ถอดรหัสท่าเต้นโขน พิเชษฐ กลั่นชื่น

ถอดรหัสท่าเต้นโขน  พิเชษฐ กลั่นชื่น

หากใครมีโอกาสได้ดูเขาเต้นโขน ก็จะรู้ว่า ศิลปินที่ทำงานด้วยใจรัก และฝึกฝนมายาวนานเป็นอย่างไร

............................

“ไม่ว่าจะโขนแบบไหน ก็ไม่ค่อยมีคนดู แต่แบบที่ผมทำ มีคนดู” พิเชษฐ กลั่นชื่น เจ้าของรางวัลศิลปาธรสาขาศิลปะการแสดง ประจำปี 2549 และเจ้าของ โรงละครช้าง (Chang Theatre) ย่านประชาอุทิศ กล่าว

ที่เขากล่าวเช่นนี้ ไม่ใช่เพราะหลงตัวเอง หรือคิดว่าตัวเองเก่ง 

เพราะกว่าจะมีวันนี้ของพิเชษฐ เขาฝึกฝนอย่างหนัก พยายามถอดรหัสการเต้นโขนแบบดั้งเดิม โดยใช้หลักการวิทยาศาสตร์ ผนวกศิลปะ คิดคำนวณแรงและน้ำหนักในการเคลื่อนไหวร่างกาย ให้มีความอ่อนช้อยและแข็งแกร่งเวลาร่ายรำ

ณ วันนี้ พิเชษฐ เป็นนักเต้นโขน(Khon Dancer) ที่มีชื่อเสียง เป็นศิลปินที่ได้รับการยอมรับในต่างประเทศและเมืองไทย และเขาเชื่อเสมอว่า การเต้นโขนไม่จำเป็นต้องเป็นแบบการอนุรักษ์ดั้งเดิม

“ห้าสิบปีที่ผ่านมา ถ้ามีคนบอกว่า โขนไม่มีคนดู ก็จะมีคนบอกว่า วัฒนธรรมตะวันตกเข้ามา ทำให้วัฒนธรรมไทยเสื่อม พูดแบบนี้จนถึงทุกวันนี้” 

 

-1-

ในวันที่ 3-4 มีนาคม 2561 โรงละครช้างของเขา จะนำการแสดงชุด พิเชษฐ กลั่นชื่นและตัวผมเอง (Pichet Klunchun and Myself) ที่เขาแสดงร่วมกับ Jerome Bel นักออกแบบท่าเต้นชาวฝรั่งเศส กลับมาเปิดแสดงให้คนไทยชม ​เพื่อสื่อสารถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรมให้คนดูเข้าใจว่า อย่าเอาความคิดความเชื่อของตัวเองไปตัดสินคนอื่น อาจไม่ได้เป็นอย่างที่คุณคิด

พิเชษฐ ยกตัวอย่างสองสามกรณี อาทิ เวลาคนไทยเห็นพม่าปะแป้งหน้าขาวๆ คุณก็หัวเราะเยาะ,ฝรั่งไม่เข้าใจว่าทำไมคนไทยถอดรองเท้าเวลาเต้น แล้วฉีกขา งอมือ หรือคนไทยไม่เข้าใจว่าทำไมการแสดงบางชุดของฝรั่งต้องเปลื้องผ้า ฯลฯ

“เวลาเราดูการแสดงชิ้นหนึ่งที่ฝรั่งแก้ผ้า เรารับไม่ได้ และมองว่าคนตะวันตกไม่มีวัฒนธรรม Jerome เคยบอกผมว่า สิ่งสำคัญที่สุดในศิลปะการเต้นก็คือร่างกาย ต้องทำให้คนดูเห็นว่าร่างกายสื่อสารด้วยการเคลื่อนที่แบบไหน เพื่อให้คนได้เห็นภาษาของร่างกาย โดยไม่มีสิ่งอื่นตกแต่งร่างกาย อย่างการแสดงชุดนี้ Jerome จะเต้นเหมือนอยู่ในผับ ซึ่งคนไทยจะรับไม่ได้ เพราะเราคิดว่า การเต้นต้องดูยิ่งใหญ่ ผมยังบอกเขาว่า ไม่เข้าใจว่า ทำไมเขาเต้นแบบนั้น งานชุดนี้พวกเราจะสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ เป็นงานที่เคยได้รับรางวัลจากสภาวัฒนธรรมยุโรปในปี2008 คัดเลือกจากงานแสดงทั่วโลก 50 ชิ้น เหลืองานแสดงชิ้นเดียวคือ ชุดนี้ "

