญ่เติบโต ไม่ต่ำกว่า 15-20% กล่าวว่า กลยุทธ์ความสำเร็จในงานจัดงาน เริ่มต้นที่ความตั้งใจ ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่มีแนวทางของออร์แกนิคล้วนๆ เน้นให้ความรู้ สาระ พื้นฐานการทำออร์แกนิค ตั้งแต่การผลิต และค้าเกษตรอินทรีย์ครบวงจร งานไม่ได้เริ่มต้นจากการเปิดบูทขายสินค้า แต่ในที่สุดเมื่อรวมพล และความรู้ในแวดวงมากขึ้น ความแข็งแกร่งของฐานตลาดออร์แกนิคก็มีสเกลใหญ่ขึ้น จนงานนี้กลายเป็นงานที่จุดประกายเทรนด์ออร์แกนิคล้ำๆของโลก 

หากมองหาสินค้าออร์แกนิค ที่ได้รับมาตรฐานแท้ๆ แพลตฟอร์มงานแฟร์ออร์แกนิค ของบิโอฟาคจึงเป็นงานเทรดแฟร์ ที่ตอบโจทย์ตรงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างลงตัว

รูปแบบความสำเร็จของงานแฟร์ ยังไม่ได้อยู่ที่การจัดงานแสดงสินค้าเพียงอย่างเดียว แต่ยังอยู่ที่การพัฒนาฟอรัมการให้ความรู้กับคนแวดวงออร์แกนิค ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ รวบรวมทั้งคลัสเตอร์เกี่ยวกับออร์แกนิคเข้ามาอยู่ในงานเดียว ประกอบด้วย เทคโนโลยีการเพาะปลูก และนวัตกรรมต่างๆ การวิเคราะห์ตลาด พฤติกรรมผู้บริโภค และกลยุทธ์การสื่อสาร การออกแบบบรรจุภัณฑ์ รวมถึงการพูดถึงเทรนด์โลก ปรัชญาการทำเกษตรอินทรีย์ วัฒนธรรม รวมถึงการศึกษา ที่นำไปสู่การสร้างฐานตลาดที่แข็งแรงกว่าเพียงแค่กระแส 

อาจกล่าวได้ว่า งานนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นผู้นำเทรนด์ออร์แกนิคโลก ที่ดึงคนในแวดวงออร์แกนิคทุกด้านของวงการออร์แกนิคเข้าร่วมงาน มาเจอพันธมิตร ลูกค้า นักลงทุน เปิดเจรจาการค้าด้านออร์แกนิค ได้ตรงกับความต้องการที่สุด

“เราทำให้โลกออร์แกนิค อาหารปลอดภัยมีคุณค่า ไม่ได้เป็นเรื่องอุดมคติ แต่ทำให้ตลาดเกิดขึ้นจริง ขับเคลื่อนทั้งองคาพยพ มีผู้ผลิต ผู้ซื้อและผู้ค้า รวมถึงผู้บริโภค นักวิชาการ มาให้ความรู้พูดถึงกระแสออร์แกนิค มารวมอยู่ในจุดเดียว เป็นจุดเริ่มต้นของการขยายวงไปทั่วโลก” มาคุส รีทซ์ ให้มุมมอง 

ปัจจุบันตลาดผู้บริโภคสินค้าออร์แกนิคยังเติบโตรวดเร็ว โดยมีมูลค่าตลาดรวม 110,000 ล้านดอลลาร์ แยกเป็นตลาดสหรัฐ 50,000 ล้านดอลลาร์ ยุโรป 40,000 ล้านดอลลาร์ ที่เหลือเป็นตลาดในภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งคิดเป็นตัวเลขแค่ 1% หากเทียบกับตลาดอาหารทั่วไปที่ยังไม่ใช่ออร์แกนิค

