ปิดฉากชีวิตมือปราบ 'สล้าง บุนนาค'

ปิดฉากชีวิตมือปราบ 'สล้าง บุนนาค'

ปิดฉากชีวิตมือปราบ "สล้าง บุนนาค" เหรียญตราและบาดแผล

​เส้นทางชีวิตนายตำรวจใหญ่ เกิดในตระกูลเก่าแก่ แต่เติบโตด้วยเครือข่ายฝ่ายภรรยาที่เป็นทายาทนักการเมืองดัง มีทั้งบาดแผลและเหรียญตรา จากสมรภูมิรบและการเมือง

​พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค เกิดที่ อ.เมือง จ.ราชบุรี เป็นบุตรของหลวงพินิตพาหนะเวทย์ (พิง) มารดาชื่อ ทองอยู่ (สกุลเดิม ลิมปิทีป) สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่น 14 รับราชการครั้งแรก เป็นผู้บังคับหมวด ตชด.513 อ.ฝาง จ.เชียงใหม่

ร่วมสงครามลับในลาว

​เป็น ต.ช.ด.ไม่นาน พล.ต.อ.สล้าง ถูกส่งไปเป็นครูฝึกทหารพลร่มลาวฝ่ายขวา และกลางปี 2503 ได้รับหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ไปปฏิบัติการลับข้ามโขง นำตัวนายพลพูมี หน่อสะหวัน จากแขวงสะหวันนะเขต มาอยู่ในเซฟเฮาส์ฝั่งไทย เนื่องจากเวลา ร.อ.กองแล ทหารลาวฝ่ายเป็นกลาง ก่อรัฐประหารล้มรัฐบาลลาวฝ่ายขวา

​ปฏิบัติการครั้งนั้นสำเร็จโดยราบรื่น ผู้บังคับบัญชาจึงแต่งตั้งให้ไปเป็นผู้กำกับโรงพักหาดใหญ่ นานถึง 11 ปี ช่วงที่อยู่ปักษ์ใต้ พล.ต.อ.สล้าง สร้างผลงานไว้มากมายตามสไตล์ “ตำรวจขาโหด”

เขยขวัญนักการเมือง

​อีกด้านหนึ่งของ พล.ต.อ.สล้าง ที่คนไม่ค่อยทราบมากนัก คือ เขาได้สมรสกับลูกสาวของ “บุญธรรม ชุมดวง” อดีต ส.ส.สุโขทัย และเจ้าของสัมปทานป่าไม้ภาคเหนือ

​ว่ากันว่า ช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา มีรัฐบาลคึกฤทธิ์ บุญเท่ง ทองสวัสดิ์ เป็นรัฐมนตรีมหาดไทย “บุญธรรม” พ่อตาของ พล.ต.อ.สล้าง เป็นเลขานุการฯ จึงส่งผลให้นายตำรวจบ้านนอกได้ขยับเข้าเมืองหลวง ประจำการที่กองปราบปราม

​แม้บุญธรรมจะวางมือทางการเมือง แต่ก็ส่งมอบมรดกผู้แทนให้ลูกชาย-อารยะ ชุมดวง เป็น ส.ส.สุโขทัย อีกหลายสมัย และทุกจังหวะก้าวของฝ่ายพ่อตา ก็มีผลต่อการเติบใหญ่ในยุทธจักรโล่เงิน ของ พล.ต.อ.สล้าง

​ระหว่างรับราชการในกรมตำรวจ (สำนักงานตำรวจแห่งชาติในปัจจุบัน) ตำแหน่งที่สำคัญได้แก่ ผู้บังคับการตำรวจภูธร 12 ผู้บัญชาการศึกษา ผู้ช่วยอธิบดีตำรวจ และรองอธิบดีกรมตำรวจ ฝ่ายป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมพิเศษ ตามลำดับ

บาดแผล 6 ตุลา

​พล.ต.อ.สล้าง มีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ขณะนั้นมียศ “พ.ต.ท.” เป็นรองผู้กำกับการ 2 รับคำสั่งจาก พล.ต.ต.สุวิทย์ โสตถิทัต ผู้บังคับการกองปราบปราม ของคืนวันที่ 5 ตุลาคม 2519 ให้นำกำลังตำรวจปราบจลาจล 200 นายไปรักษาความสงบที่บริเวณท้องสนามหลวง และหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นที่มาของการ ใช้อาวุธหนักโจมตีเข้าไปใน ม.ธรรมศาสตร์ จึงมีนักศึกษา ประชาชน เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นจำนวนมาก

