พ่อสั่ง'เอบีเอ็ม'ระดมทุน ภารกิจด่วน'ธิญาดา'

พ่อสั่ง'เอบีเอ็ม'ระดมทุน ภารกิจด่วน'ธิญาดา'

เทรนด์โลกกำลังมุ่งสู่พลังงานชีวมวล โอกาสทอง 'เอเชีย ไบโอแมส' หนึ่งในธุรกิจดาวรุ่ง ของ 'ตระกูลควรสถาพร' เร่งพันธกิจขยายการลงทุนต้นน้ำ 'จุดขาย' หุ้นน้องใหม่ไอพีโอระดมทุนตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ 27 ก.พ.นี้

เพียงประโยคที่เอ่ยว่า 'ทำงานนอกบ้านมาปีกว่าเพียงพอแล้ว' ที่ทำให้ 'เฟิร์น-ธิญาดา ควรสถาพร' ลูกสาวคนที่ 2 ในจำนวนพี่น้อง 6 คนของ 'พนม ควรสถาพร' ประธานกรรมการบริหาร บมจ. เอเชียกรีน เอนเนอจี หรือ AGE และผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บมจ.เอเชีย ไบโอแมส หรือ ABM ในสัดส่วน 65.7% บริษัทน้องใหม่ที่เตรียมระดมทุนขายหุ้นไอพีโอจำนวน 75 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 1.80 บาท ในวันที่ 27 ก.พ.นี้ 

เกิดมาก็เจอ 'อากง' (ปู่) ทำธุรกิจขายเชื้อเพลิงชีวมวลจากแกลบ , เศษไม้ และ เศษฟื้นให้โรงงานอุตสาหกรรม...!! 'เฟิร์น' หญิงสาววัย 31 ปี ดีกรีปริญญาตรี Master of Logistics Management ,University of Sydeny , Australia และปริญญา Bachelor of Business ,University of Technology , Australia  พยายามย้ำความปราดเปรื่องให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟัง

'เอเชีย ไบโอแมส' ถือกำเนิดเมื่อ 60 ปีก่อน ผู้ประกอบการธุรกิจจัดหาและจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวมวลหลากหลายประเภท เช่น กะลาปาล์ม ไม้สักและส่วนอื่นๆ ของไม้ ขี้กบ ขี้เลื้อย ฝุ่นไม้ และชีวมวลอัดแท่ง (Biomass pellet) เป็นต้น ภายใต้การถือหุ้นใหญ่ของ 'ตระกูลควรสถาพร' ที่เป็นธุรกิจดั้งเดิมของครอบครัว 

สำหรับผลิตภัณฑ์ที่บริษัทจัดหาและจัดจำหน่ายสามารถแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย 1.กะลาปาล์ม (Palm Kernel Shell) 2.ไม้สับและส่วนอื่นๆของไม้ (Woodchip and Others) 3.ขี้กบ ขี้เลื่อย และฝุ่นไม้ (Wood Shavings, Sawdust, Wood Dust)  4.ชีวมวลอัดแท่ง (Biomass Pellet)และ 5.สินค้าอื่นๆ

เธอ ฉายภาพย้อนหลังให้ฟังว่า เมื่อราว 5 ปีก่อน 'ธุรกิจถ่านหิน' ภายใต้ บมจ.เอเชียกรีน เอนเนอจี หรือ AGE ที่มีทิศทางการเติบโต 'ระดับสูง' ตอนนั้นทำให้ 'พนม' (คุณพ่อ) เน้นขยายธุรกิจถ่านหิน ก่อนจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เมื่อเดือน ก.พ. 2552 ขณะที่ธุรกิจจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวมวลมีอัตราเติบโตเรื่อยๆ ไม่หวือหวาเหมือนเช่นธุรกิจถ่านหิน จึงดำเนินธุรกิจไปเรื่อยๆ  

ทว่า 'เอเชีย ไบโอแมส' ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา มีการเติบโตแบบก้าวกระโดด สอดคล้องกับเทรนด์ของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงมาทางพลังงานชีวมวล ดังนั้น 'พนม' จึงมีโจทย์ให้ว่าต้องนำบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหุ้น นั่นคือ 'ธงผืนใหญ่' ของพ่อ…!!!  

