'เบน The Voice' เสียงจริง...ใจจริง

'เบน The Voice' เสียงจริง...ใจจริง

สิ้นเสียงประกาศผล...แม้เขาไม่ใช่ผู้ชนะเลิศบนเวที แต่บุคลิกและพลังเสียงที่ส่งถึงผู้ฟัง ทำให้ ‘เบน The Voice’ กลายเป็นขวัญใจของใครหลายคนไปแล้ว

“ชีวิตก็เป็นแบบนี้”

            เบน - เบนจามิน เจมส์ ดูลลี่ อดีตนักร้องนำวงเกียร์ไนท์ (Gear Knight) วงร็อกที่มีผลงานเพลงทั้งติดหูและติดชาร์ทเมื่อประมาณ 10 กว่าปีก่อน กล่าวถึงสิ่งต่างๆ ที่ผ่านมา กำลังเกิดขึ้น และจะผ่านไปในชีวิตของเขา

            จากวันนั้นจนวันนี้วงร็อกวงนี้กลายเป็นเพียงตำนาน แต่การกลับมาของ ‘เบน’ อีกครั้งในรายการ The Voice Thailand Season 6 นอกจากจะทำให้อดีตแฟนเพลงได้หายคิดถึงแล้ว โฉมใหม่ของเขาที่พ่วงมากับอาชีพอาจารย์สอนร้องเพลงคลาสสิก ประจำวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งเสียงทรงพลังกังวานแบบนักร้องโอเปร่า (Opera) กับบุคลิกที่เปลี่ยนแปลงไปจากดุดันอย่างร็อกสตาร์ กลายเป็นนุ่มนวล สงบ ขี้อาย และ Family man มากๆ ทำให้เขาจบการแข่งขันด้วยตำแหน่งรองแชมป์ไปอย่างได้ใจคนดูเต็มๆ

  • หายไปไหนมา?

            “ช่วงที่หายไปได้ไปเรียน หลักๆ คือผมไปที่สหรัฐอเมริกาเพื่อไปเรียนปริญญาโทด้านการร้องเพลง ซึ่งก็จับพลัดจับผลูไปเรื่อยๆ เราเริ่มจากร็อกแอนด์โรล เราไม่ได้มีพื้นฐานทางคลาสสิกเท่าไร แต่เราได้ไปเจอคนที่ร้องคลาสสิกบ้าง ก็เลยสนใจวิธีการร้องว่าเป็นอย่างไร คือ มันกังวาน มันก้อง มันดัง มันดู Healthy (แข็งแรง) เลยอยากลองเรียนพวกนี้ดูบ้างเพื่อจะมาประยุกต์ใช้ เพราะตอนนั้นตอนที่เป็นศิลปิน เรามีปัญหาการใช้เสียง มีโชว์บ่อย ร้องเพลงเสียงจะมีปัญหา ป่วย มีอักเสบบ้าง ทำงานเยอะๆ ก็จะร้องไม่ไหว เราจึงพยายามแสวงหาว่าทำอย่างไรให้ร้องดีขึ้น แล้วได้ยินมาว่านักร้องโอเปร่าร้องได้สามชั่วโมงเสียงไม่เป็นอะไร ตอนนั้นก็ตกใจ ตื่นเต้น พอได้เรียนถึงรู้ว่าร้องไปเรื่อยๆ ก็เหนื่อยเหมือนกัน แต่ว่ามันร้องได้นานขึ้น ผมสอนได้ทุกวัน ผมร้องได้ทุกวัน เสียงผมไม่มีปัญหา เพราะรู้แล้วว่าใช้เท่าไรถึงจะดี ถึงจะปลอดภัย ร้องแบบไหนเริ่มอันตราย ก็จะหลีกเลี่ยงแบบนั้น นั่นเป็นเรื่องสุขภาพเสียงที่เราได้ค้นพบในทางโอเปร่า”

  • เล่าถึงตอนไปเรียนที่อเมริกา?