​บ่ายวันเดียวกัน พล.ต.อ.สล้าง ยังไปที่สนามบินดอนเมือง ซึ่งมีกลุ่มลูกเสือชาวบ้าน ได้บุกไปค้นหาตัว ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โดย พล.ต.อ.สล้าง ได้เข้าไปด่าว่า ดร.ป๋วย ขณะที่พูดโทรศัพท์อยู่ และตบหู หลายปีภายหลัง พล.ต.อ.สล้าง ได้พยายามอธิบายว่า ได้รับวิทยุสั่งการโดยตรงจาก พล.ต.ต.สงวน คล่องใจ ผู้บังคับการกองปราบฯ ให้รีบเดินทางไปที่สนามบินดอนเมือง เพื่อป้องกันช่วยเหลือ ดร.ป๋วย ให้รอดพ้นจากการทำร้ายจากกลุ่มประชาชน

บาดแผล “โจ ด่านช้าง”

​เมื่อปี 2539 “โจ ด่านช้าง” และพวก จับญาติพ่อค้าอาวุธปืนเป็นตัวประกันที่บ้านหลังหนึ่ง เพื่อหวังแก้แค้นที่ตีตัวออกห่าง พล.ต.อ.สล้าง รองอธิบดีกรมตำรวจ (ขณะนั้น) พร้อมด้วยตำรวจชั้นผู้ใหญ่ได้เดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์ สั่งการจับกุมคนร้ายด้วยตัวเอง ซึ่งพบว่าท้ายที่สุด มีการวิสามัญคนร้ายรวม 6 ศพ ทั้งที่สามารถจับกุมคนร้ายได้แล้ว แต่มีการนำตัวกลับไปในบ้านเกิดเหตุและเกิดเสียงปืนดังขึ้นหลายสิบนัดท่ามกลางชาวบ้าน ผู้สื่อข่าวที่ติดตามคดี

​ผลแห่งคดีโจ ด่านช้าง ทำให้ พล.ต.อ.สล้าง ถูกรัฐมนตรีมหาดไทย(สมัยนั้น) สั่งพักราชการ เพราะมีการกระทำอันเกินกว่าเหตุ เมื่อ 3 ก.ค.2541 ก่อนหน้าที่จะเกษียณอายุราชการ 3 เดือน

บาดแผล “พันธมิตร”

​ระหว่างการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อปลายปี 2551 ที่มีการยึดทำเนียบ พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค ได้ออกมาตั้งโต๊ะแถลงข่าว ขออาสา ยึดทำเนียบรัฐบาลคืนจากกลุ่มพันธมิตรฯ

​เมื่อวันที่ 22 ต.ค.2551 พล.ต.อ.สล้าง นุ่งขาวห่มขาวจัดพิธีสวดมนต์ ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า โดยอ้างว่าเพื่อความสงบสุขของบ้านเมือง แต่ทางกลุ่มพันธมิตรฯไม่เชื่อ และโจมตีว่า พล.ต.อ.สล้าง รับงานฝ่ายตรงข้ามมาจัดพิธีแก้เคล็ด

​จริงๆแล้ว ช่วงปี 2535- 2539 สนธิ ลิ้มทองกุล กับ พล.ต.อ.สล้าง ยังคบหาสมาคมกันดีอยู่ ด้วยความที่สนธิมองว่า พล.ต.อ.สล้าง เป็นนายตำรวจที่ทำงานเพื่อชาติบ้านเมือง แต่ระยะหลัง ทั้งคู่ก็เหินห่างกันไป

​บั้นปลายชีวิต พล.ต.อ.สล้าง ให้สัมภาษณ์ จอม เพชรประดับ ว่า อยากเห็นบ้านเมืองกลับสู่ความสงบ สามัคคี ไม่มีความขัดแย้งทางการเมือง

​นี่เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางชีวิตราชการ และการเมืองของนายตำรวจใหญ่ “สล้าง บุนนาค”