'กมธ.ร่วม3ฝ่าย' ปัดทำเกินหน้าที่ กรณีพิจารณากฎหมายส.ว.

'กมธ.ร่วม3ฝ่าย' ปัดทำเกินหน้าที่ กรณีพิจารณากฎหมายส.ว.

โฆษก กมธ.ร่วมฯ พิจารณากฎหมายส.ว. ยันยก 3 ปมขัดแย้งใส่บทเฉพาะกาลไม่ขัดรธน. แค่ใช้ 5 ปีแรกเท่านั้น ด้าน "ครูหยุย" มั่นใจ สนช.ไม่คว่ำกฎหมายเลือกตั้ง

พล.ร.อ.ธราธร ขจิตสุวรรณ โฆษกกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย พิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. เปิดเผยว่า ขณะนี้ถือว่า กมธ.ร่วม 3 ฝ่าย ได้พิจารณาทบทวนร่างพ.ร.บ.การได้มาซึ่งส.ว.เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว โดยในสัปดาห์หน้า จะมีการประชุมเพื่อตรวจเนื้อหาและถ้อยคำ ความถูกผิดในร่างกฎหมายทั้งฉบับ เป็นขั้นตอนทางธุรการ ก่อนจะนำเข้าสู่ที่ประชุมสนช.เพื่อลงมติในวันที่ 8 มี.ค.นี้ ยืนยันกมธ.ร่วม 3 ฝ่ายพิจารณาทบทวนอย่างรอบคอบแล้ว ไม่ได้ทำเกินอำนาจหน้าที่ ไปแก้ไขเพิ่มเติมบทเฉพาะกาลในร่างพ.ร.บ.การได้มาซึ่งส.ว. เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 267 วรรคห้ากำหนดชัดเจน ให้กมธ.ร่วม3ฝ่าย มีหน้าที่พิจารณาข้อโต้แย้งของกรธ.และองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง แล้วเสนอต่อสนช.ภายใน 15 วันว่า จะให้ความเห็นชอบหรือไม่ ส่วนถ้าจะมีคนไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า กมธ.ร่วม 3ฝ่าย ทำเกินอำนาจหน้าที่ เป็นสิทธิที่ทำได้ แต่ยืนยันว่า เราทำตามอำนาจหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญกำหนดอย่างถูกต้อง

พล.ร.อ.ธราธร กล่าวว่า ส่วนจะผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสนช.หรือไม่นั้น คงไม่สามารถไปก้าวล่วงดุลยพินิจของสนช.แต่ละคนได้ เพราะทุกคนมีเหตุผลเป็นของตัวเอง แต่บรรยากาศการประชุมกมธ.ร่วมเป็นไปด้วยดี พูดกันด้วยเหตุผล เมื่อกรธ.ยืนยันว่า อยากให้ข้อเสนอของกรธ.เรื่องการคงกลุ่มอาชีพ 20 กลุ่ม การเลือกไขว้ส.ว. และที่มาส.ว.จากการสมัครโดยอิสระเป็นบทหลักอยู่ในร่างกฎหมาย จึงทบทวนกันด้วยเหตุผล จนได้ข้อสรุปให้ข้อเสนอของสนช.มีผลบังคับใช้ใน 5ปีแรกตามบทเฉพาะกาล ขณะที่ข้อเสนอกรธ.มีผลบังคับใช้หลังจาก 5ปีไปแล้ว เป็นการคุยกันด้วยเหตุผล ไม่ได้มีสัญญาณจากคสช. หรือใครมาชี้นำทั้งสิ้น

ด้านนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์. สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า เท่าที่ดูเนื้อหาร่างกฎหมายลูกทั้งสองฉบับที่กมธ.ร่วม3ฝ่ายได้ทบทวนเสร็จแล้ว คิดว่าไม่มีปัญหาอะไร เท่าที่ดูสมาชิกสนช.ไม่มีใครติดใจ ถือว่ากมธ.ร่วม3ฝ่าย หาทางออกร่วมกันได้ดี มั่นใจว่า สนช.จะไม่มีการคว่ำร่างกฎหมายลูก2ฉบับดังกล่าวซ้ำรอยการไม่เห็นชอบผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นกกต.7คน ยิ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช.ประกาศยืนยันว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นภายในเดือนก.พ.2562 แสดงว่าทุกอย่างลงตัว จบหมดแล้ว จะต้องเตรียมตัวเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง ดังนั้นสนช.จะไม่คว่ำกฎหมายลูกที่เหลือเด็ดขาด