เขายังเห็นว่า ในอนาคตออร์แกนิคจะค่อยๆกินส่วนแบ่งทางการตลาด (Market share) ของอาหารทั่วไปมากขึ้นเรื่อยๆตามเทรนด์โลก เช่นเดียวกับงานแฟร์แห่งนี้ ที่มีพื้นที่ขยายใหญ่ขึ้นทุกปี โดยปีนี้จัดระหว่าง 14-17 ก.พ.2561 มีกลุ่มงานแฟร์ออร์แกนิคกว่า 20 สาขา ตัวแทนจาก 140 ประเทศเข้าร่วม

งานบิโอฟาค ไม่ได้มีแค่นูเรมเบิร์ก เป็นศูนย์กลางเพียงงานเดียว แต่ขยายแพลตฟอร์มไปนอกภูมิภาค ที่ตลาดออแกนิคเริ่มขยายวงกว้างขึ้น โดยปัจจุบันมี 6 แห่งทั่วโลก ประกอบด้วย เยอรมนี สหรัฐ บราซิล จีน อินเดีย ญี่ปุ่น และกำลังจะจัดขึ้นในไทยเป็นแห่งที่ 7 ของโลก เขาย้ำ 

นอกจากนี้ สิ่งที่เพิ่มเติมในงานแฟร์ดังกล่าว คือ การเชื่อมต่อกับเทคโนโลยีดิจิทัล นวัตกรรมและเทคโนโลยี การบริหารจัดการการ เพื่อพัฒนาธุรกิจ รวมถึงนวัตกรรมอาหารที่เชื้อเชิญให้คนในวงการออร์แกนิคต้องตื่นตัวมาเกาะติดเทรนด์และเทคโนโลยีใหม่ของโลกออร์แกนิค

สอดคล้อง กับเทรนด์ใหม่ในยุคนี้ที่เป็นยุคของเจนเนอเรชั่นใหม่ โมเดลธุรกิจใหม่ และสตาร์ทอัพ ซึ่งกลุ่มคนรุ่นใหม่ สนใจเทรนด์สุขภาพ และธุรกิจอย่างยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ฟอรัมในปีนี้ ถึงพูดถึงกลุ่มเจนเนอเรชั่นใหม่ ที่เป็นความหวังของการพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่จากกลุ่มธุรกิจออร์แกนิคในรูปแบบต่างๆ โดยนำความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของคนรุ่นใหม่เข้ามาสร้างสรรค์ นำเทรนด์ออร์แกนิคเข้าไปสู่คนในวงการกว้างขึ้น 

สำหรับความร่วมมือระหว่าง เนิร์นแบร์ก กับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ในการจัดงาน “Organic Expo-BIOFACH Southeast Asia และ Natural EXPO Southeast Asia ในไทยที่กำลังจะเกิดขึ้นครั้งแรกในเดือน ก.ค.ปีนี้ ถือเป็นครั้งแรกในการนำแพลตฟอร์มดังกล่าวเข้ามาในไทย หลังจากเนิร์นแบร์ก เข้ามาศึกษาตลาด และเห็นพัฒนาการการเติบโตอย่างรวดเร็วตั้งแต่ 3 ปีที่ผ่านมา

มาคุส มองว่า การจัดงาน BIOFACH ในไทย ซึ่งเป็นตลาดอันดับ4 ที่ในเอเชีย โดยเอเชียเป็นตลาดที่กำลังเติบใหญ่ แม้สัดส่วนในตลาดโลกจะน้อยไม่ถึง 10% ของตลาดออร์แกนิคทั่วไป แต่เป็นทิศทางที่เติบโตอย่างรวดเร็วเพราะมีภาคการผลิตที่พร้อม จึงต้องการผลักดันให้ไทยเป็น ศูนย์กลางแห่งออร์แกนิคอาเซียน” หลังจากเห็นการจัดงานด้านสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ (Natural) พบว่ามีการเติบโตขึ้นเกินกว่า 100% ในทุกๆ ปี ตลาดออร์แกนิคในไทยจึงมีช่องว่างอีกมาก 

สุทัศนีย์ ราชเรืองระบิน รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เผยว่า การผลักดันสินค้าออร์แกนิคของไทยให้เติบโต จะดำเนินการผ่าน 4 ยุทธศาสตร์หลัก คือ การสร้างการรับรู้ พัฒนาคุณภาพมาตรฐาน เชื่อมโยงมาตรฐานไทยกับต่างประเทศ และสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าและบริการ