            “ตอนนั้นที่ไปอเมริกาผมไม่ได้กะจะไปเรียน ผมแค่อยากไปดู และผมมีเพื่อนที่อเมริกา อยากไปลองทำวง ไปเล่นดนตรีกันที่อเมริกา เพราะตอนนั้นผมยังติดสัญญากับทางค่าย ทุกคนในวงก็ตัดสินใจกันว่าเราจะเบรกก่อน จากตลาดร็อกในเมืองไทยที่ตอนนั้นมันเริ่มห่อเหี่ยว แนวเพลงเริ่มเปลี่ยน งานก็เริ่มน้อย อะไรก็เริ่มยาก ชีวิตหลายคนยาก นักร้องร็อกหรือนักดนตรีร็อกหลายคนก็ยาก มีแค่ไม่กี่วงที่จะผ่านมรสุมตรงนั้นไปได้ เราก็เลยตัดสินใจกันว่าเบรกการทำเพลงไปก่อน

            พอเมืองไทยไม่ไหว เราไปดูตลาดอเมริกาไหม มีเพื่อนเป็นฝรั่งที่เขาชื่นชอบเรา อยากร่วมงานด้วยกัน แต่พอเราไป จะไปอยู่ที่นั่นอย่างไร ผมไม่ใช่อเมริกัน ผมเป็นลูกครึ่งไทย-ออสเตรเลียน ผมไปอยู่ตรงนั้นเฉยๆ ไม่ได้ ต้องเรียนเพื่อจะได้วีซ่า เพราะถ้าไปแบบนักท่องเที่ยวจะเทียวไปเทียวมาก็ไม่ไหว ซึ่งวีซ่าเดียวที่จะทำให้อยู่นานได้ก็คือนักเรียน ก็เลยลองสมัครดูเผื่อจะได้เรียน”

  • สมัยเป็น เบน Gear Knight ในสายตาแฟนคลับก็ยังไม่ได้กระแสตก แต่การละทิ้งไปแบบฉับพลัน ไม่เสียดายหรือ?

            “มันน่าสนใจตรงที่หลายคนไม่รู้ว่าหลังจาก Gear Knight ผ่านไปสองอัลบั้ม ผมมีอีกอัลบั้มหนึ่ง ในชื่อของอีกวงหนึ่ง คือ Silent Scream ปัญหาคือพอเราทำ Gear Knight ในอัลบั้มที่สอง เราพบปัญหาว่าเราไม่มีงาน เพลงมันฮิต เช่น เพลงอยากได้แฟน ขึ้นอันดับหนึ่ง แต่กลับมาดูคิวงานไม่มีงานเลย เฮ้ย! มันเป็นไปได้อย่างไร เกิดอะไรขึ้น แล้วทุกคนก็ท้อใจ ถึงขนาดมือกีตาร์มาบอกว่าจะไปสมัครเป็นสจ๊วตแล้วนะ หามือกีต้าร์ใหม่ก็ได้นะ

            ทุกคนจะคิดว่าชีวิตจะดี มีวง ไม่ใช่เลยนะครับ พวกเราเรียกได้ว่าขายของกิน คือมันไม่มีจะกิน มีแต่ความดังแต่ไม่มีเม็ดเงิน และเราก็ไม่ได้ดังขนาดนั้น พวกเราเป็นแบบเพลงติดมากกว่า ไม่ใช่ภาพติด หนังก็ไม่เคยแสดง โฆษณาก็ไม่เคยได้ เราไม่ถึงจุดนั้น ไม่เหมือนกับหลายวงที่ประสบความสำเร็จจริงจัง ซึ่งเราก็ไม่ได้รู้สึกแย่อะไร แค่มันไม่พอจะกินก็เริ่มยากแล้ว ผมก็เลยตัดสินใจว่าถ้าโจทย์ของเราคือต้องการวงที่แข็งแรงมากขึ้น เราก็ลองทำโปรเจกต์มา รวมนักดนตรีเก่งๆ เช่น พี่หนึ่ง วินัย แชมป์กีต้าร์ overdrive guitar contest เคยทำงานให้ศิลปินใหญ่ๆ มาเยอะแยะ หรือพี่เอก มิสเตอร์ทีม, พี่ปิ๊ก มือเบส แบ็คอัพชื่อดัง เราก็จับมารวมกันเป็นคล้ายๆ ซูเปอร์ทีม ทำดนตรีแบบหนักหน่วง เล่นยาก ใครจะแกะวงเราต้องยาก พอผลงานออกมาปั๊บก็สลายไป... มันไม่เวิร์ค มันขายไม่ได้ แล้วมันก็เงียบไป ก็เป็นประสบการณ์ที่ท้อใจ จนเป็นจุดตัดสินแล้วว่าเราต้องลองทำอะไรอย่างอื่นแล้ว”

