มั่นใจสธ.เคลียร์เงินค้างจ่ายอภ.ได้เม.ย.นี้

มั่นใจสธ.เคลียร์เงินค้างจ่ายอภ.ได้เม.ย.นี้

สธ.ค้างจ่ายเงินอภ. มั่นใจเคลียร์ได้เม.ย.นี้ ย้ำอภ.สร้างความมั่นคงทางยาควบคู่จัดสมดุลเอกชน ช่วยประชาชนเข้าถึงยา

เมื่อวันที่ 26 ก.พ.2561 ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) กล่าวในการตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายปี2561แก่องค์การเภสัชกรรม(อภ.)ว่า นโยบายการดำเนินงานขององค์การเภสัชกรรม 5 เรื่อง ได้แก่ 1.ความมั่นคงทางยา ต้องมียาใช้เพียงพอ ไม่แข่งขันกับเอกชน และเติบโตไปด้วยกัน ร่วมมือกันสร้างการเข้าถึงยาของประชาชน 2.คณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม ต้องมีความรู้ความสามารถด้านธุรกิจ 3.สนองนโยบายรัฐบาล เรื่องการส่งเสริมสมุนไพรไทย 4.มีธรรมาภิบาล ดำเนินการด้วยความโปร่งใส และ5.ดูแลผู้ปฏิบัติงานให้มีความสุข เพื่อให้องค์การเภสัชกรรมผลิตยาดี มีคุณภาพ ประชาชนเข้าถึงยาในราคาคุ้มค่าเป็นธรรม เป็นที่เชื่อถือของประชาชน ทั้งนี้ 4 ปีที่ผ่านมาเห็นความก้าวหน้าขององค์การเภสัชกรรม ทั้งด้านเทคโนโลยี วิสัยทัศน์ การพัฒนาคน ความโปร่งใส ที่จะมอบนโยบายในวันนี้คือ ขอให้สร้างความมั่นคงทางด้านยาเพื่อประชาชน จะทำให้ประเทศมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ต้องทำงานเชิงรุก และยอมรับสิ่งใหม่ๆ ด้วย เพื่อให้เท่าเทียมกับองค์กรด้านนี้ของต่างประเทศ

“ทราบดีว่าตอนนี้สธ.ค้างจ่ายค่ายาแก่อภ.จำนวนไม่น้อย แต่พยายามหาหนทางที่จะจ่ายคืนเงินโดยเร็วที่สุด ซึ่งปัญหานี้ไม่ใช่ว่าสธ.ไม่มีเงินจ่าย แต่เกิดขึ้นจากที่ในช่วงที่ผ่านมามีการเปลี่ยนผ่าน 2 เรื่องสำคัญ คือ การเปลี่ยนหน่วยงานหลักในการจัดซื้อยาตามโครงการพิเศษจากสำนักงานหลักประกัหนสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)เป็นเครือข่ายรพ.ราชวิถีรวมถึงมีการบังคับใช้พรบ.จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐใหม่ ทำให้เกิดช่วงรอยต่อของการบริหารจัดกหาร แต่เท่าที่ทราบขณะนี้ระบบเริ่มเข้าที่ และคาดว่าสธ.จะสามารถจ่ายเงินคืนให้อภ.ได้ภายในเดือนเม.ย.นี้ จะทำให้อภ.มีการดำเนินงานที่คล่องตัวขึ้น”ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกลกล่าว

ด้านนพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม(บอร์ดอภ.) กล่าวว่า ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงยาที่จำเป็นในระบบสาธารณสุขอย่างทั่วถึง การผลิตและจัดหายาเชิงสังคมที่มีความจำเป็น เช่น ยากำพร้า ยาขาดแคลน ยาที่มีการใช้น้อยแต่จำเป็น ให้มีรายการมากขึ้น ขับเคลื่อนองค์การเภสัชกรรม 4.0 โดยวิจัย พัฒนา และผลิต ผลิตภัณฑ์เชิงนวัตกรรม ภายใต้แนวคิด Smart Industry, Smart Office, Smart Marketing และ Smart Human Resource และเปลี่ยนผ่านไปสู่องค์กรที่มีการนำระบบดิจิตัล และBig Data มาใช้ในการดำเนินงานให้มากขึ้น รวมทั้งผลักดันแผนงาน/โครงการที่สำคัญในอนาคตให้สำเร็จ ได้แก่ โครงการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดนกตามมาตรฐาน WHO-GMP ที่จ.สระบุรี ซึ่งการก่อสร้างโรงงานแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างการทำสอบระบบต่างๆ อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อให้ได้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพตามมาตรฐาน ส่วนการวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิด 3 สายพันธุ์ อยู่ระหว่างการทดสอบทางคลินิกระยะที่ 3 จะเสร็จในปี 2561 คาดว่าจะขึ้นทะเบียนอย.ได้ในปี 2563