โดยเริ่มต้นจากสร้างการรับรู้ เผยแพร่ให้คนเข้าใจตระหนักถึงความสำคัญสินค้าออร์แกนิค ที่ได้รับการยอมรับมีคุณสมบัติอย่างไร แตกต่างกับสินค้าที่เป็นธรรมชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มเริ่มต้นการพัฒนาอย่างไร

“กระทรวงพาณิชย์มีหน้าที่ให้ความรู้ความเข้าใจกับกลุ่มผู้บริโภค ซึ่งเมื่อผู้บริโภคเข้าใจความแตกต่าง และคุณค่าของสินค้าออแกนิค และเมื่อสร้างการรับรู้ให้ขยายวงกว้างก็จะเกิดความต้องการตามมา”

การพัฒนาด้านมาตรฐานและเครื่องหมายรับรอง ยกระดับเครื่องหมายในประเทศไทยให้ได้รับการยอมรับในระดับสากล เทียบเท่ากับมาตรฐานในต่างประเทศที่ปัจจุบัน โดยทั่วไปใช้ 3-4 มาตรฐาน คือ IFOAM  ยุโรป และแคนาดา รวมถึงสหรัฐ เพื่อเป็นการรับรองเมื่อมีผู้ค้าจากต่างประเทศเข้ามาในงานสามารถสั่งซื้อได้ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน โดยไม่ต้องขอมาตรฐานเพิ่ม หากมาตรฐานไทยได้รับการยอมรับในต่างประเทศ แต่ปัจจุบันจำเป็นต้องขอมาตรฐานรับรองในแต่ละตลาด เมื่อส่งออกไปตลาดเป้าหมาย

การขยายตลาดและเชื่อมโยงตลาด โดยการจัดงานแสดงสินค้า หรือจัดโรดโชว์สร้างการรับรู้ เชื่อมต่อกับการท่องเที่ยว เช่น การประกาศเป็นหมู่บ้านเกษตรอินทรีย์ ก็เข้าไปพัฒนาต่อยอด รวมถึงการจัดงานแสดงสินค้าก็เป็นการสร้างเครือข่ายกลุ่มผู้ผลิตและผู้ค้าในอาเซียน ที่สามารถเชื่อมต่อการพัฒนาและยกระดับการผลิตรวมถึงเป็นคลัสเตอร์ร่วมกันได้

ขณะเดียวกัน ยกระดับหมู่บ้านที่มีความพร้อมด้านสินค้าออร์แกนิค ให้เป็นสถานีเพื่อการเรียนรู้ และเชื่อมโยงกันกับการท่องเที่ยว โดยประกาศเป็นหมู่บ้านเกษตรอินทรีย์เพิ่มอีก 4 แห่งรวมเป็น 12 แห่งภายในปี 2561 ยังเพิ่มช่องทางการการจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ อีก 4 แห่ง จากเดิมมี 15 แห่งรวมเป็น 19 แห่ง

โดยแผนการพัฒนายุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์ วางเป้าหมายการพัฒนาเป็นระยะเวลา 5 ปี (ปี 2560-2564) ที่จะเพิ่มผู้ประกอบการสินค้าออร์แกนิคเพิ่มเป็น 600 ราย มีมูลค่าเติบโตปีละ 20% เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มีมูลค่าปีละ 2,700 ล้านบาท แบ่งเป็น ตลาดในประเทศ 30% ที่เหลือเป็นตลาดต่างประเทศ โดยในประเทศมีมูลค่า 800 ล้านบาท ขณะที่ต่างประเทศมีมูลค่า 1,900 ล้านบาท  โดยวางเป้าหมายขยายมูลค่าตลาดเพิ่มเป็นอีกเท่าตัว หรือมูลค่า 5,400 ล้านบาท ภายใน 5 ปี หรือปี 2564