  • เรียกว่าผิดหวังกับการเป็นร็อกเกอร์หรือเปล่า?

            “ไม่ได้ผิดหวัง เราแค่รู้สึกว่าต้องตัดสินใจไปตามสถานการณ์มากกว่า เพราะตอนนั้นเราจะไปทำอะไรถ้าไม่ทำร็อกแอนด์โรล ทำ Gear Knight ก็ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง และถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง แต่ถามว่าตัวตนของผมชอบเนื้อเพลงอะไรแบบนั้นไหม ก็ไม่ได้ถึงขนาดนั้น คือต้องเข้าใจว่า Gear Knight คือสิ่งที่ตลาดอยากได้จากผม มันไม่ใช่สิ่งที่ผมเป็นเสียทีเดียว ซึ่งทุกวงก็ต้องมาหาจุดกึ่งกลางระหว่างสิ่งที่ตลาดอยากได้กับสิ่งที่เป็น เพื่อจะได้มีชีวิตอยู่รอดในวงการ แต่เพลงบางเพลง เนื้อหาบางเนื้อหา ก็ไม่ใช่สิ่งที่ผมอยากร้อง คิดถึง เหงา มันเป็นคำพูดที่ไม่ได้อยู่ในสมอง แต่เราก็ร้องเพราะตลาดต้องการ ที่ใช่คือตัวตนเราเป็นร็อกแอนด์โรล ตัวตนเราคือร้องแบบพลังเยอะ แต่เนื้อเพลงอาจไม่ใช่ตัวตนเราเสียทีเดียว เพราะยุคนั้นเด็กวงร็อกก็อยากจะร้องเพลงที่มีความหมายลึกๆ ปรัชญา อะไรต่างๆ นานา เราก็เป็นหนึ่งในนั้น และเราก็ฟังเพลงฝรั่ง มันไม่ค่อยมีใครร้องเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ถ้าใครร้องเพลงเกี่ยวกับความรักมันมักจะดัง (หัวเราะ)”

  • แนวทางค่ายกับวงไม่ตรงกัน กระแสแนวเพลงร็อกค่อยๆ ซา แล้วกับโอเปร่าในบ้านเราตลาดยิ่งเล็กกว่าอีกไม่ใช่หรือ?

            “ใช่ครับ เล็กกว่ามาก เล็กแบบเทียบไม่ได้ เล็กแบบไม่มีตัวตน แต่ผมอยู่ในจุดที่ผมไม่ได้แคร์ ไม่ใช่เพราะผมมีเงินนะ ผมค่อนข้างไม่ค่อยมีเงินด้วยซ้ำไป ในหมู่ Gear Knight ผมได้เงินเดือนน้อยที่สุด ณ ตอนนี้ ทุกคนก็ไปมีธุรกิจบ้าง ทำงานในบริษัทใหญ่โต ทุกคนล่ำซำ มีแต่ผมนี่แหละจนที่สุด แต่ ณ ตอนนี้ถามว่าเราอยากได้อะไร ใหญ่ที่สุดเราอยากได้ครอบครัว แค่นั้นเอง เราอยากมีเวลากับครอบครัว อยากสร้างครอบครัว ใช้เวลากับลูก ใช้เวลากับภรรยา ชีวิตมันสั้นนะ เอาเงินมาทำไม เอาเงินมาเยอะแยะแล้วไม่รู้ว่าจะเอาไปใช้อะไร บ้านเล็กๆ ก็อยู่พอ ไม่ต้องทำความสะอาดเยอะ ไม่ต้องจ้างคนทำความสะอาด

