ทส.มั่นใจหลักฐานแน่น เอาผิด 'เปรมชัย' ล่าสัตว์ป่า

ทส.มั่นใจหลักฐานแน่น เอาผิด 'เปรมชัย' ล่าสัตว์ป่า

คณะกรรมการติดตามคดี "เปรมชัย" ล่าสัตว์ป่ามั่นใจหลักฐานเอาผิด 9 ข้อหาแน่นอน ยืนยันเนื้อสัตว์ที่พบคือเสือดำ-สัตว์สงวน ส่วนปลอกกระสุนก็ออกจากปืนที่ยึดได้

กรณีคดีนายเปรมชัย กรรณสูต และพวกร่วมกันล่าเสือดำและสัตว์ป่าสงวน วันนี้ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการติดตามคดี ซึ่งมีรัฐมนตรี พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการติดตามคดี และมีอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และมีพล.ต.อ.จรัมพร สุระมณี กรรมการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท. เป็นที่ปรึกษา ได้ประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าของคดี รวมทั้งตรวจสอบสำนวนพยานหลักฐานทั้งหมด เพื่อให้คดีมีความรัดกุมรอบคอบ

โดยรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์หลังจากประชุมเสร็จว่า คดีนี้เป็นคดีคนรวย สังคมร้อนใจ สื่อมวลชนก็ร้อนใจ กระทรวงยิ่งเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษยิ่งมีความร้อนใจ ดังนั้น เราไม่นิ่งนอนใจแน่นอน

ด้านพล.ต.อ.จรัมพร บอกว่า การประชุมครั้งนี้ คณะทำงานมีความมั่นใจในพยานหลักฐานที่จะส่งฟ้องศาลเอาผิดทั้ง 9 ข้อหาได้แน่นอน อย่างเนื้อื้อสัตว์ที่พบยืนยันว่าคือเนื้อเสืและสัตว์สงวน ส่วนกระสุนปืนที่พบเป็นปลอกกระสุนลูกปลายที่ออกจากกระบอกลูกซองที่ตรวจยึดได้ และดีเอ็นเอมนุษย์ก็ชัดเจนว่าเป็นกลุ่มนายเปรมชัยและพวกรวม 4 คน ซึ่งการกล่าวโทษร้องทุกข์นั้นเป็นคดีร่วมกัน ไม่ได้แจ้งดำเนินคดีรายบุคคล แต่บางคน เช่น คนที่ทำหน้าที่เป็นแม่ครัว อาจหลุดจากข้อหาร่วมกันมีอาวุธปืน

สำหรับประเด็นที่ตำรวจถอนคดีทารุณกรรมสัตว์ โดยให้เหตุผลว่าพ.ร.บ.ทารุณกรรมสัตว์ไม่ครอบคลุมถึงสัตว์ป่า เลขาธิการมูลนิธิพิทักษ์สัตว์ไทย โรเจอร์ โลหนันทน์ ผู้ที่มีส่วนขับเคลื่อนสำคัญในการออกกฎหมายฉบับนี้ บอกว่า พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 กำหนดให้รัฐมนตรีมีหน้าที่ประกาศกำหนดความหมายของคำว่า "สัตว์ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติ" เพื่อให้สัตว์ที่ไม่มีเจ้าของได้รับการคุ้มครองด้วยนั้น ยังมีผู้สำคัญผิดว่าจะมีผลกระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิตของชาวบ้าน

ทั้งนี้ หลักการและเหตุผลในการประกาศใช้กฎหมายป้องกันการทารุณกรรมสัตว์คือ "สัตว์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึกและเป็นองค์ประกอบของสิ่งแวดล้อม จึงควรได้รับการคุ้มครองมิให้ถูกกระทำทารุณกรรม......." และนิยามคำว่า "สัตว์ "ให้หมายความรวมถึงสัตว์ในธรรมชาติที่ไม่ได้เลี้ยงด้วยเพื่อให้สัตว์เหล่านี้ได้รับการปกป้องจากการทารุณกรรม การกำหนดนิยามสัตว์ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติ จึงต้องพิจารณาเจตนารมณ์ของกฎหมายซึ่งต้องการป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ ไม่ได้ห้ามฆ่าสัตว์ เพราะ มาตรา 21 (1) ยกเว้นการฆ่าสัตว์เพื่อเป็นอาหาร (6) ยกเว้นการฆ่าเพื่อป้องกันชีวิตหรือทรัพย์สินอยู่แล้ว

ดังนั้นการกำหนดสัตว์ที่อาศัยในธรรมชาติจึงไม่ใช่เพื่อยกเว้นสัตว์ที่จำเป็นต้องฆ่า แต่เพื่อให้สัตว์ที่ไม่ใช่สัตว์เลี้ยงได้รับการคุ้มครองด้วย แม้แต่ พรบ คุ้มครองสัตว์ป่าก็ยังห้ามล่างูเงี้ยวเขี้ยวขอหรือเสือ ซึ่งเป็นสัตว์อันตราย แต่ยกเว้นกรณีป้องกันตัวเช่นกัน เราจึงไม่สามารถบอกว่าให้ยกเว้น กุ้ง หอย ปู ปลา หรือกิ้งก่าที่ชาวบ้านบริโภค หรือยกเว้นหนูและแมลงที่ก่อความเดือดร้อน เพราะจะมีผลให้สัตว์เหล่านี้ ไม่ถือเป็นส่วนหนึ่งของคำว่าสัตว์และไม่ได้รับการคุ้มครองจากการทารุณกรรมที่ปราศจากเหตุอันควรตามมาตรา 20

และหากถามว่า "แล้วกุ้งเต้นกับปลาไหลต้มเปรตจะยังทำได้ไหม?" หากเป็นเช่นเดียวกับการต้มย่างหอยปู กุ้งฝอยบีบมะนาว ยำมดแดง หรือปูนึ่งเราก็ทำทั้งเป็น จึงถือว่าเป็นวิธีการฆ่าสัตว์เพื่อเป็นอาหารตามปกติวิสัย (มาตรา 21 (1) แต่เราไม่ต้มแล่เป็ดไก่วัวควายทั้งเป็น มีแต่เชือดคอและทุบหัวปลา ในขณะที่ใครจะมาอ้างว่านี่เป็นการฆ่าแบบจีนแบบญี่ปุ่นไม่ได้ เพราะที่นี่ประเทศไทย เช่นเดียวกับการกินหมามันไม่ใช่สัตว์เลี้ยงเพื่อเป็นอาหารของไทย ชาวบ้านจึงยังคงจับกุ้งจับปลาในห้วยหนองคลองบึงได้ กินหนอนกินตั๊กแตนได้ แค่นำมาหักแข้งหักขาเล่นไม่ได้

ดังนั้น สัตว์ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติจึงควรหมายถึง "สัตว์ทุกชนิดไม่ว่าสัตว์บก สัตว์น้ำ สัตว์ปีก แมลงหรือแมง ที่ดำรงชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่จำเป็นต้องได้รับการเลี้ยงดูจากมนุษย์ "

สัตว์ต่างๆที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือสัตว์ป่าที่อพยพโยกย้ายมาอาศัยในเทือกสวนไร่นาหรือที่สาธารณะ รวมถึงสัตว์เลี้ยงที่ถูกทอดทิ้งหรือสัตว์จรจัดก็จะได้รับการคุ้มครองตามความเหมาะสมต่อสภาพความเป็นอยู่นั้นๆด้วย