การจัดงานแสดงสินค้าโดยนำงานแฟร์ออร์แกนิคระดับโลกบิโอแฟคเข้ามาในไทย บนพื้นที่ 9,000 ตรม.ในปีแรกนี้ จะทำให้ผู้ซื้อ จากต่างประเทศเข้ามากระตุ้นตลาด และกระตุ้นเกษตรกร ผู้ผลิตในประเทศให้ใกล้ชิดกับตลาดขนาดใหญ่ ที่กำลังเป็นผู้นำเทรนด์ ออร์แกนิคโลก ซึ่งจะส่งผลทำให้ยกระดับมาตรฐานการผลิตของไทยเป็นที่ยอมรับได้อย่างรวดเร็วขึ้นในอนาคต

----------------------

ปฏิวัติธุรกิจสีเขียว

วิเวียน วูล์ฟ ผู้จัดการด้านการสื่อสาร เนิร์นแบร์ก เมสเซ่ ถือเป็นแพลตฟอร์มออร์แกนิค ผู้นำระดับโลกด้านที่ขยายแพลตฟอร์มไปต่างประเทศก็มีผู้สนใจจำนวนมากไม่ต่างกัน ทั้งในจีน ญี่ปุ่น สหรัฐ บราซิล อินเดีย มีผู้เข้าร่วมจัดงานกว่า 3,700 ราย ดึงคนเข้าชมงานได้กว่า 1 แสนกัน ถือเป็นขนาดที่ได้รับความสนใจไม่แพ้กัน 

ไม่เพียงงานแสดงสินค้าที่ได้รับความสนใจ หัวข้อจัดสัมมนาที่มีกว่า 120 ฟอรัมหรือ ออร์แกนิค เวิรลด์ คองเกรส (Organic World Congress) มีคนเข้าร่วมกว่า 8,000 คน ปีนี้จัดภายใต้ธีม “Next Generation” เพราะเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่จะเปิดตลาด สร้างกระแสนำออแกนิคไปสู่เทรนด์ใหม่ได้อย่างรวดเร็วผ่านแนวคิด วิถีชีวิต การทำงานและธุรกิจชองพวกเขา ที่จะเชื่อมต่อแนวคิดออแกนิครุ่นไปสู่คนรุ่นใหม่ได้ เมื่อให้เวทีพวกเขาได้แลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์คนรุ่นใหม่กับคนรุ่นก่อน 

สิ่งที่เป็นความท้าทายของยุคปัจจุบันคือการเติบโตของประชากรโลกที่สูงขึ้น 9,000 ล้านคนในปี 2050 โลกจึงเสี่ยงเรื่องความมั่นคงทางอาหาร การกระจายรายได้ ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรน้ำ และดิน รวมถึงสภาพอากาศ 

เทรนด์การทำเกษตรในยุคอนาคตจึงต้องสร้างสร้างคุณค่าและมูลค่าทั้งซัพพลายเชน เพื่อสร้างสมดุลให้โลก และสังคม และคน ให้อยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน ออร์แกนิคจึงเป็นคำตอบของการปฏิวัติเศรษฐกิจสีเขียวแห่งอนาคตของโลก ที่ต้องมีการพัฒนาโดยใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เข้ามาศึกษาเรื่องผลผลิตทางการเกษตร และส่งผลไปสู่สุขภาพของผู้บริโภค 

กลยุทธ์ในการกระตุ้นตลาดให้เติบโต ที่ IFOAM ใช้จึงเน้นเรื่องการผลักดันมุมมองการสร้างความยั่งยืนให้เป็นกระแสหลัก ใน 3 ด้านคือ พัฒนาผู้ผลิตด้วยการบริหารจัดการห่วงโซ่คุณค่า กระตุ้นความต้องการตลาดด้วยการสื่อสารให้ตระหนักถึงความท้าทายของโลกในยุคปัจจุบัน ทั้งโลกร้อน สุขภาพ และอาหารปลอดภัย สนับสนุนให้ผู้ที่มีบทบาทต่อการกำหนดนโยบายทั้งภาครัฐและเอกชน หันมามุ่งเน้นเรื่องการทำธุรกิจและการผลิต รวมถึงการบริโภค ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