            การตัดสินใจเรียนโอเปร่า ในฐานะของผู้แสดงก็จะไม่ได้กว้างแบบร็อกแอนด์โรล แต่ผมว่ามันเหมาะกับไลฟ์สไตล์เรามากกว่า ตรงที่ว่างานอาจจะน้อยลง ซึ่งเราต้องการอย่างนั้น ถ้ามันแมส (mass) มากๆ ก็อาจต้องไปเล่นไกลๆ บ่อยๆ แล้วเราต้องแคร์ ถ้าเราตั้งวงขึ้นมาแล้วจะมาบอกว่าฉันขอร้องเดือนละสามครั้งนะ วงก็คงไม่พอใจแน่นอน ชีวิตของนักดนตรีร็อกก็จะไม่ค่อยเหมาะ แต่แบบที่เป็นอยู่นี้ ทำงานประจำ กลับไปบ้าน เจอภรรยา เจอลูก ก็ดูจะเหมาะสมกว่า อาจจะมีงานพิเศษบ้าง ร้องโอเปร่าบ้างบางครั้ง ร้องเพลงป๊อปบ้างบางครั้ง ปีหนึ่งมีสัก 5-6 งาน (หัวเราะ) แต่ตั้งแต่ไปประกวด The Voice ก็เริ่มมีงานเพิ่มมากขึ้นนิดหน่อย จากปีที่แล้วทั้งปีมีประมาณ 3 งาน ซึ่งคนก็คงไม่รู้ว่ามีนักร้องคลาสสิกอยู่ตรงนี้หนึ่งคน เพราะคนเห็นผมก็นึกถึงร็อกแอนด์โรลอยู่ แต่ก็ไม่เป็นไร เงินเดือนก็พออยู่ได้ ภรรยาก็ช่วยทำงาน (เป็นนักดนตรีในวง TPO : Thailand Philharmonic Orchestra) เราก็ไม่ได้ใช้เงินอะไรมากมาย”

  • นอกจาก The Voice ได้ไปรายการประกวดร้องเพลงอื่นๆ หรือเปล่า?

            “ไม่มีเลย จริงๆ ตอนนั้นมีกระแสรายการ The Mask Singer หลายคนก็บอกทำไมอาจารย์เบนไม่ไป The Mask Singer เขาก็ไม่ได้ติดต่อกันมา และเขาก็คงไม่รู้จะติดต่ออย่างไรด้วยมั้ง แต่ผมรู้สึกว่าถ้าผมไป The Mask Singer ผมต้องกลับไปเป็น Gear Knight ผมรู้สึกว่าเขาคงอยากให้ผมไปทางเดิม แต่ผมมองตัวเองว่าเป็นสินค้าใหม่ เป็นเสียงใหม่ เป็นอะไรที่เริ่มต้นใหม่ และอีกอย่างเราไม่ได้มองว่าเราเป็นศิลปินดาราอะไรอีกต่อไปแล้ว เพราะมันผ่านมาตั้งสิบกว่าปีแล้ว ชีวิตปกติไม่มีใครจำผมได้แล้ว ผมเดินตลาด ขี่มอเตอร์ไซค์ ใส่กางเกงขาสั้น รองเท้าแตะไปซื้อของที่ร้านอุปกรณ์ก่อสร้าง ใช้ชีวิตปกติไม่มีใครมาทักว่าพี่เบน Gear Knight มันน้อยมาก หนึ่งปีจะมีสักครั้งสองครั้ง เราก็ดูเรียบร้อยขึ้น ดูติ๋มขึ้นมาหน่อย ดูเป็นอาจารย์ ดูแก่ขึ้นมาหน่อย ผมก็ไม่ได้รู้สึกว่าเราเป็นดารา ถ้าเป็นดาราทำอะไรก็ต้องมีข่าว ซึ่งเราก็ไม่ใช่แบบนั้น แม้แต่ตอนที่เป็น Gear Knight เราก็ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นดาราขนาดนั้น เราไม่เคยไปถึงจุดนั้นจริงๆ

