กรีนบิวดิ้ง-สมาร์ทซิตี้ ก่อสร้างไม่เอาท์

กรีนบิวดิ้ง-สมาร์ทซิตี้  ก่อสร้างไม่เอาท์

ห้องน้ำสำเร็จรูปโมเดลอาคารสามมิติ ตัวอย่างเทคโนโลยีก่อสร้างที่ร่นเวลา ลดต้นทุนและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตามเทรนด์กรีนบิวดิ้งและตอบโจทย์มาตรฐานอาคารอนุรักษ์พลังงาน

ห้องน้ำสำเร็จรูป แผ่นผนังมวลเบา ชิ้นส่วนสำเร็จรูป โมเดลอาคารสามมิติ ตัวอย่างเทคโนโลยีก่อสร้างที่ร่นเวลา ลดต้นทุนและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตามเทรนด์กรีนบิวดิ้งและตอบโจทย์มาตรฐานอาคารอนุรักษ์พลังงาน ยกตัวอย่าง โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 1 ที่พักอาศัยแปลง G ตรงหัวมุมถนนวิภาวดีกับถนนดินแดง 1.98 ไร่ คาดว่าสามารถย้ายเข้าอยู่ได้ประมาณกลางปี 2561

กระแสกรีนบิวดิ้งสร้างความตื่นตัวในวงการก่อสร้าง ส่วนหนึ่งเนื่องจากข้อบังคับจากหน่วยงานรัฐเข้ามาเป็นตัวเร่งให้ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตาม อาทิ เกณฑ์มาตรฐานอาคารด้านพลังงานกำหนดให้อาคารขนาด 2,000 ตารางเมตรต้องออกแบบอนุรักษ์พลังงาน ส่งผลให้เจ้าของโครงการต้องใช้วัสดุลดพลังงาน รวมทั้งระบบการก่อสร้างที่มีคุณสมบัติในการประหยัดพลังงานน้ำ ไฟฟ้า ที่คุ้มค่าการลงทุนมากขึ้น

กระแสรักษ์โลกสู่มาตรฐาน

คณาปภา อรรคภาส์ ผู้จัดการส่วนกรีนโซลูชั่น ธุรกิจ เอสซีจี ซีเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ยกตัวอย่างการพัฒนานวัตกรรมในเครือ เริ่มตั้งแต่หลังคาที่สามารถสะท้อนกลับรังสีความร้อน อิฐมวลเบาที่ลดค่ากันความร้อนเมื่อเทียบกับอิฐมอญ ลดพลังงานความร้อนได้30% จนถึงโจทย์การพัฒนานวัตกรรมนอกเหนือจากเรื่องสิ่งแวดล้อมคือ การขาดแคลนแรงงานคน

จึงเป็นที่มาของการพัฒนาแผ่นผนังมวลเบาขนาด 2-6 เมตรแทนการก่ออิฐมวลเบาแบบก้อน ทำให้ทำงานได้ง่าย งานเสร็จเร็วโดยติดตั้งผนังได้ 40 ตารางเมตรต่อวัน แต่ยังคงความแข็งแรงเพราะเสริมด้วยเหล็กชุบกันสนิม อีกทั้งเคลื่อนย้ายขนส่งสะดวก

นอกจากนี้ยังมีห้องน้ำสำเร็จรูปที่ผลิตและประกอบในโรงงาน โครงสร้างแข็งแรง ระบบพื้นไร้รอยต่อ ลดปัญหาการรั่วซึม เน้นการใช้งานจริง ดูแลรักษาและทำความสะอาดง่าย หากมีปัญหาการรั่วซึมจะไม่กระทบกับห้องด้านล่างเนื่องจากระบบจะสามารถระบายน้ำออกด้านข้าง

ขณะที่ ยิ่งศักดิ์ เลาหะตานนท์ ผู้จัดการโครงการบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน ) กล่าวว่า บริษัทได้นำระบบชิ้นส่วนสำเร็จรูปแบบผนังรับน้ำหนักมาใช้ในการก่อสร้างโครงการต่างๆ อาทิ หมู่บ้านนักกีฬาเอเชียนเกมส์ โครงการบ้านเอื้ออาทร ล่าสุดโครงการฟื้นฟูชุมชนเมืองดินแดงอาคารแปลง G เป็นอาคารทันสมัยสูง 28 ชั้น 334 หน่วย ขนาดห้องพัก 33 ตารางเมตร

นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยี BIM (Building Information Modeling) เป็นกระบวนการสร้างแบบจำลองอาคาร 3 มิติ ทำให้เห็นแต่ละขั้นตอนของการทำงานได้ชัดเจนทั้งหมด ช่วยให้การก่อสร้างและบำรุงรักษาสะดวกรวดเร็วขึ้น อนาคตสามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์หรือไอโอที จะทำให้สามารถตรวจสอบจุดที่มีปัญหาได้ทันทีแบบเรียลไทม์

ตอบโจทย์ชุมชนเมืองยุคใหม่

การพัฒนาที่อยู่อาศัยของการเคหะฯ สิ่งสำคัญที่สุดจะต้องมีความปลอดภัยและครอบคลุมในสามมิติคือสิ่งแวดล้อม สังคมและเศรษฐกิจ แก่ผู้อยู่อาศัยทุกช่วงวัย ซึ่งเป็นแนวทางของยุทธศาสตร์ลดความเลื่อมล้ำและตอบสนองความต้องการผู้อยู่อาศัย

ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) กล่าวว่า ในฐานะองค์กรของรัฐที่มีบทบาทในการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย ได้ให้ความสำคัญกับการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการพัฒนาโครงการ ยกตัวอย่างโครงการฟื้นฟูชุมชนเมืองดินแดงอาคารแปลง G ระยะที่ 1 จะเสริมเทคโนโลยีด้านสมาร์ทซิตี้

“เทคโนโลยีสมาร์ทซิตี้ที่นำมาใช้จะแตกต่างจากสมาร์ทซิตี้แห่งอื่นๆ ที่เน้นความเป็นสมาร์ทเทคโนโลยี แต่ในส่วนของอาคารดินแดงจะเริ่มจากสมาร์ทคอมมูนิตี้ ชุมชนเมืองที่มีความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัย มีสิ่งแวดล้อมที่ดี รวมถึงพัฒนาในเชิงพาณิชย์ให้มีแหล่งการค้าของชุมชน ส่งเสริมสังคมไร้เงินสดโดยการใช้ อี-เพย์เมนท์ และ คิวอาร์โค้ด มีแหล่งให้ความรู้เพื่อพัฒนาฝีมือแรงงาน"

พร้อมกันนี้ยังนำเทคโนโลยีอัจฉริยะมาใช้พัฒนาเป็นอาคารเขียวหรืออาคารประหยัดพลังงาน รวมทั้งการติดตั้งกล้องวงจรปิด วางระบบเครือข่ายไร้สาย ระบบพื้นที่จอดรถค้นหาที่ว่างอัตโนมัติ รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่อผู้สูงอายุและผู้พิการ เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้จะส่งผลให้พลิกจากชุมชนแออัดสู่เมืองอันทันสมัย ทั้งหมดก็จะสามารถสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีได้แม้ในผู้ที่มีรายได้น้อย ดังเช่นในหลายประเทศทั่วโลกที่กำลังตื่นตัวกับเรื่องนี้ และมีการผลักดันให้เกิดขึ้นจริงในเร็ววัน