-----------------------------------

ชิงดาวเด่นออร์แกนิคอาเซียน

พีรโชติ จรัญวงศ์ นายกสมาคมการค้าอินทรีย์ไทย เล่าถึงวิวัฒนาการของเกษตรอินทรีย์ไทย (ออร์แกนิค) เริ่มตั้นตั้งแต่ปี 2533 ซึ่งเริ่มต้นจากกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ภายใต้เครื่องหมายการรับรองมาตรฐานระบบเกษตรอินทรีย์ (มกท.) หรือ ACT-Organic Agriculture Certification of Thailand ที่ถือว่าเป็นมาตรฐานเอกชนไทยที่ได้รับการยอมรับในระดับต่างประเทศ ส่งออกได้ จนกระทั่งภาครัฐเข้ามาเริ่มพัฒนาและสร้างมาตรฐาน และมีแผนพัฒนาด้านสินค้าเกษตรอินทรีย์แห่งชาติในปี 2551 และล่าสุดในปี 2560-2564 มีแผนยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์  นี่คือพัฒนาการสำคัญที่ไทยเริ่มเป็นดาวเด่นด้านนี้


สำหรับการจัดงานแสดงสินค้าเกษตรอินทรีย์ และงานแสดงสินค้าธรรมชาติ (Organic and Natural Expo) ในปี 2011 ซึ่งในยุคเริ่มต้นไทยยังเวทีสำหรับสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่เพิ่งเริ่มต้นจึงเปิดโอกาสให้กลุ่มสินค้าที่ไม่ได้รับการรับรองก็จะใช้คำว่า ธรรมชาติ หรือ Natural เข้ามาเริ่มต้นไปพร้อมกัน จนกระทั่งได้รับความสนใจจากความร่วมมือระดับโลกในไทยให้เกิดการจัดงาน BIOFACH 2018 ระหว่างวันที่ 12-15 ก.ค.2561

“งานแรกๆ ไทยถูกจัดขึ้นในรูปแบบแค่การรวมพลคนออร์แกนิค จนกระทั่งเริ่มมีการขยายจำนวนสินค้าออร์แกนิค”


ไทยถูกเลือกเป็นประเทศที่ 7 จากเนิร์นแบร์ก เมสเซ่ ผู้จัดงานด้านออร์แกนิคที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยการดึงธุรกิจในแวดวงออร์แกนิคมีบทบาททำให้ออร์แกนิคไทยเติบโตได้แรงผลักความต้องการของผู้บริโภคและจากเทรนด์ตลาดต่างประเทศ มาปลุกการตื่นตัวของผู้บริโภคตลาดภายในประเทศ

“ผู้บริโภคที่เริ่มตื่นตัวยอมจ่ายค่าอาหารในราคาที่แพงกว่า หรือจะยอมไปจ่ายค่ารักษาพยาบาลในราคาแพงในอนาคต นี่เป็นการจุดประกายทำให้ตลาดเกษตรอินทรีย์เริ่มเกิดความต้องการจากผู้บริโภคเป็นคนเลือก”

สาเหตุที่ไทยถูกเลือกเพราะด้านความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางอาเซียน และมีภาครัฐสนับสนุน โดยมีจุดเริ่มต้นของงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับออร์แกนิค ที่งานออร์แกนิคจากเนิร์นแบร์กมาต่อยอดได้ทันที รวมถึงความพร้อมในการสมดุลของตลาดที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นและยังแวดล้อมไปด้วยประเทศผู้ทำเกษตรกรรมอย่าง เวียดนาม ลาว กัมพูชา และเมียนมา ที่มีแหล่งผลิตแต่ยังขาดความต้องการด้านการตลาด


“เขาเล็งไทยไว้อยู่แล้ว เมื่อสมาคมฯเข้าไปหารือตั้งแต่ปี 2015 ใช้เวลา 2-3ปีก่อนลงนามความร่วมมือกับกรมการค้าภายใน ให้จัดงานในปี 2018 ”

