“ฤดูเก็บเกี่ยว” ปีทอง ธุรกิจโรงพยาบาล

“ฤดูเก็บเกี่ยว” ปีทอง ธุรกิจโรงพยาบาล

“เศรษฐกิจ & คนไข้” ชะลอตัว สบช่อง “โรงพยาบาล” พลิกเกมซุ่มลงทุนซื้อกิจการ-สร้างตึกใหม่ รอรับอุตสาหกรรมฟื้น...! ปี 2561ได้เวลาเก็บเกี่ยวดอกผล หลังดีมานด์ใน-นอกเพิ่ม คาดดันตลาดเติบโตมากกว่า 20%

ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจ & คนไข้” ชะลอตัว...! เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า อุตสาหกรรมโรงพยาบาลเอกชนไทยได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบดังกล่าว

ทว่า โรงพยาบาลเอกชนไทยกลับพลิกวิกฤติ” เป็น โอกาส" ของการลงทุนทันที...!!

สอดคล้องกับแผนการเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยของ ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในช่วงที่ผ่านมา มีโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งเข้ามาระดมทุน นำเงินไปขยายกิจการ แม้แต่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่อยู่ในตลาดหุ้นอยู่ก็พบว่ามีการขยับตัวเพื่อการลงทุนใหม่ รวมทั้งกลุ่มทุนใหญ่ในอุตสาหกรรมอื่นโดดมาเล่นในสนามนี้  อาทิ การซื้อกิจการ ปรับปรุงภายใน การสร้างโรงพยาบาลใหม่ ขยายตึก เพิ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง เป็นต้น

โดยก่อนหน้านี้ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ” (BDMS)ของหมอนักธุรกิจ นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ” เด้งรับนโยบายรัฐที่ต้องการผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจบริการสุขภาพโลก (Medical Hub) ด้วยการซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 15 ไร่ ประกอบด้วย โรงแรมสวิสโฮเต็ล ปาร์คนายเลิศ และอาคารสำนักงานบางส่วน บนที่ดินผืนงามบนถนนวิทยุ เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์สุขภาพครบวงจร “BDMS Wellness Clinic” แห่งแรกในเอเชีย

ด้าน กลุ่มโรงพยาบาลธนบุรี” ของ นายแพทย์บุญ วนาสิน” ประธานกรรมการกลุ่มโรงพยาบาลธนบุรี เป็นอีกกลุ่มที่รุกธุรกิจนี้ต่อเนื่อง โดยเผยว่า ไตรมาส 2/2561 จะลงทุนขยายโรงพยาบาลธนบุรีและโรงพยาบาลธนบุรี 2 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คาดว่าจะใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 555 ล้านบาท แบ่งเป็น โรงพยาบาลธนบุรีจะก่อสร้างอาคารจอดรถแห่งใหม่สามารถรองรับรถเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 150 คัน ใช้เงินลงทุนประมาณ 120 ล้านบาท และโรงพยาบาลธนบุรี 2 จะก่อสร้างอาคารผู้ป่วยนอกและอาคารผู้ป่วยใน (อาคาร 3) เพื่อขยายพื้นที่ให้บริการผู้ป่วย ใช้เงินลงทุนประมาณ 435 ล้านบาท คาดว่าทั้ง 2 โครงการจะแล้วเสร็จในปี 2563 

สำหรับความคืบหน้าโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการต่อเนื่อง ได้แก่ โครงการ JIN Wellbeing County ย่านรังสิต ซึ่งเป็นโครงการที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงวัยและให้บริการทางการแพทย์อย่างครบวงจร ภายใต้คอนเซปต์เมืองแนวคิดใหม่เพื่อวัยเกษียณ ได้รับอนุมัติการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ( EIA)  และเริ่มการก่อสร้างแล้ว โครงการพัฒนาโรงพยาบาลศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพ ธนบุรี (ถนนบำรุงเมือง)เพื่อเป็นศูนย์รวมบริการด้านสุขภาพแห่งใหม่ในย่านใจกลางเมือง ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมปรับปรุงอาคาร คาดว่าจะเริ่มทยอยเปิดให้บริการในไตรมาส 4 ปี 2561 

ขณะที่ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์” อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต เตรียมก่อตั้งโรงพยาบาลอาร์เอสยูอินเตอร์เนชั่นแนล (RSU International Hospital) RIH พื้นที่ 11 ไร่ ในย่านธุรกิจบนถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แบ่งเป็น 2 เฟส เฟสแรก 6 ไร่ มีพื้นที่ทั้งหมด 66,000 ตารางเมตร และเฟสที่ 2 5 ไร่ มีพื้นที่ 56,000 ตารางเมตร โดยเฟสแรก และในเฟสสอง เพิ่มพื้นที่อีก 5 ไร่ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2020

