'โรคฮีน็อค' ในเด็กไม่ใช่โรคติดต่อ

'โรคฮีน็อค' ในเด็กไม่ใช่โรคติดต่อ

รพ.เด็ก เผย "โรคฮีน็อค" เป็นกลุ่มอาการของการอักเสบของ เส้นเลือดฝอย เป็นโรคที่พบมักในเด็กอายุประมาณ 2-11 ปี การเกิดโรคสันนิษฐานว่าอาจเกิดตามหลังการติด เชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือยา ไม่ใช่โรคติดต่อ

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาพบเด็กป่วยเป็นโรคฮีน็อค และมีการเผยแพร่ผ่านทาง Socail นั้น ในทางการแพทย์โรคฮีน็อคไม่ใช่โรคติดต่อ อาการของโรค มักเริ่มจากผื่นแดง ไม่คัน เริ่มบริเวณขาทั้งสองข้างพร้อมๆ กัน อาการร่วมอย่างอื่นได้แก่ ปวดข้อเท้า ผิวหนังบวมบริเวณที่มีผื่น โรคฮีน็อคเป็นกลุ่มอาการแสดงของเส้นเลือดฝอยอักเสบ ซึ่งนอกจากเส้นเลือดฝอยที่ผิวหนังแล้ว อวัยวะภายในที่มักได้รับผลกระทบได้แก่ ทางเดินอาหาร ซึ่งผู้ป่วยจะมาด้วยอาการปวดท้อง หรืออาจจะเป็นมากถึงมีอาการถ่ายเป็นเลือดและไต ซึ่งอาจทำให้มีปัสสาวะเป็นเลือดหรือมีโปรตีนรั่วออกทางปัสสาวะได้

นพ.สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กรมการแพทย์ กล่าวว่า ขั้นตอนการรักษาขึ้นกับความรุนแรงของโรค หากมีเพียงผื่นผิวหนัง การรักษาหลักคือการนอนพักและงดกิจกรรม เช่น เดินมาก หรือวิ่ง กระโดด เป็นต้น หากมีอาการทางระบบอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดท้อง หรือปัสสาวะผิดปกติ ต้องรักษาแบบคนไข้ใน โดยให้ยาลดการอักเสบในกลุ่มสเตียรอยด์ระยะสั้นเพื่อลดการอักเสบของเส้นเลือดสำหรับการป้องกัน เนื่องจากสาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบแน่ชัด จึงไม่มีวิธีป้องกัน ดังนั้นผู้ปกครองควรสังเกตหากลูกมีผื่นแดงลักษณะดังกล่าว และเป็นมากขึ้นหรือมีอาการต้องสงสัยควรรีบพบแพทย์เพื่อการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป

ทั้งนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถหายเป็นปกติแต่มีบางส่วนที่อาการโรคกลับเป็นซ้ำ ทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรงของโรค และการดูแลตัวเองของผู้ป่วย ผู้ป่วยทุกรายจะได้รับ การแนะนำว่าในช่วงแรกที่มีอาการต้องให้ความสำคัญกับการหลีกเลี่ยงกิจกรรมเดินมาก หรือวิ่งและมีการติดตามดูอาการอย่างต่อเนื่องเป็นปี เพื่อผลการรักษาที่ดีและลดการเป็นซ้ำของโรค