มวยล้ม? ต้ม ‘เสือดำ’

มวยล้ม? ต้ม ‘เสือดำ’

พลิกแฟ้มคดีดังลั่นป่าจากเก็บเห็ดถึงล่าเสือ ถามหาจุดจบที่ควรจะเป็นของคดีพรานไฮโซแห่งทุ่งใหญ่นเรศวร

แม้จะได้กลิ่นความไม่ชอบมาพากลของการดำเนินคดีกับเจ้าสัวเปรมชัย กรรณสูต และพวก ในกรณีการล่าสัตว์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร แต่ความสนใจต่อการอนุรักษ์สัตว์ป่าและพืชพันธุ์ที่ถูกจุดขึ้นในโลกโซเชียล คือสิ่งที่จะเป็นทั้งแรงกดดันไม่ให้คดีนี้กลายเป็น ‘มวยล้มต้มคนดู’ และเป็นแรงผลักดันให้เกิดการดูแลรักษาความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติต่อไป

“ถามว่าเจ้าหน้าที่เรากังวลไหม ไม่กังวล เฉยๆ มาก ก็ทำไปตามขอบข่ายอำนาจหน้าที่เพียงแต่ทำให้ดีที่สุดแค่นั้นเอง” สมปอง ทองสีเข้ม นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช บอก ก่อนจะย้อนไทม์ไลน์การจับกุมเจ้าสัวเปรมชัยว่า เริ่มตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2561 เวลาประมาณ 15.30 น. เมื่อประธานบริหารและกรรมการ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ พร้อมคณะอีก 3 คน เดินทางเข้าทุ่งใหญ่นเรศวร โดยมีจุดหมายคือ หน่วยมหาราช ห่างจากสำนักงานฯราว 30 กิโลเมตร

“แต่เขาไปแค่ 23 กิโลเมตร ก็ไปกางเต็นท์ที่ห้วยประชิ ห้วยนี้เป็นห้วยที่มีน้ำตลอดทั้งปี ต้องยอมรับว่าธรรมชาติของสัตว์ยังไงก็ต้องลงมาหาน้ำกิน เขาก็ไปกางเต็นท์ แล้วกลางคืนก็ยิงเสือดำห่างจากแคมป์พักประมาณ 400 เมตร (ข้อมูลจากการเก็บรวบรวมพยานหลักฐานที่เป็นนิติวิทยาศาสตร์หลังการจับกุม) พอเช้าวันที่ 4 ก.พ. ทีมลาดตระเวนของเราก็ไปเจอลักษณะของการมาแคมป์ในพื้นที่ที่ไม่อนุญาต เจ้าหน้าที่ก็จะไปเชิญให้เขากลับออกมา ซึ่งเขาพยายามต่อรอง แล้วตัวคุณเปรมชัยเองขับรถกลับมาหาหัวหน้าเขตฯ ที่สำนักงานห่างไป 23 กิโลเมตร เพื่อจะมาขออยู่ต่ออีกคืนนึง ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่ที่เฝ้าแคมป์อยู่ได้ยินเสียงปืน 1 นัด ก็ตามไปจับลูกน้องเขาได้ พร้อมปืนลูกกรด .22 พอเห็นว่าคณะนี้เป็นเรื่องของการล่า ก็เลยขอตรวจค้นทั้งหมด คราวนี้ก็เลยเจอทุกสิ่งทุกอย่างตามที่เป็นคดี”

สมปองบอกว่า ในครั้งแรกยังรวบรวมพยานหลักฐานได้ไม่ครบ เช้าวันที่ 5 ก.พ.จึงดำเนินการต่อและวันรุ่งขึ้นถึงได้ส่งคดี ทั้งหมดนี้ก็เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานให้แน่นที่สุด ซึ่งที่เหลือเป็นหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรม

อุทาหรณ์คดีดัง

ไม่ว่าจะคนรุกป่าหรือป่ารุกคน คดีคนกับป่าก็มีมานานกว่าร้อยปีแล้ว ทว่า ที่ดังติดหูติดใจคนไทย ไล่เลียงมาตั้งแต่กรณีคณะนายทหารและนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่กว่า 60 คน เดินทางไปตั้งค่ายพักแรมและล่าสัตว์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร เมื่อปี 2516 ซึ่งความมาแตกตอนที่เฮลิคอปเตอร์ลำหนึ่งตกขณะกำลังลำเลียงซากกระทิงและสัตว์ป่าอื่นๆ จำนวนมาก นำมาซึ่งกระแสเรียกร้องให้ลงโทษพรานบรรดาศักดิ์เหล่านั้นและกลายเป็นชนวนเหตุหนึ่งของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

อีกคดีหนึ่งที่กลายเป็นประเด็นดราม่ามาจนถึงทุกวันนี้ ก็คือคดีที่สื่อเรียกว่า ‘ตายายเก็บเห็ด’ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 12 ก.ค.2553 เมื่อนางอุดมและนางแดง ศิริสอน สามีภรรยาชาวกาฬสินธุ์วัย 48 ปี ถูกจับในข้อหาบุกรุกและตัดไม้ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ แต่ทั้งสองให้การว่า “เข้าไปเก็บเห็ด” คนส่วนใหญ่จึงรู้สึกสงสารและมองว่ากฎหมายรังแกแต่คนจน คดีนี้ในที่สุดงศาลฎีกาพิพากษาจำคุกเนื่องจากทั้งสองรับสารภาพว่าเข้าไปตัดไม้และครอบครองไม้หวงห้ามจริง

ส่วนคดีที่ดังไม่แพ้กันคือ กรณีที่ดาราและพิธีกรคนดัง ติ๊ก เจษฎาภรณ์ ผลดี ฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าหน้าที่ขณะไปถ่ายทำรายการเนวิเกเตอร์ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จ.ชัยภูมิ โดยเข้าไปในพื้นที่หวงห้ามบนภูคิ้ง ซึ่งภายหลังเจ้าหน้าที่และอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง โดยให้เหตุผลว่าต่างฝ่ายต่างมีเจตนาดีในการป้องกันรักษาป่าและขอให้เรื่องนี้เป็นกรณีศึกษาต่อไป

ตัวอย่างเหล่านี้จัดอยู่ในคดีที่สังคมรับรู้รับทราบ แต่ยังมีคดีอีกมากมายที่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ในเวที ฬ.จุฬา นิติมิติ เรื่อง ‘คนกับป่า : ตำนานคดีดัง’ ดร.ชัชชม อรรฆภิญญ์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมถึงขบวนการล่าสัตว์เพื่อการค้า หรือลักลอบตัดไม้หวงห้าม ซึ่งเป็นอาชญากรรมข้ามชาติว่า คดีเหล่านี้อาจจะไม่ดัง แต่สถานการณ์ถือว่าน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะปัจจุบันกฎหมายไทยยังกำหนดโทษไว้ต่ำและไม่สามารถเข้าองค์ประกอบของอาชญากรรมข้ามชาติได้

นอกจากนี้กระแสสังคมก็เหมือนกับเหรียญสองด้าน ด้านหนึ่งเป็นการสร้างการรับรู้และเรียกร้องให้เกิดความยุติธรรม แต่อีกด้านก็อาจทำให้เกิดการเบี่ยงเบนประเด็น เช่นในคดีตายายเก็บเห็ดที่่กลายเป็นตัวอย่างของความไม่ยุติธรรมในการบังคับใช้กฎหมาย

“จริงๆ แล้วไม่ใช่ตายายนะครับ ขณะเกิดเหตุจำเลยทั้งสองคนอายุ 48 เท่านั้น สื่อมวลชนไปเรียกตายาย ยิ่งฟังยิ่งน่าสงสาร ยิ่งแกปฏิเสธว่า แกไม่ได้ทำผิดเลย แกเข้าไปเก็บเห็ด มันก็เรียกกระแสสังคมให้สงสารไปใหญ่ แกเป็นตายายแก่มากแล้ว ไปทำอะไรกับแกขนาดนั้น แต่ผมก็เรียนจากประสบการณ์ว่า คนบางคนดูเผินๆ ก็เป็นชาวบ้านที่น่าสงสาร ขี่จักรยานเข้าไปในป่าเหมือนไปเก็บของป่ามากิน แต่ขนไม้วันละท่อนๆ แล้วกี่คนล่ะครับ วันนึงไม่ใช่คนเดียว หลายๆ วันก็หลายท่อน ประสบการณ์แบบนี้ผมพบมาเอง เขาเรียก ขบวนการมอดไม้”