มาที่ กลุ่มบมจ.พฤกษา โฮลดิ้ง” ของเศรษฐีหุ้น ทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์” ซึ่งในปีนี้เป็นปีแรกที่บริษัทแตกไลน์ลงทุนจากธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ประเภทที่อยู่อาศัย มาสู่ ธุรกิจโรงพยาบาลเพิ่มเติมรายได้ประจำเพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของธุรกิจอสังหาฯ โดยตั้งเป้าพอร์ตอสังหาฯให้เช่ามีสัดส่วนตั้งแต่ 5-15% ของเป้าหมายรายได้ 1 แสนล้านบาท ที่ขยับเป้าทำให้ได้ภายในปี 2563

และการที่ บมจ. สหยูเนี่ยน หรือ SUC เข้าซื้อหุ้น บมจ. เค พีเอ็น เฮลท์แคร์ หรือ KPNHC สัดส่วน 25% ซึ่งประกอบกิจการโรงพยาบาล สถานพยาบาลรับรักษาคนไข้ให้บริการด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง ตั้งอยู่ถนนรัชดาภิเษก-รามอินทรา ขณะนี้เป็นช่วงกำลังเริ่มโครงการลงทุน ซึ่งต้องใช้เวลาก่อสร้าง จัดหาเครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง จำนวนเงินลงทุนโครงการประมาณ 4,000 ล้านบาท ทุนจดทะเบียนรวม 1,600 ล้านบาท 

นอกจากนี้ที่ผ่านมา “กลุ่มทุนใหญ่” ที่ดำเนินธุรกิจหลากหลายอุตสาหกรรม (Conglomerate) ยังแสดงความ สนใจ” ที่จะรุกธุรกิจโรงพยาบาล บริการสุขภาพ อย่าง เครือเจริญโภคภัณฑ์” (CP)ธุรกิจล้านล้านของเจ้าสัว ธนินท์ เจียรวนนท์ที่คาดว่าจะก่อสร้างโรงพยาบาลย่านพระราม 9 เช่นเดียวกับ กลุ่มเจ้าสัวเบียร์ช้าง เจริญ สิริวัฒนภักดี” ที่มีข่าวหนาหูว่ากำลังจะลงทุนโรงพยาบาลแถบพระราม 4 ต่อยอดอาณาจักรอสังหาฯของตระกูลที่ปักหมุดทุกมุมถนนย่านนั้น 

แม้ว่าปัจจุบันยังไม่เห็นโครงการที่ชัดเจน แต่คนในแวดวงโรงพยาบาล ยืนยันว่า กลุ่มทุนดังกล่าวยังเดินหน้าลงทุน โดยเฉพาะการฟอร์มทีมบุคลากรทั้งทีมแพทย์ ,พยาบาล และบุคคลที่เกี่ยวข้อง

ดร.อังกูร ฉันทนาวานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. โรงพยาบาล ลาดพร้าว หรือ LPH บอกกับ “กรุงเทพธุรกิจ BizWeek” ว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โรงพยาบาลเอกชนในเมืองไทย เป็นช่วงของการลงทุนขยายธุรกิจแทบทุกแห่ง โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นจังหวะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งผลให้จำนวนคนไข้ทั้งในและต่างชาติ ลดลง” ฉะนั้น จึงเป็นโอกาสให้โรงพยาบาลเอกชนหันมาเน้นขยายการลงทุน เพื่อรอเศรษฐกิจฟื้นตัวและจำนวนคนไข้กลับมา 

ทว่า เมื่อธุรกิจอยู่ในช่วงการขยายการลงทุน สิ่งที่ตามมาคือ อัตราการเติบโตของกำไรจึงชะลอตัวเมื่อเทียบกับช่วงที่ไม่มีการลงทุนอัตราการเติบโตของกำไรจะเติบโตดี แต่ดร.อังกูรมองว่า เป็นเพียงผลกระทบ ระยะสั้นเท่านั้น ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติของธุรกิจทั่วไป หรือแม้แต่ธุรกิจโรงพยาบาลที่เมื่อมีการลงทุนใหม่ จะต้องรับรู้ผลของการ ขาดทุนไม่ต่ำกว่า 2-3 ปีหรือจนกว่าธุรกิจจะอยู่ตัว

