จัดกิจกรรม 'Zero Trash' ลุยโครงการต้นแบบ แก้ปัญหาขยะทะเลอย่างยั่งยืน

จัดกิจกรรม 'Zero Trash' ลุยโครงการต้นแบบ แก้ปัญหาขยะทะเลอย่างยั่งยืน

ปนป.7 สถาบันพระปกเกล้าจัดกิจกรรม Zero Trash ลุยโครงการต้นแบบแก้ปัญหาขยะทะเลอย่างยั่งยืน 

ตัวแทนนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้นำยุคใหม่ในระบอบประชาธิปไตย รุ่นที่ 7 (ปนป.7) สถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดโครงการต้นแบบ ‘Zero Trash’ แก้ไขปัญหาขยะในทะเลอย่างยั่งยืน เป็นสะพานเชื่อมต่อทุกภาคส่วน กระตุ้นจิตสำนึกสาธารณะต่อการแก้ปัญหาขยะด้วยแนวคิด “We clean, we educate, we change” ชูภาพลักษณ์ที่ดีและส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย ประเดิมที่แรกชายหาดพัทยา จ.ชลบุรี
นายแพทย์ปิติ ฉลองวิริยะเลิศ หัวหน้ากลุ่มเสือ หลักสูตรประกาศนียบัตรผู้นำยุคใหม่ในระบอบประชาธิปไตย รุ่นที่ 7 สถาบันพระปกเกล้า เปิดเผยว่า “ข้อมูลจาก www.IFLScience.com พบว่าในทุกๆปี เรามีการใช้พลาสติกทั่วโลกมากถึง 275,000,000 ตัน หรือคิดเป็นน้ำหนักเท่ากับช้าง 55,000,000 ตัว และมีขยะไหลลงสู่ทะเลมากถึง 8,000,000 ตัน ต่อปี สำหรับประเทศไทยปล่อยขยะลงมหาสมุทรเป็นอันดับ 6 ของโลก โดยข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ปีพ.ศ 2558 ขยะที่พบบนชายหาดประกอบด้วย ก้นบุหรี่ เศษพลาสติก และขยะทั่วไป ส่งผลให้เกิดปัญหามลภาวะระบบนิเวศในน้ำ ส่งกลิ่นเหม็น ปัญหาน้ำท่วม นักท่องเที่ยวลดลง สภาพเศรษฐกิจถดถอย จึงเป็นที่มาของการจัดกิจกรรม ‘Zero Trash’ โครงการต้นแบบเพื่อแก้ไขปัญหาขยะทะเลอย่างยั่งยืน โดยเลือกชายหาดวงศ์อำมาตย์ เมืองพัทยา จ.ชลบุรี เป็นพื้นที่โครงการนำร่องเพื่อแก้ปัญหาและส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของการท่องเที่ยวในประเทศไทย”
นพ.ปิติ ยังกล่าวต่อไปอีกว่า “พวกเราเชื่อว่า ในปัจจุบัน ‘ขยะ’ ที่มีปริมาณมากมาย และยังเป็นปัญหาอยู่นั้น เป็นเพราะว่าขยะเหล่านั้น ยังไม่ได้รับการบริหารจัดการที่ดี ซึ่งปัญหาขยะในทะเลเป็นปัญหาใหญ่ของโลก และหากยังไม่มีการแก้ไขอย่างบูรณาการทั้งระบบ อีกไม่นานในท้องทะเลจะมีปริมาณขยะมากกว่าปริมาณปลา หรือสิ่งมีชีวิต สร้างปัญหาต่างๆมากมายให้กับมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พวกเรากลุ่มเสือ หลักสูตรประกาศนียบัตรผู้นำยุคใหม่ในระบอบประชาธิปไตย รุ่นที่ 7 (ปนป.7) สถาบันพระปกเกล้า จึงขอลุกขึ้นมาทำอะไรดีๆเพื่อสังคม ที่ไม่ใช่แค่การรณรงค์ให้ใครต่อใครมาเก็บขยะแล้วก็จบไป เพราะในการแก้ไขปัญหาขยะในทะเลอย่างยั่งยืนนั้น ไม่สามารถแก้ไขได้เพียงคนใดคนหนึ่ง เราจึงเปรียบเหมือนสะพานที่เชื่อมต่อองค์กรในทุกภาคส่วน โดยการสร้างโมเดลการมีส่วนร่วมอย่างเป็นระบบ ภายใต้ชื่อโครงการ ‘Zero Trash’ เพื่อกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาขยะในทะเลอย่างยั่งยืน
โดยโครงการดังกล่าว เราได้จัดทำคู่มือเพื่อเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาขยะในทะเลอย่างยังยืน          ที่รวบรวมข้อมูลจากนักวิชาการ ผู้ประกอบการ ประชาชน เสนอต่อท่านนายกเมืองพัทยา พร้อมทั้งได้ประสานทุกภาคส่วนให้ดำเนินกิจกรรมไปพร้อมๆกัน ตามแนวทางแบบประชารัฐ คือ การปรับความสัมพันธ์ของภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย เมืองพัทยา ผู้ประกอบการโรงแรมบริเวณชายหาดวงศ์อำมาตย์ ผู้ประกอบการประมง นักวิชาการ จิตอาสา นักท่องเที่ยว นักเรียน และประชาชนทั่วไป ในการร่วมมือกันเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงอย่างบูรณาการทั้งระบบ เช่น ผลักดันการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด โดยการแจ้งให้ทุกภาคส่วนทราบข้อกฎหมาย และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด รวมไปถึงการจัดกิจกรรม Big Cleaning Day บริเวณชายหาดวงศ์มาตย์ทุกสัปดาห์โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความรู้เพื่อปรับทัศนคติและพฤติกรรมของประชาชน นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการทิ้งขยะอย่างเป็นระบบ ดังนั้น ‘Zero Trash’ จึงไม่ใช่แค่ชื่อโครงการ แต่เป็น Key Message ที่จะส่งต่อถึงคนทั่วโลกให้ตระหนักและเข้าใจถึงปัญหาขยะที่สามารถแก้ไขได้ด้วยโมเดลนี้” นพ.ปิติกล่าว
อย่างไรก็ตาม โครงการต้นแบบ ‘Zero Trash’ จัดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาขยะทะเลอย่างยั่งยืน โดยเริ่มโครงการแรกที่ชาดหาดวงศ์อำมาตย์ เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ทั้งนี้ได้เริ่มกิจกรรมตั้งแต่ ก.ย. 60 ที่ผ่านมา และจะมีการประเมินผลการดำเนินงานในเดือน มี.ค. 61 นี้ ประชาชนที่สนใจร่วมกิจกรรมดังกล่าวสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ้กแฟนเพจ ‘Zero Trash Thailand’