ในมุมของผู้รักษากฎหมาย ไม่เพียงแรงกดดันของสังคม ความพยายามที่จะล้มคดีเกิดขึ้นบ่อยครั้งหากผู้กระทำผิดมีอำนาจบารมีหรือเป็นเจ้าหน้าที่เสียเอง

“เมื่อประมาณ 5-6 ปีที่แล้ว มีเหตุตำรวจคนหนึ่งและพรรคพวกเข้าไปล่าสัตว์ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน พนักงานป่าไม้ก็เข้าไปจับได้ น่าเสียดายที่ผู้รักษากฎหมายกลับเป็นผู้กระทำผิดซะเอง หัวหน้าแก่งกระจานนำเจ้าหน้าที่เข้าไปจับได้ พร้อมอาวุธ เพราะฉะนั้นไม่ได้ผิดตามกฎหมายป่าไม้เท่านั้น ผิดตามกฎหมายอาวุธปืนด้วย แล้วก็พบของกลางในที่เกิดเหตุ มีซากกระจง คดีนี้เบื้องหลังก็มีความพยายามช่วยเหลือกันเหมือนกัน แต่ก็ไม่สำเร็จ กระบวนการยุติธรรมเราไม่ยอม ในที่สุดศาลฎีกาก็มีคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ก็คือ จำคุกจำเลย 10 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ เพราะว่าเดี๋ยวนี้ผมว่ากระบวนการยุติธรรมเราตื่นตัว ศาลก็ตื่นตัวแล้ว ความผิดฐานนี้ก็ไม่ได้รอลงอาญากันง่ายๆ แล้ว แม้จะเป็นความผิดครั้งแรก จะอ้างว่าไม่เคยทำความผิดมาก่อน ทำความดีมาตลอด อะไรก็แล้วแต่ก็ไม่เป็นข้ออ้างที่จะให้รอลงอาญา”

สำหรับคดีดังอย่างกรณีเจ้าสัวเปรมชัย อัยการท่านนี้ย้ำว่าเหตุเกิดในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าซึ่งมีกฎหมายคุ้มครองเป็นพิเศษ ชัดเจนว่าผิดตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เพราะมีซากสัตว์ไว้ในความครอบครอง รวมถึงผิดพ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ และพ.ร.บ.อาวุธปืน ซึ่งเป็นกฎหมายอาญาด้วย ส่วนการดำเนินคดีที่หลายคนกังวลนั้น ในมุมมองของนักกฎหมายขอให้เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม เพียงแต่ต้องเข้าใจในเบื้องต้นว่า ทุกวันนี้กฎหมายที่เกี่ยวกับสัตว์ป่ายังมีข้อบกพร่อง

“ในฐานะอัยการซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติ ข้อบกพร่องของกฎหมายที่เกี่ยวกับสัตว์ป่า ผมเห็นจุดหนึ่ง ง่ายๆ ก็คือโทษมันน้อยไป ในหลายๆ มาตราโทษมันนิดเดียว จะเห็นว่าโทษฐานในการลักลอบตัดไม้หวงห้ามยังสูงกว่าการล่าสัตว์อีก ล่าสัตว์จะมีบางมาตราเท่านั้นที่โทษจำคุก 4 ปี 5 ปี ซึ่งน้อยมาก ซึ่งการที่โทษต่ำ นอกจากจะไม่สามารถเข้าองค์ประกอบอาชญากรรมข้ามชาติได้ มันยังทำให้สามารถจะรอลงอาญาได้ง่ายด้วย”