-2-

สำหรับคนที่เคยชมการแสดงของพิเชษฐ ก็จะรู้ดีว่า การเต้นโขนของเขามีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร 

เขาบอกว่า ในเมื่อคนในสังคมไทยไม่ดูโขน ไม่ซาบซึ้งเรื่องโขน เพราะไม่เข้าใจ

"ผมจึงนำมาปรับทำให้มีคนดูและสนับสนุนมากขึ้น น้อยมากที่จะจ่ายเงินห้าร้อยบาทเพื่อดูโขน แต่มีคนจ่ายเงินห้าร้อยบาทเพื่อดูการแสดงของผม ผมจึงมั่นใจว่า ผมมาถูกทางในวิถีของผม แต่ไม่ใช่วิถีการทำธุรกิจ” พิเชษฐ กล่าว และย้ำว่า โขนไม่จำเป็นต้องแสดงตามขนบโบราณ

“ผมคาดหวังว่าจะเชื่อมโยงคนรุ่นใหม่กับงานประเพณีในสังคมไทยเข้าไว้ด้วยกันได้ แต่พอทำการแสดงออกมาแล้ว กระแสตอบรับนอกประเทศดีกว่าในประเทศ และมีผมเป็นนักเต้นโขนคนเดียวที่เต้นแบบ Performanceได้ ผมไม่ได้เรียนมาเพื่อทำการแสดงแบบประเพณี ผมจึงหาลู่ทางดำเนินกิจการแบบอื่น”

 การเต้นโขนในแบบของเขา จึงต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ เขาดึงองค์ความรู้ที่ซ่อนอยู่ในโครงสร้างท่ารำโขนออกมา แล้วศึกษาว่า มีหลักการเคลื่อนที่กับพื้นที่ และเคลื่อนไหวร่างกายอย่างไร 

“ผมคิดตามหลักการเต้น แต่โขนที่เรียนกันทุกวันนี้ ไม่ได้เรียนตามหลักศิลปะการเต้น แต่เรียนวัฒนธรรมการเต้นโขน พอจะนำมาพัฒนาต่อยอด หรือนำมาใช้จึงไม่มีความรู้ ในการเต้นแต่ละท่าผมคิดตั้งแต่การใช้กล้ามเนื้อแต่ละมัดในการทำงาน รวมถึงการขยับตัวแต่ละครั้งมีความหมายอะไรบ้าง”

เขาค้นพบว่า นาฎศิลป์ไทย มีองค์ประกอบหลักอยู่สามอย่าง เคลื่อนตัวแบบรูปทรงสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยมและวงกลม

“การเคลื่อนตัวแบบสามเหลี่ยมจะดูแลเรื่องพลังงาน ส่วนสี่เหลี่ยมเป็นฐานในการเคลื่อนที่ทั้งหมด และวงกลมใช้ในเคลื่อนที่โครงสร้างของมือหน้า หัวไหล่ และทำให้เกิดความสัมพันธ์เชื่อมโยงทั้งสามส่วน

หลักการเหล่านี้ ผมก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่า ผมคิดไปเองหรือเปล่า จนได้คุยกับจิตรกรคนหนึ่ง เขาบอกว่า มีความสัมพันธ์และเชื่อมโยงกัน อย่างหน้าบรรณก็เป็นทรงสามเหลี่ยม โบสถ์เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม การเขียนลายไทย ลายแรก คือหางไหล ซึ่งก็คือโครงสร้างท่ายืนนาฎศิลป์ไทย นี่คือลายเส้นในร่างกาย ใช้หลักการเดียวกัน ผมก็เลยมั่นใจว่าสิ่งที่ผมคิดถูกทางแล้ว เพราะมีศิลปะสาขาอื่นมาสนับสนุน”

 

-3-

กว่าสิบปีที่พิเชษฐ พยายามจะถอดองค์ความรู้จากท่ารำ 59 ท่าออกมาเป็นไดอะแกรม เขาคลี่กระดาษแผ่นหนึ่งให้ดู พร้อมอธิบายว่า ถอดรหัสออกมาแล้ว มหัศจรรย์มาก 

