คืนความสดใส เมื่อ “ฝุ่น”ไปแล้ว?

คืนความสดใส เมื่อ “ฝุ่น”ไปแล้ว?

เมื่อฝุ่นละอองในเมืองค่อยๆลดน้อยลงไป หรือนี่ถึงเวลาคืนอากาศอันสดใสให้คนกรุงฯ

เผื่อใครยังไม่รู้…จนถึงวันนี้ปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 ที่คนกรุงเทพฯ วิตกเมื่อ 2-3 สัปดาห์ก่อนค่อยๆ ลดน้อยลงไปแล้ว

ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา กรมควบคุมมลพิษยืนยันอีกครั้งว่า ปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 อยู่ในเกณฑ์ปกติในทุกพื้นที่ โดยตรวจวัดปริมาณเฉลี่ยได้ในช่วง 23 – 32 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานซึ่งอยู่ในระดับ 50 ไมโครกรัม

ปริมาณฝุ่นละอองลดลงนี้เป็นผลมาจากฝนตกในช่วง 3-4 วันที่ผ่านมา ขณะเดียวกันกรุงเทพมหานครเองก็ระดมแรงงานทำความสะอาดผิวการจราจรและทางเท้า ฉีดพ่นละอองน้ำกำจัดฝุ่น พร้อมกำกับดูแลกิจกรรมต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดฝุ่น เช่น งดใช้ยานพาหนะเสื่อมสมรรถภาพ ลดการเผาขยะ กำชับปิดคลุมพื้นที่ก่อสร้าง ฯลฯ

ฝุ่นจึงค่อยๆ ลดน้อยไป เช่นนี้แล้ว...ถึงเวลาแล้วใช่ไหม?สำหรับอากาศสดใสในกรุงเทพฯ

ฝุ่นไปแล้ว (นะ)

ต่อให้ฝุ่นมากกว่านี้ แต่ถ้าไม่บอกก็คงยากที่ใครๆ จะสังเกตเห็นได้เอง นั่นเพราะฝุ่นละออง PM2.5 ขนาดเล็กจิ๋วไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า หากความเล็กระดับนี้ทำให้เล็ดลอดผ่านทางเดินหายใจสู่ปอดและสร้างปัญหากับหลอดเลือดได้ง่ายขึ้นเช่นกัน

ในงานเสวนา ‘ภัยร้าย “ฝุ่น” กลางเมือง’ สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ย้ำอีกว่า จากข้อมูลที่มี ถึงสถานการณ์จะฟังดูเลวร้ายตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่สถานการณ์ที่เคยกังวลกันนี้ก็ค่อยๆ ดีขึ้นแล้ว

มลพิษทางอากาศในกรุงเทพฯ แบบที่ว่า ไม่ใช่เรื่องที่เกินความคาดหมาย แต่เพิ่มขึ้นมาแล้วตั้งแต่ 10 ปีก่อน ยิ่งในช่วงเดือนมกราคม-เมษยายนของทุกปีนี้ เป็นรอยต่อของสภาพภูมิอากาศ จากหน้าหนาวสู่หน้าร้อน อากาศจึงนิ่งและความกดอากาศสูง ฝุ่นจึงระบายตัวไม่ได้

“ประกอบกับกรุงเทพฯมีโครงการก่อสร้างตึกสูง สร้างรถไฟฟ้า ทำให้ฝุ่นไม่สามารถระบายตัวได้ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าหลังจากเดือนเมษายน สถานการณ์จะกลับมาเป็นปกติ ฝุ่นน้อยลง ฟ้าจะใสเหมือนเดิม”

สำหรับฝุ่นละออง PM 2.5 นั้นเป็นฝุ่นขนาดเล็กซึ่งเกิดจากกิจวัตรประจำวัน เช่น การใช้ยานพาหนะ การเผาในที่โล่ง การก่อสร้างและการประกอบอุตสาหกรรมต่างๆ และในจำนวนนี้ยังพบว่าเกิดจากการเผาไหม้น้ำมันดีเซลจากเครื่องยนต์

