กอปศ.เตรียมชี้แจง กมธ.คงอัตรา5% งบเข้ากองทุนเสมอภาค 28 ก.พ.นี้

กอปศ.เตรียมชี้แจง กมธ.คงอัตรา5% งบเข้ากองทุนเสมอภาค 28 ก.พ.นี้

กอปศ.เตรียมชี้แจง กมธ.ขอคงอัตรา 5% งบฯด้านการศึกษาเข้ากองทุนเพื่อความเสมอภาคฯ 28 ก.พ.นี้ ระบุหากเงินได้น้อยอาจจำเป็นต้องลดจำนวนกลุ่มเป้าหมายจากเดิม 4.3 ล้านคน

เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2561 ภายในงานมหกรรมสร้างเสริมสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว ที่อิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมกรรปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ และกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา(กอปศ.) ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับร่างพรบ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาว่า ขณะนี้ผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญติแห่งชาติ(สนช.)วาระที่ 1แล้ว จากนี้จะเข้าสู่การพิจารณาของชั้นกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญ สนช.ก่อนเข้าสู่สนช.วาระที่ 2 และ 3 ส่วนประเด็นในเรื่องของแหล่งที่มาเงินทุนที่จะเข้าสู่กองทุนฯ จากเดิมในร่างกฎหมายที่กอปศ.จัดทำเสนอให้จัดสรร 5% จากงบประมาณด้านการศึกษา แต่ร่างที่ผ่านสนช.วาระ 1 ให้จัดสรรทุนประเดิม 1,000 ล้านบาทเข้ากองทุน และให้เสนอแผนงานที่ชัดเจนเสนอต่อคณะกรรมการกองทุนและคณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติแล้วสำนักงบประมาณจะจัดสรรงบฯให้อย่างเพียงพอแต่ในฝ่ายที่ยกร่างพรบ.นี้มีความกังวลว่าหากเวลาเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ คนอาจจะไม่เข้าใจและไม่สามารถจัดได้ตามความจำเป็น อย่างไรก็ตาม ประเด็นเหล่านี้อาจจะมีการแก้ไขปรับปรุงร่างกฎหมายอีกครั้งในชั้นกรรมาธิการได้ ตนจะเป็นผู้แทนกอปศ.เข้าชี้แจงเหตุผลที่เสนอบรรจุงบ 5%ไว้ในกฎหมายต่อกรรมาธิการในวันที่ 28 ก.พ.นี้

ดร.ประสาร กล่าวอีกว่า แหล่งที่มีเงินทุนเข้ากองทุนตามที่กอปศ.เสนอบรรุจไว้เดิม เนื่องจากมองว่าหากมีการจัดงบประมาณด้านการศึกษาไว้เท่าไหร่ ก็อยากจะจัดงบประมาณมาใช้ในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและพัฒนาครูไว้ 5 % แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรรงบประมาณมีความกังวลว่าจะเป็นการทำเป็นตัวอย่างแล้วหน่วยงานอื่นๆจะทำในลักษณะเดียวกัน แต่ในการเสนอบรรจุ 5%ของกอปศ.มีการคำนึงถึงประเด็นนี้เช่นกัน จึงอ้างอิง 5%ของงบด้านการศึกษา ไม่ใช่งบประมาณทั่วไป และมีการวางกรอบเวลาช่วง 5 ปีในการสร้างระบบและสร้างตัวอย่าง หลังจากนั้นก็ใช้อ้างอิงจากผลงาน โดยจะมีการชี้แจงในชั้นกรรมาธิการต่อไป

ดร.ประสาร กล่าวอีกว่า ในร่างพรบ.ได้มีการกำหนดแหล่งทุนอื่นไว้ด้วย เช่น เงินบริจาคให้ได้รับสิทธิในการลดหย่อนภาษี หรือถ้าจำเป็นก็ขอรัฐบาลขอรายได้ส่วนหนึ่งจากสลากกินแบ่งรัฐบาล ส่วนเงินประเดิม 1,000 ล้านบาท คงไว้เพื่อวัตถุประสงค์รักษาความมั่นคงของสำนักงานกองทุน เพราะเมื่อจัดตั้งแล้วจำเป็นที่จะต้องรับพนักงานและต้องมีเงินเดือนและค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ อย่างไรก็ตาม การคงอัตรา 5 %ไว้ในร่างพรบ.เช่นเดิม จะทำให้มีความั่นใจมากขึ้นว่ามีทรัพยากรในระดับพียงพอที่จะให้กองทุนฯสามารถดำเนินภารกิจได้ตามเป้าหมาย

“ตามบทบัญญัติในร่างพรบ.ที่ผ่านวาระแรก ไม่ได้มีอะไรที่ชี้ไปในทางที่ว่าปฏิเสธไม่ให้งบประมาณ เพียงบอกว่าไม่อยากให้ใส่ตัวเลข แต่ให้ทำแผนและถ้าแผนครม.เห็นชอบด้วย สำนักงบฯก็จัดให้เพียงพอ ถ้าเป็นเช่นนี้ก็ขึ้นกับว่าการจัดทำแผนต้องเป็นที่น่าเชื่อถือแค่ไหน มีตัวเลขยืนยันเพียนงใด และครม.มีความมุ่งมั่นแค่ไหน ส่วนเรื่องการปรับขนาด แน่นอนว่าโจทย์เรื่องความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องใหญ่พอสมควร ซึ่งจากงานวิจัยพบว่ามีเด็กและเยาวชนที่กองทุนจะเข้าไปช่วยเหลือประมาณ 4.3 ล้านคนและครูอีกจำนวน และมีหลักการว่าจะเข้าไปสนับสนุนในรูปแบบใด อัตราอุดหนุนคนบะเท่าไหร่ หากสมมติฐานว่าเงินกองทุนได้น้อย ก็จะต้องไปปรับกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ จำนวนคนที่ได้รับการช่วยเหลืออาจจะลดลง หรือจำนวนเงินต่อหัวที่ได้รับการช่วยเหลือลดลง ซึ่งวิธีการบริหารจัดการอาจจะต้องปรับเปลี่ยน” ดร.ประสารกล่าว