แค่รับฟัง-ใส่ใจป้องกันฆ่าตัวตายจากโรคซึมเศร้า

แค่รับฟัง-ใส่ใจป้องกันฆ่าตัวตายจากโรคซึมเศร้า

"ปลัดกระทรวงสาธารณสุข" ชี้หากพบผู้สูงอายุพูดจาสั่งเสียหรือไม่ต้องการมีชีวิตอยู่ ขอให้รับฟัง - ใส่ใจอย่าปล่อยทิ้งไว้คนเดียว เพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากข่าวการฆ่าตัวตายที่มีการนำเสนอมีหลายเคส ทั้งที่สำเร็จและไม่สำเร็จแต่ก็ขอให้เราช่วยกันป้องกันจะดีกว่า เนื่องจากเป็นเรื่องใกล้ตัวอาจเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย โดยการป้องกันเริ่มจากสังเกตความผิดปกติของคนใกล้ชิด โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น มะเร็ง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หากพบว่ามีการพูดจาในทำนองสั่งเสีย ไม่ต้องการมีชีวิตอยู่ ขอให้ใส่ใจ รับฟัง พูดคุย อย่าปล่อยทิ้งไว้ให้อยู่คนเดียว แค่นั่งอยู่เป็นเพื่อนเพื่อให้มีโอกาสระบายความรู้สึกออกมา

แต่หากอาการไม่ดีขึ้นขอให้พาไปพบจิตแพทย์ทันที รวมถึงสังเกตตัวเองด้วยว่ามีความเครียดสะสมหรือไม่ เช่น วิตกกังวลมาก นอนไม่หลับ ควรหาวิธีผ่อนคลายความเครียด เช่น ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ พูดคุยกับคนใกล้ชิด หรือโทรปรึกษาสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 หรือที่แอพพลิเคชั่นสบายใจ Sabaijai

อย่างไรก็ตาม การฆ่าตัวตายมาจากหลายสาเหตุ ประมาณร้อยละ 50 ที่พบว่ามาจาก “โรคซึมเศร้า” คาดว่าคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป เป็นโรคซึมเศร้า 1.5 ล้านคน จึงได้มอบหมายให้กรมสุขภาพจิตจัดทำโครงการค้นหาผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าในกลุ่มเสี่ยงเพื่อเพิ่มการเข้าถึงและลดความรุนแรงที่อาจนำไปสู่การฆ่าตัวตาย ซึ่งล่าสุดมีผู้ป่วยซึมเศร้าเข้าถึงบริการร้อยละ 55.40 ส่วนสถิติในปี 2559 ประเทศไทยมีอัตราการผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จอยู่ที่ 6.35 ต่อประชากรแสนคน ประมาณการณ์ว่ามีแนวโน้มลดลงได้ถ้าใช้กลยุทธ์การป้องกันการทำร้ายตัวเองซ้ำ เพิ่มการเข้าถึงบริการจะสามารถลดการฆ่าตัวตายลงได้เฉลี่ย 300-400 คนต่อปี