สถิติย้อนหลัง 7 ปี ตั้งแต่เริ่มมีการวัดฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพฯ พบว่าค่าเฉลี่ยรายปีตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมามีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ โดยในปี 2560 มีค่าเฉลี่ยรายปีของ PM2.5 อยู่ที่ 26 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ลดลงถึงร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ฝุ่นที่เกิดขึ้นรอบปีนี้จึงไม่ได้รุนแรงจนเกินรับไหว ถึงเช่นนั้นก็ต้องระวังไว้ เพราะถ้ายังเผา ก่อสร้าง และใช้ยานพาหนะมากๆ ก็เป็นไปได้ว่าดัชนีสิ่งแปลกปลอมจะเพิ่มขึ้นอีก

โทษที...เมืองนี้ใช่มีแค่ฝุ่น

ฟังเผินๆ ก็เหมือนจะดี ที่บอกกันว่าถ้าฝนตกและพ้นจากช่วงรอยต่อฤดูกาลไปแล้ว อากาศก็จะกลับคืนปกติ แต่ในความเป็นจริง เรื่องของคุณภาพชีวิต เราควรรอหรือไม่

“ถ้าบอกว่ามกราคม-เมษายน ช่วงเวลา 4 เดือนนั้นเอื้อต่อการเกิดสภาวะฝุ่นละออง ก็เท่ากับว่าเราปล่อยให้ชีวิต 1 ใน 4 ของปีอยู่ในความเสี่ยง ดังนั้นแม้จะเข้าใจธรรมชาติแต่เราคงจะปล่อยให้เป็นแบบนั้นไม่ได้ และกรุงเทพฯก็มีประชากรอาศัยจำนวนมากซึ่งต้องให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพ” รศ.ดร.นันทวรรณ วิจิตรวาทการ นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านฝุ่นและผลกระทบ คณบดีวิทยาลัยโลกคดีศึกษา มธ.ตั้งข้อสังเกต

ยิ่งถ้ามองเรื่องสารพิษอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากฝุ่น จะพบว่าเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ล้วนเป็นพื้นที่ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการรับสารพิษในอากาศ อาทิ การที่โรงงานอุตสาหกรรมรอบๆ ปล่อยคาร์บอนมอนนอกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ซึ่งค่อยๆ สะสมในร่างกาย

หรือถ้าใครเดินผ่านกองขยะที่ไม่ได้รับการคัดแยก ก็เป็นไปได้ว่าคุณจะพบซากผลิตภัณฑ์น้ำมันเครื่อง น้ำมันหล่อลื่น ซึ่งมีสารเคมีประเภทไฮโดรคาร์บอน สีและทินเนอร์ ซากถ่านไฟฉาย ถ่านนาฬิกา ซึ่งมีโลหะหนักประเภทตะกั่ว แคดเมียม ปรอท โลหะหนัก สารก่อมะเร็ง และทั้งหมดล้วนเป็นอันตราย

ศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล หัวหน้าหน่วยงานโรคภูมิแพ้ คณะแพทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า สารพิษที่อยู่ในมวลอากาศของเมืองใหญ่นั้นมีหลายชนิด และแม้จะไม่ได้อยู่ในปริมาณมาก เหมือนที่เรารู้สึกได้กับฝุ่นตอนนี้ แต่ก็ย้ำเตือนได้ถึงสิ่งที่ต้องระวัง โดยเฉพาะเรื่องอากาศในเมืองใหญ่

“อากาศที่มีสิ่งแปลกปลอมไม่ได้มีแค่มลพิษจากฝุ่นเท่านั้น แต่ยังหมายถึงอนุภาคเล็กๆ อย่างเช่น ละอองเกสรพืช สปอร์เชื้อรา แบคทีเรีย ไวรัส ไรฝุ่น รวมถึงสารจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงรถยนต์ ซึ่งหากสารเหล่านี้หากเข้าไปสัมผัสในร่างกายผ่านการหายใจ อาการเบื้องต้นที่จะเกิดขึ้นคือ ไอ จาม หายใจลำบาก ระคายเคืองตาและจมูก จนไปถึงน้ำมูกน้ำตาไหล ระบบทางเดินหายใจผิดปกติ และเป็นภูมิแพ้”

