สสส.เปิดข้อมูลสถานะชุมชน ชี้ผู้สูงอายุ 84% ติดสังคม

สสส.เปิดข้อมูลสถานะชุมชน ชี้ผู้สูงอายุ 84% ติดสังคม

สสส.เปิดข้อมูลสถานะชุมชน เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ปี 2561 ห่วงสูงวัยอยู่ลำพัง 22.72% ชี้ผู้สูงอายุ 84% ติดสังคม ชุมชนสูบบุหรี่ลดได้ร้อยละ 93.2

ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส ) จัดเวทีสานพลังชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ 2 ประจำปี 2561“ศาสตร์ของพระราชากับการสร้างเสริมสุขภาวะชุมชน” ระหว่างวันที่ 1-3 มีนาคม อโดยมีงค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าร่วมกว่า 1,500 ตำบลมีตัวแทนเข้าร่วมกว่า 4,000 คน โดยนำเสนอข้อมูลชุมชน และนวัตกรรมในการแก้ปัญหาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกัน

นางสาวดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส.กล่าวถึงรายงานการขับเคลื่อน “เครือข่ายร่วมสร้างชุมชมท้องถิ่นน่าอยู่กับการสร้างเสริมสุขภาวะชุมชน” ว่า จากข้อมูลในการทำงาน สร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ของเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ 2,705 แห่ง มีประชากรในเครือข่าย 8.5 ล้านคนหรือคิดเป็นจำนวนครัวเรือนจำนวน 2.7 ล้านครัวเรือน

ผลการสำรวจสถานะชุมชน จากการทำงานของกลไกเครือข่ายในพื้นที พบว่า มีผู้สูงอายุ 60-69 ปี มากที่สุด ร้อยละ 55 ซึ่งในกลุ่มนี้ หากมีการเตรียมพร้อมที่ดีก็สามารถเปลี่ยนภาระเป็นพลังได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุติดสังคมที่มีถึงร้อยละ 84 ถือเป็นทุน ศักยภาพ โอกาส ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ เพราะเป็นกลุ่มที่มีสุขภาพแข็งแรง และยิ่งติดสังคมก็จะช่วยให้อายุยืน มีความสุข

นอกจากนี้พบว่า มีผู้สูงอายุที่อยู่กับครอบครัว ร้อยละ 47ผู้สูงอายุที่อาศัยเพียงคนเดียวร้อยละ 22.72 ผู้สูงอายุที่อยู่กับกับเด็กร้อยละ 17.31ผู้สูงอายุที่อยู่ด้วยกันลำพัง ร้อยละ 12.95 ซึ่งในปีนี้ สสส.และเครือข่ายฯจะพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุให้เห็นผลเป็นรูปธรรม

นางสาวดวงพร กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังพบว่าการทำงานของเครือข่ายในเรื่องของการจัดการสารเคมี โดยมีการใช้สารเคมี ร้อยละ 10.33 และมีครัวเรือนที่ลดปริมาณการใช้สารเคมี และเริ่มทำเกษตรอินทรีย์ร้อยละ 5.06 โดยการทำปุ๋ยหมักใช้เอง ส่วนปัญหาหนี้สินครัวเรือนพบว่า ชุมชนในเครือข่าย มีหนี้ ร้อยละ 47 ไม่มีหนี้ ร้อยละ 53 มีการออมร้อยละ45.2ไม่มีการออมร้อยละ 54.5 ขณะที่การควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร้อยละ 7.41และควบคุมการบริโภคบุหรี่ได้มากถึงร้อยละ 93.2

ทั้งนี้ความสำเร็จที่เกิดขึ้นกับชุมชน เกิดจากการทำงานของศาสตร์พระราชาที่ทดลองปฏิบัติมาแล้วกว่า 70 ปี โดยใช้เครื่องมือการพัฒนาศักยภาพใน 4 ภาคี คือ ท้องถิ่น ท้องที่ หน่วยงานรัฐ องค์กรชุมชนให้เห็นศักยภาพของพื้นที่ตัวเอง โดยใช้การวิจัยข้อมูล จนสามารถขับเคลื่อนเป็นนโยบายสาธารณะได้

ด้านนายธวัชชัย ฟักอังกูร ประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 สสส.กล่าวในการเสวนาปฏิรูประบบปฏิบัติการของชุมชนท้องถิ่นสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนว่า สสส.มีแผนสุขภาวะชุมชนมา 8 ปีแล้ว เป็นการปฏิรูปให้ชุมชนมีความเข้มแข็งโดยเริ่มต้นปฏิรูปชุมชนท้องถิ่นด้วยการทำความเข้าใจตัวเอง เริ่มจากจัดเก็บข้อมูล เริ่มเข้าใจว่าชุมชนมีปัญหาอะไร เริ่มค้นพบว่าสิ่งที่คิดว่าเป็นปัญหา

“หากชุมชนเข้าถึงปัญหาจะเกิดจากการเข้าถึงทุนและศักยภาพในชุมชน และเริ่มพัฒนาตัวเองโดยไม่รอหน่วยงานรัฐ ทั้งหมดที่ทำนี้คือศาสตร์พระราชา ในเรื่องการเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” นายธวัชชัย กล่าว

นายธวัชชัย กล่าวอีกว่า เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่กำลังก้าวเดินสู่ระยะที่2 ใช้แนวทางตามยุทธศาสตร์เดิม แต่เข้มข้นด้วยประสบการณ์ และวิชาการ ในการแก้ปัญหาจากเป้าหมายแรก แก้ปัญหาตนเอง สู่การแก้ปัญหาสังคม ปัญหาของประเทศและของโลก เราจะเป็นชุมชนที่มีการแก้ปัญหาอย่างสมบูรณ์แบบ หากไม่แก้ปัญหาสังคม หรือปัญหาโลก วันหนึ่งปัญหาเหล่านั้นจะย้อนกลับมาหาเราได้อีก