โรงเรียนไร้กำแพง ‘หญ้าแพรกสาละวิน’

โรงเรียนไร้กำแพง ‘หญ้าแพรกสาละวิน’

จังหวัดที่มีป่าไม้มากที่สุด ยากจนที่สุด แต่ก็มีความสุขที่สุดในประเทศไทย ควรจัดการศึกษาแบบไหนถึงจะทำให้คนอยู่ดีกินดีและดัชนีความสุขไม่ลดลง

แม่ฮ่องสอนมีป่าไม้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ มีถนนดีๆ ไม่ถึงครึ่ง ที่เหลือเป็นทางเขาทางป่าลากไปหาชุมชนที่อยู่ห่างไกล ชาวแม่ฮ่องสอนมาจากหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งกะเหรี่ยง ม้ง ลัวะ ลีซอ ลาหู่ ไทใหญ่ จีนฮ่อ และคนเมือง แน่นอนว่าภาษาและวัฒนธรรมย่อมหลากหลายเช่นกัน คำถามสำคัญคือ การศึกษาในระบบที่ใช้มาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศตอบโจทย์ชีวิตที่ดีกว่าของคนในพื้นที่ได้หรือไม่

ดร.จรูญ แสนวิจิตร รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา แม่ฮ่องสอน เขต 2 ให้ข้อมูลกว้างๆ เกี่ยวกับการจัดการศึกษาของโรงเรียนในพื้นที่ว่า ด้วยความยากลำบากในการเดินทางทำให้แม่ฮ่องสอนมีโรงเรียนที่มีหอพักนอนจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย บางแห่งมีจำนวนครูน้อยจนน่าตกใจ และเมื่อวัดคุณภาพการศึกษาภายใต้มาตรฐานกลาง ผลสัมฤทธิ์ของการจัดการศึกษาในพื้นที่แม่ฮ่องสอนรั้งอันดับท้ายๆ ของประเทศ

ในวาระประเทศไทย 4.0 ‘การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่’ จึงถูกขีดเส้นใต้หนาๆ ให้มีการนำมาปรับใช้เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของเมืองพิเศษที่เต็มไปด้วยอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ โดยมี ’ศูนย์การเรียนหญ้าแพรกสาละวิน’ เป็นตัวอย่างเล็กๆ ของการจัดการศึกษาที่มีเด็กเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง

โรงเรียนของหนู

อาคารไม้ไผ่ไร้กำแพงยกสูงจากพื้นดินเล็กน้อย มีหลังคามุงใบตองตึงเรียบง่ายไว้กันแดดกันฝน มีสนามพอให้เด็กๆ ได้วิ่งเล่น ล้อมรอบด้วยป่าทึบและลำธาร ด้านหนึ่งของอาคารมีชื่อ ศูนย์การเรียนรู้หญ้าแพรกสาละวิน บ้านแม่ลามาน้อย ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน

จากอำเภอแม่สะเรียง ซึ่งเป็นที่ตั้งของหน่วยราชการ โรงพยาบาลและโรงเรียนขนาดใหญ่ ระยะทางกว่า 75 กิโลเมตรสู่บ้านแม่ลามาน้อย ต้องใช้เวลาร่วม 3 ชั่วโมงบนสภาพถนนที่เป็นดินลูกรังขรุขระคดโค้งตามทางเขา

หมู่บ้านแห่งนี้อยู่เกือบจะถึงชายแดนไทย-เมียนมา ไม่มีไฟฟ้า น้ำประปา หรือสัญญาณโทรศัพท์ แต่ที่นี่มีโรงเรียนที่อาจจะเรียกได้ว่ามีความสุขที่สุดในโลก

ห้องเรียนวันนี้มีเพียงคุณครูหนึ่งคนกับกระดาษปอนด์สีขาวขุ่นที่แขวนบนขาตั้งเรียบง่าย ส่วนเด็กๆ ตั้งแต่ชั้นป.1-ป.6 นั่งในอิริยาบถตามสบาย ไม่มีโต๊ะ-เก้าอี้ หรือแม้แต่สมุด มีเพียงกระดาษ A4 จากการบริจาคไว้สำหรับเขียนคำตอบที่ครูบอกว่าไม่มี ‘ถูก’ หรือ ‘ผิด’