            และก็ไม่ได้อยากเป็นแบบนั้นด้วย เรารู้สึกว่ามันน่ากลัวนะ สิ่งที่ผมชอบมากตอนที่ไปอเมริกาคือเหมือนผมได้หายใจครั้งแรก เราก็ไปตอนช่วงที่มีคนเห็น มีคนรู้จัก ทำอะไร จะเดินออกจากบ้านก็ต้องแต่งตัวให้ดี ต้องมีแนวเป็นร็อกแอนด์โรล คนเจอเขาจะได้รู้ว่าเราเป็นร็อกแอนด์โรล แต่จริงๆ เรามีบางอารมณ์ที่อยากคีบรองเท้าแตะ อยากจะธรรมดาแต่เราทำไม่ได้ พอไปอเมริกา โอ้! สบาย มันรู้สึกเหมือนเราเป็นคนธรรมดาอีกครั้งหนึ่ง ไม่มีใครมอง ไม่ต้องเครียดว่าจะทำตัวอย่างไร กลับมาเราก็รู้สึกว่าเราเป็นเหมือนเดิมได้ เป็นธรรมดาได้ ตอนนี้น่าสนใจตรงที่พอผมไปออก The Voice อีกทีหนึ่งก็เริ่มมีกระแส เริ่มมีคนจำได้ แต่ผมก็ยังทำตัวธรรมดาได้อยู่ ผมเป็นเพื่อนได้กับทุกคน ขณะเดียวกันผมรู้สึกว่าไม่ต้องพยายามดูดีต่อหน้าทุกคนตลอดเวลา เราก็เป็นปุถุชน ต้องมีมุมเผละๆ มุมแย่ๆ บางทีผมตื่นเช้าไม่ได้อาบน้ำ หัวยังแบนๆ ก็ยังเดินออกไปซื้อของ เราไม่จำเป็นต้องไปแคร์อะไรขนาดนั้น คำว่า ‘คนของประชาชน’ ผมไม่ค่อยเชื่อหรอก ผมว่ามันเป็นเรื่องไม่จริง”

  • กว่าจะปรับความคิดให้เป็นแบบนี้ได้?

            “เราทุกคนรู้ในทฤษฎี ว่าควรทำตัวธรรมดา เป็นตัวของตัวเอง ไม่ต้องไปทำตามความคาดหวังของคนมาก ไม่ต้องแอ๊บเป็นสิ่งอื่น ทุกคนรู้ เวลาตอบสื่อก็ตอบว่าเป็นคนถ่อมตัว เป็นคนธรรมดา แต่ในความเป็นจริง ในระดับ subconscious (จิตใต้สำนึก) มันไม่ใช่ สิ่งที่ช่วยผมก็คือประสบการณ์ที่ผ่านมา เราเคยดังแล้วไปอเมริกามันทุบเราให้ละเอียด แล้วเราก็เริ่มสร้างตัวเองขึ้นมาใหม่ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อก่อนผมอยู่เมืองไทย แสดงคอนเสิร์ต ตามหลัก ศิลปินจะมาถือเครื่องดนตรีขึ้นเวทีเองไม่ได้ ต้องมีแบ็คสเตจ พวกนี้เรียกง่ายๆ ว่า คนรับใช้ นักดนตรีเดินขึ้นมาเท่ๆ แล้วมีคนหยิบกีตาร์มาสวมแล้วก็เล่นเลย ทุกอย่างเป็นภาพของความเท่ เราอยู่เหนือทุกคน เราเป็นคนที่สำคัญที่สุด