'ธิญาดา ควรสถาพร' กรรมการผู้จัดการ บมจ.เอเชีย ไบโอแมส หรือ ABM เล่าให้ฟังว่า ตนเองเป็น 'ทายาทรุ่น 3' เข้ามาทำงานราว 6 ปี แล้ว โดยเริ่มต้นในตำแหน่งดูแลฝ่ายจัดซื้อวัตถุดิบกะลาปาล์มในประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ก่อนจะขยับมาดูคู่ค้าในตลาดในประเทศไทย และขึ้นมานั่งในตำแหน่ง 'กรรมการผู้จัดการ' เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา 

เมื่อเข้ามาดูแลธุรกิจ เธอ บอกว่า ปัจจุบันธุรกิจพลังงานทางเลือกกำลังเป็นเทรนด์ของทั่วโลก สะท้อนผ่านหลายประเทศเปลี่ยนมาลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือกมากขึ้น ทว่าในตลาดมีแต่ผู้ประกอบการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงาน แต่ยังไม่มีใครลงทุนป้อนวัตถุดิบให้กับโรงไฟฟ้าต่างๆ ซึ่ง บมจ.เอเชีย ไบโอแมส เป็นผู้จัดจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวมวลรายใหญ่เมืองไทย

ฉะนั้น จึงเป็นโอกาสเติบโตในอนาคตอีกมาก...!  สะท้อนผ่าน 'ยอดขาย' เติบโตระดับ 'พันล้านบาท' จากที่ผ่านยอดขายราว 300 กว่าล้านบาทหลังจากบริษัทมีการเพิ่มผลิตภัณฑ์ชีวมวลมากขึ้น ประกอบกับมีการส่งออกตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะ 'ประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้' 

โดยบริษัทเริ่มเห็นสัญญาณว่าพลังงานชีวมวลกำลังเป็นเทรนด์ของทั่วโลกเมื่อราว 3-4 ปีก่อน ถือเป็น 'จุดเปลี่ยน' ของธุรกิจ ดังนั้น บริษัทจึงเริ่มหันมาขยายตลาดออกต่างประเทศ ช่วงแรกส่งออกไปตลาดยุโรปเป็นหลัก แต่ว่า 2 ปีที่ผ่านมาตลาดยุโรปมีปัญหา จังหวะเดียวกับที่ตลาดญี่ปุ่นและเกาหลีมีการเติบโตมาก ฉะนั้น บริษัทจึงหันมาโฟกัสทั้ง 2 ประเทศเป็นหลัก 

โดย 'ตลาดเกาหลีใต้' ปัจจุบันรัฐบาลของเกาหลีใต้มีนโยบายต้องการให้เพิ่มสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงที่เป็นผลิตภัณฑ์ชีวมวลมากขึ้น ซึ่งในโรงไฟฟ้าขนาดกำลังการผลิต 500 เมกะวัตต์ขึ้นไป ให้มีอัตราการใช้พลังงานชีวมวลเพิ่มขึ้นทุกปีตั้งแต่ระดับ 3-10% โดยในปีนี้สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงที่เป็นชีวมวลอยู่ที่ 5% หรือคิดเป็น 'ราว 1 ล้านตัน' จากปีก่อนอยู่ที่ 4%   

'ปีที่แล้วบริษัทส่งออกผลิตภัณฑ์ชีวมวลอัดแท่งไปยังเกาหลีใต้ราว 2-3 หมื่นล้านตันต่อปี ซึ่งปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 3.8-4 หมื่นล้านตันต่อปี'  

ขณะที่ 'ตลาดญี่ปุ่น' ปี 2560 ประเทศญี่ปุ่นมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์กะลาปาล์มประมาณ 1 ล้านตันต่อปี คาดว่าปีนี้จะมีความต้องการ ราว 1.2-1.3 ล้านตันต่อปี โดยปีที่แล้วบริษัทส่งออกกะลาปาล์มไปญี่ปุ่นราว 40,000 ล้านตัน คาดว่าในปีนี้จะส่งออกกะลาปาล์มไปมากกว่าปีก่อน 