ในระยะสั้นอาจกระทบอัตราการเติบโตของกำไร แต่ในระยะยาวโรงพยาบาลก็จะกลับมาเติบโตเช่นเดิม หรือ อาจเติบโตมากกว่าเดิม จากฐานลูกค้าจำนวนเพิ่มขึ้น” ดร.อังกูร เชื่อเช่นนั้น

สอดคล้องกับตัวเลขของผลประกอบการของบริษัทที่ประกอบธุรกิจโรงพยาบาลจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (บจ.) ในช่วงปี2559-ไตรมาส 3 ปี 2560 ที่พบมี กำไรสุทธิเติบโตไม่มาก” อาทิ บมจ.โรงพยาบาล ลาดพร้าว หรือ LPH มีกำไรสุทธิ 155 ล้านบาท และ 127 ล้านบาท บมจ.เอกชัยการแพทย์ หรือ EKH มีกำไรสุทธิ 75 ล้านบาท และ 62 ล้านบาท

บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ หรือ BDMS มีกำไรสุทธิ8,386 ล้านบาท และ 8,180 ล้านบาท บมจ.โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ หรือ BH มีกำไรสุทธิ 3,626 ล้านบาท และ 3,020 ล้านบาท บมจ.โรงพยาบาลจุฬารัตน์ หรือ CHG มีกำไรสุทธิ 564 ล้านบาท และ 439 ล้านบาท บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป หรือ THGมีกำไรสุทธิ 511 และ 396 ล้านบาท เป็นต้น

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบมจ. โรงพยาบาล ลาดพร้าว ยังวิเคราะห์ภาพรวมอุตสาหกรรมโรงพยาบาลในปี 2560 ว่า มีโอกาสเติบโตมากกว่า 20%ขึ้นไปสาเหตุหลักมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น และจำนวนคนไข้ต่างชาติเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะคนไข้กลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) รวมทั้งกลุ่มคนไข้ต่างชาติที่กำลังเพิ่มมากขึ้นคือคนไข้ชาวจีน

นอกจากนี้ จากการนโยบายลงทุน โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC”ของรัฐบาล คาดว่าจะส่งผลดีต่อธุรกิจโรงพยาบาล ซึ่งโรงพยาบาลอาจจะต้องขยายการลงทุนรองรับคนไข้ต่างชาติที่เข้ามาทำงานในเมืองไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคนไข้ชาวญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เป็นต้น

รูปแบบอาจจะคล้ายๆ กับโรงพยาบาลกรุงเทพฯ ที่มีตึกรองรับการรักษาคนไข้เมียนมาโดยเฉพาะ ซึ่งปัจจันเป็นสัดส่วนคนไข้เบอร์ 1 ของรพ.กรุงเทพ แทนตะวันออกกลาง หากรพ.เอกชนเข้าใจปัจจัยใหม่ๆ ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลง อนาคตอาจะเห็นการสร้างตึกใหม่รักษาคนไข้ชาวญี่ปุ่น ,ชาวเกาหลีใต้ ,ชาวจีน เป็นต้น เพราะว่าประเทศเหล่านี้เข้ามาลงทุนในเมืองไทยจำนวนมาก

สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมโรงพยาบาล ปัจจุบันแบ่งตลาดออกเป็น 2 กลุ่ม คือ โรงพยาบาลระดับบน” เน้นให้บริการคนไข้ต่างชาติในสัดส่วนสูง ในช่วงที่ผ่านมาผลการดำเนินงานได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว รวมทั้งในหลายประเทศตัดงบค่าใช้จ่ายในการจ่ายสวัสดิการออกมารักษานอกประเทศ และยังมีนโยบายลงทุนโรงพยาบาลในประเทศตัวเอง โดยเฉพาะคนไข้ตะวันออกกลาง ที่ในช่วงที่ผ่านมามีสัดส่วนลดลงอย่างเห็นได้ชัด

อีกตลาดคือ “โรงพยาบาลระดับกลาง” ที่มีฐานคนไข้ต่างชาติและคนไข้ในประเทศ จะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะว่าในช่วงที่ผ่านมีโรคระบาดเกิดขึ้น เช่น ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก เป็นต้น ำให้การใช้บริการยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ผลการดำเนินงานไม่ชะลอตัวมาก สังเกตดูโรงพยาบาลที่ฐานคนไข้เป็นคนไทยล้วนก็มีอัตราการเติบโตดี “ดร.กังกูร”เผย