ไปให้ไกลกว่า...เสือดำ

แม้จะเป็นความสูญเสียที่เจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่าและประชาชนผู้มีหัวใจอนุรักษ์ไม่อาจจะยอมรับ และคาดหวังให้ผู้กระทำได้รับการลงโทษอย่างสาสม แต่ในมุมของนักกฎหมายสิ่งแวดล้อมอย่าง ผศ.ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอให้มองไกลกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแค่มุมเดียว

“เวลาเราพูดถึงคดีดังอย่างเสือดำเนี่ย เราอย่าหยุดแค่เสือดำ ที่พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายถึงว่าให้ไปที่เสือดาวด้วย หรือหมายถึงสัตว์ป่าทั้งปวงเท่านั้น แต่อย่าหยุดแค่สัตว์ป่า เพราะเวลาเราพูดว่าคนไปล่าสัตว์ ไปทำให้สัตว์ป่าลดน้อยลง หยุดคิดแค่นั้นไม่พอนะคะ เราชวนให้ขยายขอบความคิดให้ไปไกลกว่าแค่ สัตว์ป่าหนึ่งตัวตาย และให้ไปไกลกว่าแค่ สัตว์ป่าตาย ต้องระลึกว่าในระบบนิเวศมันเป็นเรื่องของการพึ่งพาอาศัยระหว่างสรรพสิ่งทั้งหลาย เป็นการพึ่งพาอาศัยโดยไม่มีใคร Standalone ได้ ผ่านระบบห่วงโซ่อาหาร ที่ถ้าปราศจากการแทรกแซงของมนุษย์มากเกินควร ระบบนิเวศควรจะสมดุล และความสมบูรณ์อันเนื่องมาจากความสมดุล มันจะรักษาสรรพสิ่งให้ยั่งยืน”

มองในมุมนี้ความตายของเสือดำหนึ่งตัว จึงโยงใยถึงระบบธรรมชาติที่ใหญ่กว่า เช่นเดียวกับกรณีป่าไม้ถูกทำลายก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เพราะป่าไม้ คือแหล่งอาหาร ถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า เพราะฉะนั้นจุดใหญ่ใจความจึงอยู่ที่ “จะบริหารจัดการอย่างไรให้เสือก็อยู่ได้ สัตว์ป่าอยู่ได้ ป่าอยู่ได้ แล้วคนก็อยู่กับป่าได้” ซึ่งกฎหมายมีหน้าที่รับใช้โจทย์ใหญ่นี้

อย่างไรก็ดี ผศ.ดร.คนึงนิจ มองว่าปัญหาในขณะนี้คือ ต้นทางของกระบวนการทั้งหมด คือบทบัญญัติของตัวกฎหมายเองกำลังมีปัญหา

กฎหมายมีหลายเรื่องหลายฉบับ มีหน่วยงานที่รักษาการหรือรับผิดชอบกฎหมายแต่ละฉบับแตกต่างกัน บางเรื่องก็คล้องจองกัน บางเรื่องก็ไม่คล้องจองกัน เพราะฉะนั้นถ้าบทบัญญัติของกฎหมาย ที่เราเรียกภาษากฎหมายว่า กฎหมายสาระบัญญัติเองยังมีเนื้อหาที่ไม่อยู่กับร่องกับรอย แล้วเวลาแก้ไขก็ต่างคนต่างแก้ องค์กรที่รักษากฎหมายก็ต่างคนต่างปฏิบัติ เวลาที่ไปสู่เรื่องจริงผ่านจอ เราก็จะพบบ่อยครั้งเลยว่ามันไม่น่าจะเป็นอย่างนี้ แล้วทำไมมันถึงเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นเวลาเราพูดถึงคนกับป่า หรือว่าสัตว์ป่ากับคนเนี่ย แน่นอนอยู่ว่าเราคงไม่สามารถละเลยระบบกฎหมายที่ยังไม่สมบูรณ์นี้ไปได้”

ข้อเสนอเพื่อการปลดล็อคคดีคนกับป่า นักวิชาการท่านนี้ชี้ไปที่การบูรณาการกฎหมายที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งหมด ด้วยความตระหนักว่าการแก้ปัญหาจุดใดจุดหนึ่งไม่สามารถรักษาความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติให้ยั่งยืนได้

“เราจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้ความสำคัญทุกเรื่อง ไม่เฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ในระบบคนกับป่าก็เช่นกัน จะดูแต่เรื่องดังๆ แล้วดูแค่บางเสี้ยว มันอาจจะได้เฉพาะบริบทการทำงานในบางที่บางแห่งเท่านั้น แต่ถ้าจะพูดถึงการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม แล้วถ้าจะใช้กฎหมาย กฎหมายนั้นจะต้องปฏิรูป อาจจะต้องมีแนวคิดสร้างประมวลกฎหมายเกี่ยวกับที่ดินและป่าไม้ เอากฎหมายป่าไม้มาผนวกกับกฎหมายอุทยานอย่างไร หรือว่าการบริหารจัดการที่ไม่ใช่รัฐอย่างเดียว แต่ว่าใช้ตัวผู้เล่น เช่น ชุมชน องค์กรเอกชน”

สอดรับกับความเห็นของนักวิชาการป่าไม้ที่ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ป่าประมาณ 102 ล้านไร่ แบ่งการดูแลรับผิดชอบตามไปตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายหลายฉบับ อาทิเช่น พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ 2507 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2535 ซึ่งหากพบการกระทำความผิดในพื้นที่ไหนจะใช้พ.ร.บ.ที่ควบคุมดูแลพื้นที่นั้นเป็นหลัก ซึ่งถ้าเทียบจำนวนเจ้าหน้าที่กับพื้นที่แล้ว แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะดูแลอย่างทั่วถึง

“ปัจจุบันเราก็ใช้เทคโนโลยีใช้รูปแบบวิธีการมาปรับปรุง อย่างเช่นในพื้นที่หนึ่งเราต้องสแกนออกมาให้ได้ว่าตรงไหนเป็นพื้นที่ที่เปราะบางที่สุด ตรงไหนเป็นพื้นที่รองลงมา แล้วก็จะใช้คนใช้ทรัพยากรเท่าที่มีในการป้องกัน” สมปอง กล่าวและว่า การป้องกันคือวิธีที่เหมาะสมที่สุด ส่วนการปราบปรามเป็นทางเลือกสุดท้ายสำหรับหยุดยั้งผู้กระทำผิด

“อยากให้ทุกภาคส่วนช่วยกัน เจ้าหน้าที่รัฐร่วมกับภาคเอกชนร่วมกับประชาชนในการเป็นหูเป็นตา โดยเฉพาะสื่อ โซเชียลแซงชั่นเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญ”

และไม่ว่าถึงที่สุดจะเอาผิดคนใจบาปเหล่านั้นได้หรือไม่ ต้องยอมรับว่าทุกครั้งที่เสียงเลื่อยไม้หรือเสียงปืนดังขึ้น ความเสียหายได้เกิดกับทรัพยากรธรรมชาติแล้ว มาตรการทางกฎหมายจึงถือเป็นปลายเหตุ

“ถ้าคนไม่เข้าใจป่า ไม่เข้าใจระบบนิเวศตั้งแต่ต้น ออกกฎหมายกี่ร้อยฉบับก็ไม่สามารถทำให้คนอยู่ร่วมกับป่าอย่างพึ่งพาอาศัยกันได้ ออกกฎหมายเป็นพันฉบับก็ไม่สามารถบังคับใช้ได้ผล” ผศ.ดร.คนึงนิจ ยืนยัน

สุดท้ายไกลที่สุดของเรื่องนี้จึงไม่มีอะไรจะดีไปกว่า การสร้างความตระหนักร่วมกันว่า สรรพสิ่งในระบบนิเวศล้วนต้องพึ่งพาอาศัย ‘เด็ดดอกไม้ย่อมสะเทือนถึงดวงดาว’ และมนุษย์เป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งที่ควรดำรงอยู่ในฐานะผู้ ‘รักษา’ มิใช่ ‘ทำลาย’