            พอผมไปอเมริกา ผมไม่มีเงิน ก็ต้องทำงานในมหาวิทยาลัย รู้ไหมว่าผมทำงานอะไร...เป็นแบ็คสเตจ มันเหมือนกับทุบเราให้ความหยิ่งยโสหมดไป เป็นคนธรรมดา ผมคิดว่าคนในสังคมมักจะยกคนและกดคน สุดท้ายพอทุกคนไม่มีเสื้อผ้า โป๊เหมือนกันหมด ก็น่าเกลียดเหมือนกัน ทุกคนดูเหมือนจะเท่ากัน แต่หลายครั้งเราใส่เสื้อผ้า ใส่ยศ ใส่เครื่องแบบ และเรารู้สึกมากกว่าที่เราเป็น ทั้งที่เราเป็นแค่มนุษย์คนหนึ่งที่สักวันก็แก่ลงเรื่อยๆ และตายไป ถ้ามองในมุมนี้ก็ไม่ต้องไปยึดถืออะไรมาก ไม่ต้องถือตัวอะไรมาก โลกไม่ได้หมุนรอบตัวคุณ”

  • เคยเป็นศิลปินดัง อาชีพหลักก็มี มีครอบครัวที่อบอุ่น มีเหตุผลอะไรที่ต้องไปเป็น เบน The Voice?

            มันต้องมีเหตุผลสิ ไม่อย่างนั้นเราคงไม่ไป อาชีพหลักก็มี ครอบครัวก็มี ประสบการณ์ด้านออกอัลบั้มก็มี ถ้าถามเรื่องเหตุผลคือผมยังอยากทำเพลง อยากเป็นศิลปินในระดับหนึ่ง แต่ผมกำลังหาว่ามันอยู่ตรงไหนที่จะประนีประนอมระหว่างตัวตนผมกับแมสที่ยังมีความสุข หรือกลุ่มแฟนเพลงที่อาจจะชอบงานของเรา มันเหมือนจะเป็นอีโก้ของศิลปินนิดๆ แต่ผมว่ามันเป็น Healthy Ego มันเป็นอีโก้ที่ทำให้เราทำงาน เรามีความรู้มากมายที่อยากจะแบ่งปัน ศิลปินต้องทำงานศิลปะ นักร้องก็ต้องหาโอกาสที่จะสร้างงานศิลปะคือร้องเพลง คนจะชอบไม่ชอบก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ที่ The Voice เป็นเวทีที่ทำให้เรามาตกผลึกว่าจะทำมันอย่างไร เราได้เจอกับแมสแล้ว เวทีอยู่ในสายตาคนทั้งประเทศ และไม่ได้มองเรื่องอะไรนอกจากเรื่องเสียง อันนี้ในทางทฤษฎี แต่ในความเป็นจริงก็มากกว่านั้นอยู่แล้วแหละ แต่ทางทฤษฎีที่ไม่มองอะไรมากกว่าเรื่องเสียง เราก็หาวิธีที่เราร่ำเรียนมา เทคนิคและตัวตนของเรามาลองสร้างผลงานที่เราจะทำในช่วงเวลานี้ ซึ่งถ้าเราไม่ไป The Voice ไม่ไปรายการ มันแทบจะไม่มีโอกาสทำเลยจริงๆ สมัยนี้การทำเพลงมันยากมาก มันไม่มีคนหนุนหลัง มันเป็นยุคที่ไม่มีการลงทุนทำอัลบั้ม มีไม่กี่คนที่จะทำอัลบั้มได้ ส่วนมากทำเป็นซิงเกิล แล้วนี่จะมาลงทุนกับเสียงที่เราไม่เคยเป็นมาก่อน ใครจะอยากทำล่ะ ก็เคยคุยกับพี่ๆ ที่เคยทำงานด้วย แต่ทุกคนบอกว่าตลาดมันเล็กนะ ไม่น่าจะรอด สรุปทุกคนไม่อยากทำ ผมจึงเป็นศิลปินที่ไม่มีที่ให้ทำงาน ก็เลยมองว่าสมัยนี้เวลาคนมีผลงานใหม่ๆ มักจะเริ่มจากเวทีประกวดมาก่อนเพื่อทดสอบว่าคนดูชอบหรือเปล่า แล้วค่ายเพลงค่อยเริ่มสนใจว่านี่น่าจะขายได้ นี่จึงแนวคิดว่า The Voice จะเป็นประตูที่เปิดให้เราทำอะไรแบบนี้ได้”