ทั้งนี้ ด้วยเทรนด์ของการใช้พลังงานของโลกที่เปลี่ยนแปลงมากขึ้น บริษัทก็มองโอกาสที่จะขยายการส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ ที่นอกเหนือจากประเทศเกาหลีและญี่ปุ่น โดยมองประเทศจีน ซึ่งแม้ว่าขณะนี้จีนจะยังไม่ให้มีการนำเข้าเชื้อเพลิงชีวมวล แต่ในอนาคตเชื่อว่าความต้องการใช้ภายในประเทศน่าจะสูงขึ้น อีกทั้งยังมองโอกาสไปยังประเทศเวียดนามและไต้หวันอีกด้วย

'ในแผนธุรกิจ 3-5ปี (2561-2565) ตั้งเป้าสัดส่วนรายได้เป็นต่างประเทศ 30-40% และในประเทศ 60-70% จากปัจจุบันต่างประเทศ 10% และในประเทศ 90% โดยจะโฟกัสในตลาดญี่ปุ่น ,เกาหลีใต้ รวมถึงเจาะตลาดอาเซียนเพิ่มขึ้น'  

ฉะนั้น การนำบริษัทเข้าตลาดหุ้นเป้าหมายเพื่อนำเงินระดมทุนมาขยายธุรกิจเพื่อ 'การเติบโต' ในอนาคต หลังจากความต้องการสินค้า (ดีมานด์) มีจำนวนมาก สะท้อนผ่านการปฏิเสธคำสั่งซื้อของลูกค้าดังกล่าวไป   

เธอแจกแจงแผนธุรกิจของบริษัทว่าอยู่ระหว่างลงทุนใน 'ธุรกิจต้นน้ำ' นั่นคือ การลงทุนก่อสร้างโรงงาน ผลิตชีวมวลอัดแท่ง ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยเป็นการร่วมทุนระหว่าง ABM และ บมจ.แฟนซีวู๊ด อินดัสตรีส หรือ FANCY ภายใต้บริษัทร่วมทุนใหม่คือ บริษัท แฟนซี เอบีเอ็ม จำกัด สัดส่วนถือหุ้น 49 :51  กำลังการผลิตเฟสแรก 5,000 ตันต่อเดือน โดยเงินลงทุนราว 160 ล้านบาท โดยสัดส่วนเงินลงทุนของบริษัทประมาณ 31 ล้านบาท แต่ถ้าความต้องการมีมากจะลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตเฟส 2 

ทั้งนี้ ปัจจุบันราคาชีวมวลอัดแท่งอยู่ที่ 130-140 ดอลลาร์ต่อตัน โดยราคาเคยขึ้นไปทำจุดสูงสุด 150 เหรียญต่อตัน จากปีก่อนราคา 90 เหรียญต่อตัน และกะลาปาล์มอยู่ ที่ 80 ดอลลาร์ต่อตัน คาดว่าราคาจะทรงตัวระดับนี้ต่อเนื่องไปได้อีก 2 ปี เนื่องจากปีนี้มีความต้องการเพิ่มขึ้นจากเกาหลีและญี่ปุ่น ส่งผลให้ราคาขายขยับเพิ่มขึ้น 

'ด้วยเทรดของทั่วโลกกำลังมุ่งมาหาพลังงานทางเลือก และในปีนี้โรงไฟฟ้าที่ลงทุนไปก่อนหน้านี้เริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) แล้ว ยิ่งเฉพาะประเทศญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้  ซึ่งเป็นตลาดที่บริษัทเน้นส่งออกเป็นหลัก จากเดิมซื้อวัตถุดิบจากแถบแคนนาดา แต่ตอนนี้เริ่มหันมาหาวัตถุดิบแถบอาเซียนแล้ว เราเห็นสัญญาณราว 3-4 ปีที่ผ่านมา' 

พร้อมกันนี้บริษัทยังมองการขยายธุรกิจไปสู่ 'การเพาะปลูกเชื้อเพลิง' โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจากับเจ้าของฟาร์มยางพารา ขนาด 5,000-10,000 ไร่ คาดว่าน่าจะสรุปความชัดเจนได้ในครึ่งปีหลัง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบริษัทยังไม่มีความสนใจที่จะขยับมาขึ้นมาทำธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวล หรือเข้าไปซื้อกิจการ (เทคโอเวอร์) โรงไฟฟ้าชีวมวลเนื่องจากยังไม่มีความเชี่ยวชาญ

