จับตาพื้นที่ 'มักกะสัน-ศรีราชา' บูมรับรถไฟความเร็วสูง2แสนล้าน

จับตาพื้นที่ 'มักกะสัน-ศรีราชา' บูมรับรถไฟความเร็วสูง2แสนล้าน

จับตา! พื้นที่มักกะสัน150ไร่ และศรีราชา100ไร่ บูมถูกพัฒนาเชิงพาณิชย์ รับรถไฟความเร็วสูง 2 แสนล้าน เชื่อม 3 สนามบิน

หลังจากวานนี้ (26ก.พ.) การประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (บอร์ดอีอีซี) เห็นชอบหลักการโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา มูลค่าลงทุนรวม 2 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ ผลการศึกษาอัตราตอบแทนทางเศรษฐกิจของรถไฟความเร็วสูงกทม.-สนามบินอู่ตะเภา พบว่ามีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (IRR) อยู่ที่ประมาณ 17% ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจทั้งโครงการอยู่ที่ 7 แสนล้านบาท โดยเป็นช่วง 50 ปีแรก (ตามสัญญา PPP ของเอกชน) จะมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท มาจากมูลค่าเพิ่มการนำสนามบินอู่ตะเภามาใช้ประโยชน์ ลดการใช้น้ำมัน การเดินทาง ลดมลพิษสิ่งแวดล้อมจากการใช้รถยนต์ ผลตอบแทนจากการพัฒนาเศรษฐกิจและพื้นที่เชิงพาณิชย์ตลอดสองเส้นทาง รวมทั้งรายได้ที่จะมาจากการที่รัฐจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น ส่วนมูลค่าภายหลังสัญญา 50 ปีซึ่งโครงการนี้จะตกเป็นของภาครัฐ ประมาณ 3 แสนล้านบาท

สำหรับรายละเอียดโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะวิ่งด้วยความเร็ว 250 กม.ต่อชั่วโมง ซึ่งจะทำให้สามารถเดินทางจาก กรุงเทพฯ-สนามบินอู่ตะเภา ภายใน 45 นาที ใกล้เคียงกับรถไฟความเร็วสูงจากสนามบินนาริตะเข้าสู่เมืองโตเกียวที่ญี่ปุ่น ซึ่งรถไฟความเร็วสูงเส้นทางนี้จะเป็นการเปิดพื้นที่การพัฒนาจากกรุงเทพฯ เชื่อม จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง

โดยจะมีสถานีรถไฟ 5 สถานี ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ศรีราชา พัทยา และสนามบินอู่ตะเภา โดยโครงการนี้ครอบคลุมเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจากสนามบินดอนเมือง-สนามบินอู่ตะเภา โดยแบ่งเป็น 3 ช่วงรวมระยะทาง 220 กม.

ได้แก่ 1.รถไฟความเร็วสูงส่วนต่อขยายแอร์พอร์ตลิงก์ ดอนเมือง-พญาไท ระยะทาง 21 กม. 2.รถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ พญาไท-สนามบินสุวรรณภูมิ ระยะทาง 29 กม. และ 3.รถไฟความเร็วสูงจากสนามบินสุวรรณภูมิ-สนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง 170 กม.
ส่วนในระยะที่ 2 ที่จะศึกษาเชื่อมโยงไปถึงชายแดนภาคตะวันออก ซึ่งคาดการณ์ระยะเวลาในการเดินทางจากกรุงเทพฯ-ระยอง 60 นาที กรุงเทพฯ-จันทบุรี 100 นาที และกรุงเทพฯ-ตราด 120 นาที ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เหมาะสมกว่าการเดินทางโดยรถยนต์และเครื่องบิน

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้พัฒนาพื้นที่สถานีและสนับสนุนการให้บริการผู้โดยสาร 2 จุดคือบริเวณสถานีมักกะสันในพื้นที่ 150 ไร่ สำหรับการเป็นสถานีหลักรถไฟความเร็วสูง รวมที่จอดรถและเชื่อมโยงกับรถไฟใต้ดิน และบริเวณสถานีศรีราชาในพื้นที่ประมาณ 100 ไร่ สำหรับการเป็นสถานี ที่จอดและอู่ซ่อม เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟ โดยพื้นที่ทั้งสองแห่งที่จะพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้กำหนดให้ผู้พัฒนาโครงการจ่ายค่าเช่าที่ดินให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ตามราคาตลาดและให้รัฐมีส่วนร่วมในการรับกำไร เมื่อโครงการมีกำไร (revenue sharing)

อ่านฉบับเต็มที่ http://daily.bangkokbiznews.com/detail/324409