“บ้าน-คอนโด”กรุงเทพฯ 3 ปีราคาพุ่ง100%

 “บ้าน-คอนโด”กรุงเทพฯ 3 ปีราคาพุ่ง100%

ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ พร็อพเพอร์ตี้ อินเด็กซ์ รายงานดัชนีที่อยู่อาศัยล่าสุด โดยระบุว่าแนวโน้มราคาในกรุงเทพฯ ยังคงเป็นบวก สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตามแม้ว่าแนวโน้มราคาจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2560

แต่หากเทียบไตรมาสต่อไตรมาส พบว่าเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปีที่ผ่านมายังคงอยู่ในช่วงไว้ทุกข์ 1 ปี  ทำให้การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายและอีเวนท์ต่างๆ ไม่รุนแรงนัก โดยช่วงไตรมาสสุดท้ายปีที่แล้วดัชนีราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 199 จุดในช่วงไตรมาสก่อนหน้า มาอยู่ที่ 205 จุด คิดเป็นสัดส่วนการเติบโตระหว่างไตรมาส 3%

“แม้ว่าการอัตราการเติบโตของดัชนีราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 60 จะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แต่ยังถือเป็นภาพรวมที่ดีของตลาดที่อยู่อาศัยกรุงเทพฯ ที่กำลังค่อยๆ ฟื้นตัว ในขณะที่กำลังซื้อของผู้บริโภคในเซ็กเมนต์ระดับกลางไปจนถึงระดับบนมีการปรับตัวดีขึ้น” 

กมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อมองย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงที่เริ่มทำการเก็บข้อมูลในปี 2558 พบว่าการเติบโตของราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ สูงขึ้นถึง 105% โดยเฉพาะคอนโด ซึ่งได้รับความนิยมในปัจจุบัน โดยช่วงไตรมาส 4 ปี 60 ดัชนีราคาคอนโดแตะระดับ 154 จุด เพิ่มขึ้นจากช่วงต้นปี 54% แต่ช่วงไตรมาส 4 พบว่าทาวน์เฮ้าส์มีราคาเพิ่มขึ้นสูงที่สุดเมื่อเท่ียบกับไตรมาส 3 อยูที่ 7% และช่วง 1 ปีเพิ่ม 14%

เมื่อแยกตามตลาด พบว่ากลุ่มราคา 15 ล้านบาทขึ้นไป เติบโตสูงสุดโดยเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 12%  และเพิ่มขึ้นถึง 39% ภายในระยะเวลา 2 ปี

เขตจตุจักร ยังคงเป็นพื้นที่่ราคาเพิ่มขึ้นสูงสุด โดยเพิ่ม 5% จากไตรมาส ส่วนเขตบางนาแซงเขตพระโขนงขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 2 เติบโตในรอบไตรมาส 3% และเขตบางนานับเป็นพื้นที่ที่น่าจับตามอง เพราะดัชนีราคาชี้ให้เห็นว่ามีการเติบโตเพิ่ม 75% ในช่วงไม่ถึง 3 ปี

“ราคาที่อยู่อาศัยยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อไปจากปัจจัยบวกที่ช่วยให้เกิดพื้นที่ศักยภาพ เช่น โครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายหลายสายที่มีความคืบหน้า งการลงทุนแผนพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทยระยะ 20 ปี คาดจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยบนทำเลใหม่ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมืองสำคัญๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก”

ขณะที่ฝั่งอุปทาน แม้ว่าเดือน ต.ค.ปีที่แล้วแทบจะไม่มีการเปิดตัวโครงการใหม่หรือกิจกรรมส่งเสริมการขาย แต่ช่วง 2 เดือนสุดท้ายของไตรมาส 4 พบว่ากำลังซื้อกลับมาอย่างรวดเร็ว ทำให้ไตรมาส 4 ดัชนีอุปทานที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ปรับตัวลดลง 7% มาอยู่ที่ 240 จุด ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ผู้ประกอบการแข่งออกแคมเปญเพื่อเร่งยอดขายในช่วงโค้งสุดท้ายของปี

อุปทานส่วนใหญ่คือคอนโด คิดเป็น 88% ของทั้งหมดในช่วงไตรมาส 4 ส่วนบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์มีสัดส่วนค่อนข้างน้อย เนื่องจากที่อยู่อาศัยแนวราบส่วนใหญ่ ผู้ซื้อมักจะซื้อเพื่ออยู่อาศัยเอง ต่างกับคอนโดที่จำนวนมากซื้อเพื่อขายต่อหรือลงทุน ทำให้การดูดซับค่อนข้างเร็ว ในขณะที่ผู้ประกอบการก็เปิดตัวโครงการใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง

ทำเลที่มีอุปทานคอนโดมากที่สุดในช่วงไตรมาส 4 ได้แก่ เขตวัฒนา ขณะที่เขตลาดพร้าวมีปริมาณทาวน์เฮ้าส์เข้าสู่ตลาดมากที่สุด ส่วนเขตคลองสามวาเป็นพื้นที่ยอดนิยมสำหรับบ้านเดี่ยว

สำหรับแนวโน้มปี 2561 คาดว่าดัชนีอุปทานที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการที่ผู้ประกอบการทั้งรายเล็ก-รายใหญ่ส่งสัญญาณว่าจะเปิดโครงการใหม่ๆ จำนวนมาก รับกับทิศทางตลาดที่คาดว่าจะฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่อาจจะไม่ร้อนแรงนักเพราะกำลังซื้อยังค่อนข้างจำกัดจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่แม้จะเริ่มคลี่คลายลง แต่ก็ยังอยู่ในระดับสูง

“แม้การดูดซับอุปทานจะเป็นไปแบบช้าๆ ณะที่ผู้ประกอบการมีแผนเปิดโครงการใหม่ๆ อย่างคึกคักปีนี้แต่เชื่อว่าไม่น่าจะมีภาวะอสินค้าล้นตลาดเกิดขึ้น เนื่องจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่างเฝ้าสังเกตการณ์สถานการณ์อย่างใกล้ชิด”

กมลภัทรกล่าวว่า ผู้ขายจะยังคงได้รับผลดีจากราคาที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยดัชนีราคามีการเติบโตมากกว่า 100% ในช่วงไม่ถึง 3 ปี ขณะที่ฝั่งผู้ซื้อก็ได้รับประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยต่ำ และโปรโมชั่นพิเศษจากผู้ประกอบการที่ต้องการเร่งระบายสินค้าในสต็อก