นี่จึงเป็นจุดแข็งที่ไทยเหนือกว่าประเทศที่มีความต้องการสูงอย่าง สิงคโปร์ และมาเลเซีย ซึ่่งมีจุดแข็งเพียงการตลาดนำ แต่ยังขาดการผลิต จึงเป็นประเทศนำเข้า ขณะที่ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย เป็นประเทศผู้ผลิต แต่ภาครัฐไม่ได้สนับสนุนด้านการตลาดรวมถึงการจัดงานเหมือนไทย
ไทยจึงมีแต้มต่อได้รับความสนใจให้เป็นศูนย์กลางจัดงานในอาเซียน เพราะเป็นทั้งตลาด แหล่งผลิต และภาครัฐสนับสนุน

ปีนี้ถือเป็นปีแรกที่ไทยได้ช่วงชิงความได้เปรียบในการจัดงานออร์แกนิคระดับโลกในไทยและใช้ไทยเป็นศูนย์กลางในอาเซียน ที่ไทยจะก้าวขึ้นเป็นผู้นำออร์แกนิค เพราะการที่ไทยมีชื่อในการจัดงานแฟร์ “บิโอฟาค แบงค็อก” จะทำให้ชื่อนี้ไปติดอยู่ในหู ของผู้ผลิต ผู้ค้าและผู้ซื้อในเครือข่ายออร์แกนิคทั่วโลก


สิ่งที่ต้องพึงระวัง และป้องกันการเสียโอกาสไปตกไปอยู่ในมือชาติอื่นในปีถัดไปหากทำไม่ดี ในปีแรกจึงเป็นปีที่ไทยจึงต้องแสดงความเป็นมืออาชีพของภาครัฐ ที่แม้ยังขาดประสบการณ์การจัดงานระดับสากล แต่ต้องเรียนรู้จากหน่วยงานอื่น และจากต่างประเทศ เพราะเป็นงานแรกของกรมการค้าภายใน ที่ก้าวเข้าสู่ระดับสากล ขณะที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เคยมีประสบการณ์จัดงานแล้ว แต่ติดที่เซ็นสัญญากับ โคโลญจน์เมสเซ่ ในการจัดงาน แสดงสินค้าอาหาร เป็นงานแฟร์ด้านอาหารคู่แข่งกับไบโอฟาค จากเนิร์นแบร์ก จึงเป็นหน้าที่กรมการค้าภายใน ที่จะแสดงศักยภาพ ของการจัดงานระดับสากล ไม่ให้เสียชื่อประเทศ


“ปีแรกคาดว่าเพียงให้ผ่านไปอย่างราบรื่นเพื่อเรียนรู้ระบบ เหลือเวลาอีก 4 เดือนในการเตรียมงานกรมการค้าภายใน ต้องทำแบบระบบมืออาชีพ โดยกรมฯรับหน้าที่ในการหาผู้เข้าร่วมงานในอาเซียน ขณะที่เนิร์นแบร์กทำตลาดในกลุ่มเครือข่ายออร์แกนิคทั่วโลก”


เขาบอกว่า สิ่งที่จะทำให้งานแฟร์มีความคึกคักและดึงความสนใจของคู่ค้าทั่วโลกอีกอย่างสำหรับงานบิโอฟาค ไม่ใช่เพียงแค่การจัดงานแสดงสินค้า แต่เป็นเวทีสัมมนาให้ความรู้ และอัพเดทเทรนด์ ออร์แกนิค (Symposium & World Congress) ที่เป็นสิ่ง “เรียกแขก”ให้เข้ามาชมงาน อย่างที่คนล้นหลามเกิดขึ้นในอินเดียในช่วงเดือนพ.ย.ในปีที่ผ่านมา นี่จึงเป็นแนวคิดเพิ่มเติมเมื่องานเวิร์ลด์คองเกรสขึ้นในไทยจะทำให้กลายเป็นจุดสนใจได้ในอนาคต