  • ตลาดคลาสสิกและโอเปร่าในบ้านเราเป็นอย่างไร?

            “ก็มีเล็กๆ นะครับ ไม่แมส คลาสสิกที่อยู่ได้ ณ ปัจจุบัน อยู่ได้ด้วยแรงเงินบริจาคหรือเงินสปอนเซอร์มากกว่า เพราะมันเป็นภาษาอื่น คนไม่มีโอกาสได้สัมผัส หลายครั้งคนที่ได้มาสัมผัสจริงๆ จะชอบมาก โดยเฉพาะเรื่องการร้องคลาสสิก เพราะมันเหนือมนุษย์ เวลาพูดธรรมดา แต่พอร้องเพลงมันดังก้องกังวาน ดังมาถึงท้ายฮอลล์ได้ขนาดนี้ แล้วเพลงคลาสสิกถ้าคุณจะชอบต้องฟังสด ถ้าฟังจากเทปจะไม่รู้สึกว่าพิเศษ จะรู้สึกเหมือนคนเสียงใหญ่ๆ มาร้องเพลงดังๆ ถ้ามาฟังสดหน้าคุณจะสั่นเลยนะครับ ถ้าคนร้องเก่งๆ นะ มันเป็นโลกที่ต้องใช้เวลาการสร้างนาน”

  • กลับมาในช่วงที่อายุมากขึ้น แนวเพลงค่อนข้างแปลกสำหรับบ้านเรา แถมยังเป็นยุคดิจิทัลอีก กังวลไหมว่าจะกลับมาได้ยาก?

            “ผมก็ว่ายาก แต่ต้องลองทำ มันยากมากนะที่จะทำให้แนวนี้คนมาต่อแถวซื้อบัตรดูคอนเสิร์ต แต่ผมไม่ได้คาดหวังไง ผมแค่ลองดู เรามีแรงก็ทำดู จะประสบความสำเร็จหรือไม่สำเร็จก็ค่อนข้างมีความสุข ผมว่าเราทำงานที่มีค่าสำหรับคนไม่กี่คนแล้วรู้สึกดี น่าจะดีกว่าทำงานให้คนล้านคนแต่เรารู้สึกไม่ชอบ ต้องฝืนทำ ถ้าเป็นเรื่องศิลปะผมว่ามันไม่คุ้ม แต่ในมุมการทำงานทำอาชีพผมว่าใช่ เราต้องยอมเหนื่อยเพื่ออาชีพของเรา มันเป็นสองอย่างนะ ผมว่าศิลปะไม่ควรเป็นอาชีพ ควรเป็นมากกว่าอาชีพ คือมีความสุขเมื่อทำ แต่อาชีพเป็นเรื่องความรับผิดชอบ เราต้องเหนื่อย ต้องตื่นเช้า เราอาจไม่ได้อยากทำหรอกแต่ต้องทำ เพราะเราต้องเอาเงินมาจุนเจือตัวเองและครอบครัว

          ผมจึงแยกให้ชัดเจน คือ ผมยอมเหนื่อย ทำงานหนักๆ เพื่อที่จะทำศิลปะให้ดี มากกว่าผมจะทำศิลปะห่วยๆ ที่ผมไม่ชอบแล้วมันได้เงิน”