เธอ บอกต่อว่า สำหรับการเติบโต 'ภายในประเทศ' นั้น ทิศทางความต้องการยังเติบโตตลอด ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายภาครัฐที่ต้องการให้ลงทุนในโรงไฟฟ้าชีวมวลมากขึ้น ฉะนั้น ความต้องการในอนาคตยังมีโอกาสอีกมาก ซึ่งปัจจุบันบริษัทขายวัตถุดิบให้กับผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงงานอุตสาหกรรมอยู่แล้ว เช่น อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ,อาหาร ,ทอผ้า เป็นต้น 

ขณะที่ความต้องการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลในประเทศปีนี้ คาดว่าจะเติบโตตามอัตราการขยายตัวของ 'ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ' (จีพีดี) ปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 3.5% ซึ่งจะส่งผลให้การใช้พลังงานหมุนเวียนเติบโตขึ้นราว 4-5% โดยเฉพาะการใช้ในภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวต่อเนื่อง และโครงการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะเป็นโอกาสเพิ่มความต้องการใช้ในอนาคตอีกด้วย 

นอกจากนี้ บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนมาขยาย 'คลังสินค้า' เพิ่มขึ้นอีก 1 แห่ง คาดว่าจะเห็นในปี 2562  ซึ่งกำลังดูว่าจะเป็น 'มาเลเซียหรืออินโดนีเซีย' สาเหตุที่เกิด 2 ประเทศดังกล่าว เพราะว่า ทั้ง 2 ประเทศมีวัสดุดิบที่เป็นกะลาปาล์มเบอร์ 1 และ 2 ของโลก จากปัจจุบันมีคลังสินค้าอยู่ 8 แห่ง ประกอบด้วย ประเทศมาเลเซีย 3 แห่ง ,ประเทศอินโดนีเซีย 1 แห่ง และในประเทศ 4 แห่ง  ปัจจุบันพื้นที่คลังสินค้าสามารถรองรับการเก็บสินค้าได้ราว 'แสนตารางเมตร'  

อย่างไรก็ตาม ยอดขาย 3 ปีย้อนหลัง บริษัทอัตราการเติบโตเฉลี่ย 5% แต่หลังจากโรงงานชีวมวลอัดแท่งเสร็จ และความต้องการต่างประเทศเพิ่มขึ้น รวมทั้งราคาขายไม่ต่ำกว่าระดับ 130-140 ดอลลาร์ต่อตัน ฉะนั้น มีโอกาสเห็นการเติบโตของบริษัทเป็นตัวเลข 'สองหลัก'  

ขณะที่ เป้าหมายรายได้ปี 2561 คาดว่าน่าจะเติบโตมากกว่าปีก่อน ตามปริมาณความต้องการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลของโลกที่มีการเติบโตอย่างมาก โดยเฉพาะในประเทศเกาหลีใต้และญี่ปุ่น จะเห็นได้จากโรงไฟฟ้าชีวมวลในประเทศดังกล่าวเริ่มทยอยจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ (COD) มากขึ้น ซึ่งน่าจะส่งผลทำให้สัดส่วนการส่งออกในปีนี้ขยับเพิ่มขึ้นเป็น 20% จากเดิมที่อยู่ราว 10% ส่วนที่เหลือจะมาจากการขายในประเทศอนึ่ง ปี 2559 บริษัทมีปริมาณการขายวัตถุดิบเชื้อเพลิงชีวมวลอยู่ที่ 5.6-5.7  แสนตัน และในปี 2560 ตัวเลข 9 เดือนอยู่ที่ 4 แสนตัน 

ท้ายสุด 'นายหญิง' ทิ้งท้ายไว้ว่า ตามเทรนด์ของพลังงานโลกที่เปลี่ยนไป เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อผลการดำเนินงานในอนาคตที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตามความต้องการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในตอนนี้และต่อไป