'วันมาฆบูชา' ฝึกเจริญสติ ลดเสี่ยงโรคซึมเศร้า

'วันมาฆบูชา' ฝึกเจริญสติ ลดเสี่ยงโรคซึมเศร้า

“วันมาฆบูชา” เชิญชวนคนไทยหันมาฝึกเจริญสติป้องกันปัญหาสุขภาพจิต ลดเครียด ลดเสี่ยงโรคซึมเศร้า

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า ปัญหาสุขภาพจิตเป็นปัญหาสำคัญของคนในโลกปัจจุบัน คนเป็นโรคเครียด โรคซึมเศร้ากันมาก ตัวเลขขององค์การอนามัยโลก พบว่า มีคนเป็นโรคซึมเศร้า 350 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งถือว่ามาก สำหรับประเทศไทย ข้อมูลที่บ่งชี้ถึงความสำคัญของปัญหาสุขภาพจิตที่เพิ่มมากขึ้นนอกจากเหตุการณ์และพฤติกรรมบุคคล ที่ปรากฏเป็นข่าวรุนแรง ต่อเนื่องแล้ว จากสถิติผู้รับบริการในหน่วยงานสังกัด

กรมสุขภาพจิต พบผู้รับบริการแบบไปกลับเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 ในขณะที่ผู้ป่วยใน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 ในปีที่ผ่านมา ซึ่งต่อการป้องกันแก้ไขปัญหานี้ พบว่าทั่วโลกได้หันมาให้ความสำคัญ และแสวงหาศาสนาเป็นที่พึ่งมากขึ้น มีข้อมูลยืนยันว่าชาวตะตกเริ่มสมาทานพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ศึกษาหลักธรรมและนำมาแก้ปัญหาวิกฤตโลกที่เกิดขึ้นจากความโลภ ความโกรธ ความหลง ซึ่งในทางการแพทย์ก็สอดคล้องกันคือ ถ้าลดสิ่งเหล่านี้ สุขภาพจิตก็จะดี โรคภัยไข้เจ็บก็จะลดลง สำหรับคนไทยที่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ มีต้นทุนพื้นฐานทางด้านจิตใจที่ดี แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจ สังคมที่เปลี่ยนแปลงทำให้บางครั้งอาจมองข้ามความสำคัญของการปฏิบัติตามหลักพุทธศาสนาไปบ้าง ดังนั้นจึงขอเชิญชวนคนไทย ถือโอกาส “วันมาฆบูชา”ปีนี้ หันมาให้ความสำคัญกับฝึกเจริญสติ เพื่อการดูแลสุขภาพจิต สุขภาพกายของตนเอง

การเจริญสติ เพื่อการดูแลสุขภาพจิต สุขภาพกาย อาจเริ่มจากการเจริญสติเพื่อเอาชนะเครียดก่อน เพราะความเครียดเล็กๆ น้อยๆ ที่สะสมในแต่ละวันเป็นอันตรายต่อร่างกาย ทำลายระบบภูมิคุ้มกันและสมอง หากปล่อยไว้จะเป็นต้นเหตุของปัญาหาสุขภาพจิต และโรคทางจิตเวชที่รุนแรงขึ้น จึงขอแนะนำวิธีฝึกสติอย่างง่ายเพื่อลดความเครียดในชีวิตประจำวัน ดังนี้

1)กินอย่างมีสติ โดยรับรู้และสัมผัสรสชาติที่แท้จริงของอาหาร เมื่อรับรู้ว่ากำลังกินอะไรเข้าไปบ้าง จะช่วยให้เราไม่กินมากเกินไป และยังเลือกกินอาหารที่มีคุณภาพมากขึ้น

2)ชำระกายชำระใจ โดยระหว่างอาบน้ำให้สำรวจตัวเองว่าเราว้าวุ่นคิดถึงใครหรือสิ่งใดบ้าง อาจช่วยให้จัดการกับปัญหาที่รบกวนจิตใจได้ จากนั้นให้มุ่งความสนใจไปยังความรู้สึกขณะอาบน้ำ เพียงเท่านี้ก็เริ่มต้นวันใหม่ได้อย่างมีชีวิตชีวา

3)อยู่กับงานที่ทำ ลองทำกิจกรรมที่เราทำเป็นประจำให้ช้าลงหรือลองทำในรูปแบบอื่น เช่น ถ้าปกติเริ่มแปรงฟันจากด้านหน้า ให้ลองแปรงจากด้านในดู แล้วรับรู้ประสาทสัมผัสต่างๆ ผ่านกิจกรรมนั้น อาจช่วยให้คุณค้นพบช่วงเวลาที่หายไปในแต่ละวัน ซึ่งอาจเป็นช่วงเวลาสำคัญของชีวิต

4)รู้จักขอบคุณ มีสติรับรู้และยินดีกับสิ่งดีๆ ที่อยู่รอบตัว จะช่วยสร้างความรู้ด้านบวกและเชื่อมโยงเราเข้ากับบุคคลรอบข้างทั้งที่รู้จักและไม่รู้จัก

5)อยู่กับสิ่งดีๆ อย่างมีสติ พยายามจดจำกับสิ่งดีๆ ในแต่ละวันเพียง 2-3 วินาที ระบบความทรงจำจะบันทึกสิ่งนั้นไว้ อาจรู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่ามากขึ้น