ไม่ต้องไปเดินริมถนนซึ่งมีการจราจรหนาแน่น เพราะแค่เรานั่งอยู่ในสำนักงานก็สุ่มเสี่ยงต่อการรับสารพิษได้ เช่น กลิ่นหมึก กลิ่นเฟอร์นิเจอร์ กลิ่นผนัง กลิ่นสีที่ยังไม่แห้ง หรือถ้าอยู่บนรถแล้วขับรถผ่านพื้นที่ต่างๆ ควันเสียจากยานพาหนะเล็ดลอดเข้ามาภายในห้องโดยสาร มลพิษเหล่านั้นจะหมุนเวียนอยู่ในพื้นที่แคบๆ นี้ ยิ่งอยู่ในช่วงที่มีการจราจรติดขัด ก็ยิ่งรับมลพิษเข้ามามากขึ้น

ไลฟ์สไตล์เมืองทำเสี่ยง

ลองคิดกันดูว่า มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนเมืองแบบไหนที่เชื่อมโยงกับเรื่องของอากาศบ้าง อย่างแรกๆ ที่นึกถึงก็น่าจะเป็นการนำอาหารขึ้นมารับประทานบนรถเพราะความเร่งรีบ การวางสิ่งของ เสื้อผ้า รองเท้า ซึ่งหากวางไว้นานๆ โดยไม่ได้ทำความสะอาด นั่นก็เป็นแหล่งสะสมชั้นดีของเชื้อโรค ไวรัส และแบคทีเรีย หรือถ้าโดยสารรถประจำทางก็สุ่มเสี่ยงที่ต้องเจอกับเครื่องปรับอากาศเก่า แผ่นกรองของเครื่องสกปรก

“เคยเข้าไปนั่งในรถตัวเอง หรือรถเพื่อน แล้วรู้สึกอากาศอับๆ ชื้นๆ หรืออาจจะฝุ่นเยอะจนทั้งจามทั้งไอกันไหม อากาศบ้านเราก็ทั้งร้อนทั้งชื้น ทั้งเชื้อรา ยิ่งถ้าหายใจผ่านช่องแอร์ที่ไม่ได้รับการทำความสะอาด ก็อาจจะป่วยได้ และโรคเช่นนี้ เรียกว่า ‘Sick Car Syndrome’

“สภาพอากาศที่มีฝุ่นละอองเกินมาตรฐานในลักษณะนี้ จะกระทบต่อปัญหาสุขภาพของผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเป็นหลัก คือเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงมีครรภ์และผู้ที่ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ โรคหอบหืด คนกรุงกว่าร้อยละ 40 ป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจ และสาเหตุก็ไม่ได้มาจากอากาศภายนอกเท่านั้น แต่เป็นไลฟ์สไตล์ของคนเมืองเอง ที่ใช้ชีวิตในรถ หรือใช้ชีวิตในอาคาร อยู่แต่กับห้องแอร์ ซึ่งอากาศไม่ได้ถ่ายเท

ความจริงคือวิถีชีวิตของคนเมืองมันเสี่ยงต่อการเจอเชื้อโรคอยู่แล้ว แต่เรามีภูมิคุ้มกันป้องกันไว้ได้ คีย์เวิร์ดของเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องของการ “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” ซึ่งหมายถึงการทำตัวให้ถูกสุขลักษณะ การกินอาหารที่ดี สำคัญมากๆ คือพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะอาการภูมิแพ้กำเริบมักเกิดจากการพักผ่อนไม่เพียงพอทั้งนั้น และถ้าให้ดีคือต้องเอาตัวเองออกไปรับแสงแดด ออกกำลังกายกลางแจ้งบ้าง”