“เราเริ่มจัดการศึกษาตั้งแต่ปี 2558 มาจากความต้องการของผู้ปกครองจำนวนหนึ่งที่อยากให้หมู่บ้านมีการจัดการเรียนของตัวเองขึ้นจะได้ไม่ต้องส่งลูกออกไป เพราะว่าการเดินทางช่วงหน้าฝนลำบากมาก เด็กต้องไปพักค้าง เด็กเล็กมากก็ไม่คุ้นเคยที่จะอยู่ห่างจากพ่อแม่ ขณะเดียวกันมุมของผู้ปกครองเองก็มีประสบการณ์ว่า พอส่งไปเรียนข้างนอกตั้งแต่ยังเล็กๆ โตแล้วกลับมาสอนให้ดูแลบ้านสอนอะไรต่างๆ ที่เป็นทักษะชีวิต สอนยากแล้ว อันนี้เป็นความต้องการตั้งต้นของการที่อยากให้มีโรงเรียน”

นิติศักดิ์ โตนิติ นักวิจัยท้องถิ่น หรือ ‘ครูหนุ่ม’ เล่าที่มาและว่า ตอนนั้นเขาเป็นทีมหนุนเสริมของงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นเรื่อง ‘องค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการระบบอาหารของชุมชน’ โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) รู้สึกเห็นด้วยและเริ่มมองหารูปแบบที่เป็นไปได้ โดยมาลงตัวที่ ‘ศูนย์การเรียน’

“ศูนย์การเรียนต่างจากศูนย์การเรียนรู้ ศูนย์การเรียนเป็นการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานที่เป็นไปตามพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ซึ่งเราค้นจนเจอว่าชุมชนสามารถจัดการศึกษาได้ด้วยองค์กรของชุมชน ตามมาตรา 12 มีกฎกระทรวงออกมารองรับในปี 2555 โดยจุดเอื้อก็คือสภาการศึกษาของกระทรวงฯได้ทำเรื่องหลักเกณฑ์การปรับใช้หลักสูตรแกนกลางให้เอื้อกับการเรียน ไม่ต้องเรียนแบบ 8 สาระวิชา แต่เรียนแบบกลุ่มประสบการณ์ที่ถอดมาจากงานวิจัยได้”

องค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยจึงถูกนำมาประยุกต์ใช้เป็นฐานประสบการณ์ในการจัดการศึกษา ซึ่งมีอยู่ 5 องค์ความรู้สำคัญ นั่นคือ 1.การผลิตบนฐานนิเวศวัฒนธรรม หรือไร่หมุนเวียน 2.การจัดการสุขภาพของชุมชน ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ 3.ระบบนิเวศเรื่องป่าและน้ำ 4.เศรษฐกิจแบบแบ่งปัน 5.พิธีกรรม

“ที่นี่เป็นชุมชนปกาเกอะญอ พอทำวิจัยเราพบเลยว่า 90 ชนิดของพืชอาหารจากป่าและน้ำลดลงใน 5 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านไม่รอเลยครับ บวชป่า บวชน้ำ บวชป่ามาแล้ว 5 ปี ระบบนิเวศทั้งหมดปล่อยให้ฟื้นตามธรรมชาติ ตอนนี้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงชัดมาก ป่าที่นี่ดีขึ้นมาก”

และเพราะเด็กที่นี่เติบโตขึ้นบนฐานทรัพยากรที่ไม่เพียงเป็นของชุมชน การจัดการศึกษาที่เหมาะสมจึงควรปลูกฝังจิตสำนึกในการอนุรักษ์ หลักคิดของศูนย์การเรียนจึงตั้งอยู่บนความเกื้อกูลระหว่างดิน น้ำ ป่า และผู้คน

“เราไม่ใช่ไม่มีเป้าหมายนะครับ ทางชุมชนช่วยกันคิดจนมีคำว่า ‘การเรียนรู้เพื่อการมีชีวิต’ ซึ่งก็ช่วยคิดกันว่า เด็กประถมเอาแค่ไหน เด็กมัธยมเอาแค่ไหน จนได้ข้อสรุปว่า ประถมต้น ต้องอ่านออกเขียนได้ คิดเลขเป็น คิดเป็น ประถมปลาย อาหาร-ยา-ผ้า-บ้าน หมายถึงดูแลสุขภาพได้ ผ้าก็ไม่ได้ต้องทอผ้าเป็นทุกคนแต่จัดการเสื้อผ้าของตัวเองได้ บ้าน นี่คือต้องดูแลบ้านช่วยเหลือพ่อแม่ พอขยับมาถึงมัธยมก็เน้นไปที่เรื่องการดูแลครอบครัว ต้องช่วยดูรายจ่ายในบ้าน วันนี้ซื้อกินอะไรบ้าง อะไรบ้างที่หามาหรือเพื่อนเอามาให้ เขาก็จะเห็นข้อมูล แล้วแต่ละเดือนก็พยายามให้เด็กเอาตัวเลขกลับมาเรียนคณิตศาสตร์”

