เม็ดเงินโฆษณาฟื้น สื่อมุ่งออฟไลน์-ออนไลน์

เม็ดเงินโฆษณาฟื้น สื่อมุ่งออฟไลน์-ออนไลน์

อุตสาหกรรมโฆษณาอยู่ในภาวะถดถอยต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2559 ที่ติดลบ 10% มูลค่า 1.2 แสนล้าน และปี 2560 ลดลง 4% มูลค่า 1.16 แสนล้านบาท สำหรับสถานการณ์ปีนี้เห็น“สัญญาณบวก”มากขึ้น

ไตรลุจน์ นวะมะรัตน นายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT) กล่าวว่าอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาปีนี้ มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากสภาพเศรษฐกิจขยายตัว ทั้งการส่งออกและท่องเที่ยว คาดการณ์จีดีพีปีนี้เติบโต 4% 

สมาคมมีเดียฯ ประเมินการใช้สื่อปี 2561 ดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจมีความมั่นใจมากขึ้น ประกอบการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018  ในปีนี้ จะกระตุ้นสินค้าและแบรนด์จัดกิจกรรมพิเศษและใช้งบโฆษณาเพิ่มขึ้น  คาดว่าอุตสาหกรรมโฆษณาปีนี้ จะมีมูลค่า  1.2 แสนล้านบาท  เติบโต 4%  ถือเป็นการฟื้นตัวที่มูลค่ากลับไปเท่ากับปี 2559  

อย่างไรก็ตามท่ามกลางการเปลี่ยนด้านเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคนี้  ส่งผลให้ธุรกิจสื่อ สินค้าและแบรนด์ มีการปรับตัวบูรณาการการสื่อสารทุกรูปแบบและอินเตอร์แอคทีฟกับผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ผู้บริโภค เพื่อสร้าง New Ecosystem for Success ร่วมกัน

โฆษณาออนไลน์ยังแรง

รัฐกร สืบสุข อุปนายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย กล่าวว่าสมาคมฯ ประเมินงบประมาณการใช้สื่อในปี 2561 ส่วนใหญ่เริ่มเห็นการเติบโต โดยสื่อทีวีดิจิทัล มีมูลค่า 66,017 ล้านบาท เติบโต 5% ยังเป็นสื่อที่ครองส่วนแบ่งสูงสุดที่ 55% เนื่องจากยังเป็นสื่อที่เข้าถึงครัวเรือนไทยทั่วประเทศ

โดยสื่อที่มีแนวโน้มเติบโตในปีนี้ คือ สื่อโรงภาพยนตร์ มูลค่า 8,671 ล้านบาท เติบโต 25%, กลุ่มสื่อนอกบ้าน ยังมีแนวโน้มเติบโต 10%  ประกอบด้วย ป้ายโฆษณา มูลค่า 7,030  ล้านบาท  เติบโต 10% , สื่อในระบบขนส่ง (transit) มูลค่า 6,760 ล้านบาท  เพิ่มขึ้น 15%  และสื่อที่ยังคงการขยายตัวต่อเนื่องตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา  คือสื่ออินเทอร์เน็ต หรือ ออนไลน์  โดยพิจารณาจากข้อมูลของ สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ DAAT ประเมินปีนี้ มีมูลค่า 14,722  ล้านบาท เติบโต 25% 

ปีนี้โฆษณาสื่อออนไลน์ จะมีส่วนแบ่งการตลาด 12%  ขยับขึ้นมาอยู่ในอันดับสอง รองจากสื่อทีวี แซงหน้าสื่อหนังสือพิมพ์  ที่ส่วนแบ่งการตลาดในอุตสาหกรรมโฆษณาลดลงจาก 12% ในปี 2559   คาดการณ์ปีนี้อยู่ที่ 7% 

สำหรับสื่อโฆษณาที่ยังอยู่ในภาวะถดถอยต่อเนื่องปีนี้ คือ  เคเบิลและทีวีดาวเทียม มูลค่า 2,476 ล้านบาท  ติดลบ 15% , วิทยุ มูลค่า  4,290 ล้านบาท  ติดลบ 15% , หนังสือพิมพ์  มูลค่า 8,502  ล้านบาท  ติดลบ 25% 

และนิตยสาร มูลค่า 1,499 ล้านบาท ติดลบ 30%

‘สื่อ’รุกออฟไลน์-ออนไลน์

ถกลเกียรติ วีรวรรณ ประธานกรรมการฝ่ายบริหาร สถานีโทรทัศน์ ช่องวัน กล่าวว่าท่ามกลางการขยายตัวของสื่อออนไลน์ แต่เชื่อว่า“สื่อทีวีไม่ตาย” เพราะสื่อทีวีเป็นฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่นำเสนอคอนเทนท์หลากหลาย ตอบโจทย์พฤิตกรรมการเสพคอนเทนท์ที่แตกต่างกัน  นอกจากนี้สื่อทีวียังปรับตัวนำเสนอคอนเทนท์ผ่านทุกดิจิทัลแพลตฟอร์มที่เข้าถึงผู้ชม  มองว่าการนำเสนอทั้ง “ออนแอร์และออนไลน์” เป็นช่องทางที่สนับสนุน ให้สื่อทีวียังเติบโตได้ 

สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจสื่อ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าจากประสบการณ์ในธุรกิจสื่อวิทยุกว่า 26 ปี เริ่มตั้งแต่โฆษณาสปอตละ 50 บาท กระทั่งสร้างรายได้สูงสุด 700 ล้านบาทต่อปี พบว่าสื่อวิทยุมีการปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีตลอดเวลา และเชื่อว่า“สื่อวิทยุไม่ตาย”แน่นอน  นอกจากนี้สื่อออนไลน์ยังเข้ามาสนับสนุนให้สื่อวิทยุสามารถเข้าถึงผู้ฟังผ่านดีไวซ์ต่างๆ ได้ทั่วประเทศและทั่วโลก กลยุทธ์การบริหารสื่อของเอ-ไทม์ จึงมุ่งเข้าหาผู้ฟัง ทั้ง“ออนแอร์ ออนไลน์ และออนกราวด์” ที่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆทางธุรกิจและการเติบโต 

สรายุทธ มหวลีรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าต้องยอมรับว่าสื่อสิ่งพิมพ์หรือหนังสือพิมพ์ เป็นสื่อหลักของคนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ถึงวัยเกษียณ ที่ยังชื่นชอบการอ่านสื่อแบบรูปเล่ม ขณะที่กลุ่มอายุ 25-50 ปี จะเสพสื่อสิ่งพิมพ์ทั้งรูปเล่มและแพลตฟอร์มออนไลน์  ส่วนกลุ่มอายุต่ำกว่า 25 ปี ไม่หยิบจับหนังสือพิมพ์และเสพคอนเทนท์ผ่านออนไลน์เป็นหลัก

การปรับตัวของสื่อสิ่งพิมพ์ที่ผ่านมาจึง ขยายช่องทางออนไลน์ไปพร้อมกับสื่อสิ่งพิมพ์ เพื่อเข้าถึงผู้อ่านทุกกลุ่มและสร้างรายได้จากทั้งออฟไลน์และออนไลน์