“สิ่งที่ทำให้งานน่าสนใจคือการไม่ใช่แค่เทรดโชว์อย่างเดียว แต่เนื้อหาอัพเดทพบปะพูดคุยกันในแวดวงออแกนิคระดับโลก งานนี้จึงไม่ใช่แค่เทรดโชว์ ดึงคนมาซื้อขาย แต่เป็นการสัมมนา ซึ่งเอกชนรับหน้าที่ในการจัดงาน”


ภาพรวมสินค้าออร์แกนิคของไทยยังมีสัดส่วนน้อย โดยมีการเพาะปลูกจำนวน 361,562 ไร่ สัดส่วน 0.24% ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด จำนวนเกษตรกร 15,670 ราย หรือสัดส่วน 0.26% ของเกษตรกรทั่วประเทศที่มีกว่า 5.9 ล้านราย มีออแกนิคที่ได้รับการรับรองผ่านระบบประกันอย่างมีส่วนร่วม (PGS-Participatory Guarantee System) ซึ่งเป็นระบบเริ่มต้นรวมกลุ่มรับรองในท้องถิ่น เพื่อนำไปสู่กระบวนการออแกนิค 11,550 ไร่ แต่เป็นระบบที่ไม่สามารถส่งออกได้


ไทยเริ่มส่งออกสินค้าออร์แกนิคตั้งแต่ปี 2533 จนกระทั่งปี 2557 ตลาดออร์แกนิคมีมูลค่าการส่งออกประมาณ 35 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ตลาดในประเทศเริ่มเติบโตอย่างรวดเร็วอยู่ที่ 15 ล้านดอลลาร์

กลุ่มสินค้าที่ได้รับการรับรอง ประกอบด้วย ข้าว ผลิตภัณฑ์จากข้าวผักและผลไม้ ชาและกาแฟ สมุนไพร ผลิตภัณฑ์จากป่า เช่น น้ำผึง รวมถึงผลิตภัณฑ์ชำระล้างร่างกาย เช่น สบู่ ยาสระผม และน้ำมันมะพร้าว


สิ่งที่ไทยน่าสนใจ แม้สหรัฐและสหภาพยุโรปจะเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ด้านสินค้าออร์แกนิค แต่อาเซียน และเอเชีย ได้เป็นตลาดเกิดใหม่มีอัตราการเติบโตตลาดออร์แกนิคอย่างรวดเร็ว มีอัตราเร่งเติบโตเท่าตัวทุกปี


ปัญหาในประเทศไทยส่วนใหญ่จะต้องเป็นเรื่องการให้ความรู้กับผู้บริโภคสัดส่วน 92% ได้ยินสินค้าเกี่ยวกับออร์แกนิค แต่90% กลับยังสับสนและแยกไม่ออกระหว่างสินค้าออแกนิค กับสินค้าธรรมชาติ นั้นมีความแตกต่างกัน ดังนั้นสัดส่วนกว่า 60% จึงเลือกซื้อในสิ่งที่คิดว่าเชื่อถือเป็นออแกนิค โดยที่ยังรู้ว่าใช่หรือไม่ โดยมีความถี่ในการซื้อประมาณ 1-2 ครั้งต่อเดือน


นอกจากนี้ยังมีปัญหาด้านของมาตรฐาน ซึ่่่งในไทยโดยหน่วยงานตรวจรับรอง มีด้วยกัน 4 หน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เป็นผู้รับรองมาตรฐานออร์แกนิค ประกอบด้วย สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มอกช.) และและกรมวิชาการเกษตร ที่จะต้องไปติดต่อหลายหน่วยงานในกระทรวงเดียว จึงทำให้เกิดความยุ่งยาก และไม่สอดคล้องกันกับมาตรฐานสากล ปัจจุบัน กรมวิชาการเกษตร ได้รวบรวมมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับเกษตรอินทรีย์ ที่สอดคล้องกันกับมาตรฐานโลก เช่น IFOAM แต่ยังไม่ได้การนำมาปฏิบัติให้ตรวจสอบเสร็จสิ้นทุกด้านในหน่วยงานเดียว