แต่ละโรงพยาบาลต้องแข่งขันกับตัวเอง ขยายการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาโรคเพิ่ม ขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ด้วย เนื่องจากแต่รพ.แต่ละแห่งไม่สามารถรักษาได้ทุกโรค

ขณะที่ นายแพทย์อำนาจ เอื้ออารีมิตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาล บมจ. เอกชัยการแพทย์ หรือ EKH เปิดเผยว่า บริษัทได้ลงทุนเปิดศูนย์สำหรับผู้มีภาวะมีบุตรยาก (ศูนย์เด็กหลอดแก้ว) ในเดือน ธ.ค. นี้ ซึ่งคาดว่าจะรับรู้รายได้ในช่วงต้นเดือน ม.ค. 2561 เป็นต้นไป ซึ่งเป้าหมายการเปิดมาเพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าชาวจีนเป็นหลัก เนื่องจากเห็นความต้องการในตลาดค่อนข้างมาก โดยตั้งเป้ามีผู้ใช้บริการอยู่ที่ราวปีละ 200 ราย ซึ่งตั้งเป้าจะมีลูกค้าจีน 70% และลูกค้าไทย 30%

สำหรับ ธุรกิจโรงพยาบาลในปี 2561 คาดว่าจะเติบโตดีกว่าปี 2560 จากปัจจัยบวกเศรษฐกิจฟื้นตัว ซึ่งในส่วนของ EKH คาดว่ารายได้จะเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลัก

สอดคล้องกับ ก่อนหน้านี้ ชัยสิทธิ์ วิริยะเมตตากุล กรรมการผู้จัดการ บมจ. โรงพยาบาลวิภาวดี หรือ VIBHA ประเมินภาพรวมอุตสาหกรรมในปี 2561 ว่าจะเป็นปีที่ดีของธุรกิจโรงพยาบาล เพราะมี ปัจจัยบวกช่วยหนุนรอบด้านจากทิศทางเศรษฐกิจที่น่าจะปรับตัวดีขึ้น แต่โรงพยาบาลที่ไม่มีเครือข่ายอาจต้องเหนื่อยมากกว่าคนอื่น เพราะบริการที่อาจจะไม่ครบถ้วนเท่ากับโรงพยาบาลที่มีเครือข่าย โดย VIBHA คงมีรายได้เติบโตมากกว่า 10% และสร้างสถิติใหม่ของกำไรต่อเนื่อง

ประเมินไว้ว่าธุรกิจโรงพยาบาลในเครือ จะดีต่อเนื่องไปอย่างน้อยถึง 3 ปี (60-62) เนื่องจากโรงพยาบาลที่เคยลงทุนไว้เริ่มพลิกมีกำไรสุทธิ ได้แก่ โรงพยาบาลวิภารามแหลมฉบัง รพ.วิภารามอมตะ และ รพ.วิภารามปาดเกร็ด

นอกจากนี้ ประเด็นเรื่องเงินประกันสังคมต่อหัวประชากกรที่มากขึ้น ยังเป็นปัจจัยบวกของธุรกิจโรงพยาบาล โดยปัจจุบันในเครือมีโรงพยาบาลให้บริการผู้ป่วยประกันสังคมหลายแห่ง เช่น โรงพยาบาลในเครือวิภาราม ซึ่งมีจำนวนผู้ประกันตนลงทะเบียนใช้บริการเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10,000 รายต่อปี ซึ่งถือว่ามีอัตราเพิ่มขึ้น ขณะที่บริษัทไม่ต้องแบกรับต้นทุนมากจนเกินไป การได้รับเงินต่อหัวประชากรที่เพิ่มขึ้นถือเป็นปัจจัยสนับสนุนส่วนหนึ่ง เขาย้ำ 

ด้านจำนวนผู้ป่วยต่างชาติของ VIBHA ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือ เช่น โรงพยาบาลลานนา และเชียงใหม่ราม เป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งมีอัตราส่วนถึง 20-30% ของจำนวนผู้ป่วยรวม โดยขณะนี้ได้มีการซื้อที่ดินเพิ่มเติมเพื่อในโรงพยาบาลที่ภาคเหนือ เพื่อขยายพื้นที่รองรับจำนวนผู้ป่วยที่มากขึ้นด้วย 

อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ป่วยต่างชาติยังมีอัตราการเติบโตกระจุกตัวในภาคเหนือ ซึ่งสัดส่วนผู้ป่วยต่างชาติของโรงพยาลทั้งเครือยังอยู่ที่ประมาณ 5%