คืนความสดใส

มันอาจจะฟังดูน่ากลัว แต่ก็มองเห็นถึงความสดใสในคราวเดียวกัน เพราะการรู้ความจริง ก็ยิ่งทำให้เรายอมรับและปรับตัว โดยเฉพาะมนุษย์ในเมืองที่ต้องสตรองกว่าใคร ด้วยไม่รู้ว่าในแต่ละวันเราจะพบกับสิ่งใดอันแปลกประหลาดอีกบ้าง

ศ.พญ.อรพรรณ ย้ำว่า เรื่องง่ายๆ คือควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งในบริเวณที่มีฝุ่นมากไว้ก่อน ส่วนผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืดควรพกและพ่นยาเป็นประจำ

“มากกว่านั้นคืออยากให้มองเรื่องผ้าปิดจมูกกันเสียใหม่ ด้วยสังคมไทยมักไม่เคยชินกับการใช้ผ้าปิดจมูก ไม่เคยศึกษาว่าผ้าปิดจมูกมีชนิดใดบ้าง แต่ละชนิดเหมาะสมกับสถานการณ์เช่นใด ทั้งนี้หากเกิดสถานการณ์ฝุ่นละออง ขนาดเล็กอย่าง PM2.5 ต้องใช้หน้ากากอนามัย ชนิด N95 และใส่ให้แนบชิดกับใบหน้าเท่านั้น เพราะหน้ากากชนิดนี้สามารถกรองอากาศได้ ส่วนหน้ากากชนิดอื่นมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ”

ส่วนการคืนความสดใสในระยะต่อไป ข้อเสนอส่วนหนึ่งในหลายเวทีเสวนาคือ การลดจำนวนแหล่งเกิดมลพิษอากาศ เช่น จำกัดพื้นที่รถบรรทุก ควบคุมปริมาณรถไม่ให้มากขึ้น (ปี 2560 มียอดจดทะเบียนสูงถึง 9,778,661 คัน) หากปริมาณรถมากขึ้นจะต้องใช้รถที่มีมาตรฐานน้ำมันและรถยนต์ ระดับมาตรฐานยูโร 6 ซึ่งเป็นเครื่องยนต์สะอาด ช่วยให้ปัญหามลพิษทางอากาศโดยรวมลดลงในอนาคต”

รศ.นันทวรรณ มองว่า ที่ทำได้เลยคือการออกนโยบายมาตรฐานน้ำมัน ยูโร 6 พร้อมๆ กับที่ขอเสนอให้ลดค่ามาตรฐานของฝุ่นละอองของไทย ให้เท่าค่ามาตรฐานขององค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา (US.EPA) ซึ่งกำหนดไว้เฉลี่ยรายปีอยู่ที่ 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร มีค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงเท่ากับ 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

“นอกจากนี้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแจ้งรถเมล์ควันดำ หรือพบการเผาไหม้ มีระบบเตือนภัยประชาชนถึงพื้นที่ซึ่งมีค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานเพื่อปกป้องอัตราการเกิดโรค เช่นเดียวกับในสำนักงาน พื้นที่สาธารณะ ถ้าพบจุดไหนซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการมีสารพิษในอากาศ ก็สามารถร้องเรียน และมีหน่วยงานลงไปแก้ไขกันจริงๆ”

เผื่อใครยังไม่รู้… จนถึงวันนี้ค่าฝุ่นละอองที่ใครๆ ก็พูดถึงเมื่อ 2-3 สัปดาห์ก่อนเริ่มดีขึ้นบ้างแล้ว (อย่างน้อยก็ระยะเวลาหนึ่ง) ทว่าคุณภาพชีวิตของคนกรุงฯ ว่าด้วยคุณภาพอากาศยังเป็นคำถามอีกยาวไกล

 ‘ฝุ่น’ไปแล้ว...แต่ไม่รู้เมื่อไหร่ความสดใสจะกลับคืนมา