"ผมรื้อท่ารำว่า มีความสัมพันธ์ระบบโครงสร้างยังไง มีการเข้าออกเคลื่อนไหวยังไง ผมเคยจัดนิทรรศการเรื่องนี้สี่ครั้งในต่างประเทศ กระแสตอบรับดีมาก ผมเคยนำมาเผยแพร่ในเมืองไทย แต่คนไม่เข้าใจ ผมบอกว่า นี่เป็นหนทางในการสอน เพื่อให้เด็กที่เรียนเข้าใจเทคนิคการเต้นและพัฒนาต่อ เมื่อพวกเขาเรียนจบไปแล้ว ก็สามารถเป็นนักออกแบบท่าเต้นได้ เวลาถอดรหัสการเต้น ฝรั่งทำละเอียดมากกว่าที่ผมเล่า ”

เขาจึงไม่ได้มองการเต้น เป็นศิลปะอย่างเดียว ยังเชื่อมโยงกับหลักการวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์

 “ขณะที่เรายืนอยู่ ร่างกายเรามีน้ำหนักและมุมอยู่ตรงไหน มีการเคลื่อนย้ายน้ำหนักยังไง ผมเรียนสายวิทยาศาสตร์มา ผมก็เลยเข้าใจเรื่องเหล่านี้ดี ผมศึกษาจนถ่ายทอดให้ลูกศิษย์ของผมที่โรงละครผมฝึกฝน ต่อไปพวกเขาจะเต้นโขนด้วยองค์ความรู้ ไม่ได้เต้นโขนด้วยหลักการวัฒนธรรม แต่ความรู้เหล่านี้ก็ยังเผยแพร่ในวงกว้างไม่ได้”

กว่าจะหาจุดลงตัวในเรื่องการเต้นโขนท่าต่างๆ ได้ พิเชษฐ บอกว่า ต้องฝึกฝนพิสูจน์ด้วยตัวเอง และทดลองกับนักเต้นอีกหกคน

“มันใช้งานได้จริง ผมทำตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ กว่าจะเขียนเรื่องนี้เสร็จ ผมใช้เวลากว่าสิบปี สามปีที่แล้วผมเคยขังตัวเองไว้ในโรงแรมที่แคนาดาสองอาทิตย์ เขียนเรื่องท่าเต้น 59 ท่าจนเสร็จ ขณะที่เขียนเรื่องนี้อยู่ ผมฟังธรรมะหลวงพ่อชาและหลวงปู่ดุลย์ 

เวลาเราเต้น เมื่อเข้าสู่สภาวะสัมปชัญญะ เราก็จะเริ่มมองเห็นตัวเราเอง ไม่จมดิ่งอยู่กับการเคลื่อนไหว พอเริ่มมองเห็นตัวเรา ผู้รู้ก็แยกจากสิ่งที่ถูกรู้ได้ทันที ผมจึงเขียนออกมาได้ว่ามีหลักการอย่างไร”

อีกเรื่องที่เขาตั้งเป้าหมายไว้ ก็คือ จะเป็นนักเต้นจนกว่าจะสิ้นลม เพราะประเทศนี้ไม่เคยมีศิลปินแบบนี้

่“ผมอยากเป็นศิลปินที่สร้างงานแสดงจนแก่เฒ่า และทำให้เห็นว่า การเต้นโขนมีความงามอย่างไร แม้ร่างกายจะเหี่ยว ก็มีความงามอีกแบบ และผมสร้างโรงละครแห่งนี้ขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหาให้นักเต้น เพราะนักเต้นบ้านเราส่วนใหญ่เป็นนักเต้นงานอีเว้นท์ ผมอยากให้มีนักเต้นมืออาชีพ ผมไม่ได้สร้างสิ่งเหล่านี้เพื่อตัวเอง เพราะตัวผมเอง ถ้าจะไปอยู่ที่ฝรั่งเศส ผมหาเงินได้เยอะกว่านี้ แต่ผมอยากทำเพื่อคนไทย”

..................................................

หมายเหตุ : การแสดงชุดพิเชษฐ กลั่นชื่นและตัวผมเอง ในวันที่ 3-4 มีนาคม 2561(Pichet Klunchun and Myself) แสดงที่โรงละครข้าง ประชาอุทิศ 61 แขวงทุ่งครุ ติดต่อซื้อบัตรได้ที่ เบอร์ 099 213 5639 และ 095 956 9166