ทั้งหมดนี้ไม่มีบรรยากาศของการสอบแข่งขัน มีแต่ความสนุกรายวันที่ได้จากการเรียนรู้เรื่องใกล้ตัว ซึ่งทั้งครูและนักเรียนต่างเติบโตไปด้วยกัน มีความสุขเหมือนกัน

วิชาเข้าป่าหาความหมาย

ห้องเรียนที่นี่นอกจากจะไม่มีประตูหน้าต่าง ยังไม่มีกฎเหล็กใดๆ ทั้งเรื่องเครื่องแต่งกายและการเช็คชื่อเข้าเรียน เพราะถ้าใครอยากจะไปทำอย่างอื่น เช่นเข้าป่าก็สามารถแจ้งความจำนงกับครูได้ มีเพียงข้อแม้ว่าต้องมาติดตามจากเพื่อนว่าวันนี้เรียนอะไรไปบ้าง หรือกลับมาเล่าให้เพื่อนฟังว่าได้เรียนรู้อะไรและสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาตัวเองได้อย่างไร

ส่วนวิชาที่เรียนกันในห้องเรียน ก็ไม่ได้แบ่งเป็นคณิตศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา แต่เรียนตามกลุ่มประสบการณ์และเชื่อมร้อยเข้าหากันโดยยึดตามความสนใจเป็นหลัก

“เราไม่ได้เรียน 8 สาระวิชาที่เขาเรียนกัน แต่เรียนตามกลุ่มประสบการณ์ เช่นไปเก็บข้อมูลเรื่องข้าว ข้าว 1 ต้นมีกี่รวง 1 รวงมีกี่เมล็ด พันธุ์นี้มันให้กี่เมล็ด อีกพันธุ์หนึ่งให้กี่เมล็ด ก็มานับ แล้วพอมาเก็บก็ดูว่า 1 แก้วมีกี่เมล็ด แล้วใน 1ปี๊บมีกี่แก้ว ปีนี้ได้กี่ปี๊บ มันก็จะเชื่อมโยงกับคณิตศาสตร์ แต่เด็กก็ต้องเรียนคิดด้วยว่าทำไมมันลดลง ทำไมมันเพิ่มขึ้น ซึ่งเราก็ไม่ได้สอนแบบตรรกะ ว่าต้องทำแบบนี้ถึงจะได้แบบนั้น แต่จะให้คิดวิเคราะห์ว่า การจัดการแบบนี้ถึงจะได้น้อยแต่ยอมรับได้ เพราะว่าปลูกเผื่อนกเผื่อหนู มันมีมิติของการอยู่ร่วมไปด้วย แล้วเดี๋ยวค่อยไปกินหนูต่อ อะไรอย่างนี้ครับ เป็นมิติการเรียนที่เชื่อมร้อยกัน สมมติเราเรียนเรื่องไร่หมุนเวียนเป็นหลัก อีก 4 องค์ความรู้มันก็จะเป็นตัวเรียนรู้รอง ซึ่งทั้ง 5 เรื่องมันแยกกันไม่ออก เพียงแต่จุดเน้นวันนี้เราจะเริ่มจากตรงไหน”

ครูหนุ่ม อธิบายเพิ่มเติมว่า นอกเหนือจากองค์ความรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่นทั้ง 5 กลุ่มแล้วยังมีอีกหนึ่งองค์ความรู้คือ ภาษา ทั้งภาษาปกาเกอะญอ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษกับภาษาพม่าบ้าง รวมถึงคณิตศาสตร์ก็ถือเป็นภาษาอย่างหนึ่งด้วย สำหรับการวัดผลจะใช้การประเมินตัวเองของผู้เรียน ร่วมกับการประเมินจากครูผู้สอน ครอบครัว และชุมชน

“อย่างเช่นเด็กประถมต้นต้องรู้จักการบวกลบเลขได้หลักเท่าไหร่ ก็มาดูว่าการเรียนจากไร่หมุนเวียนมันเกิดผลกับเด็กหรือยัง ถ้าเกิด มันเกิดระดับไหน ก็มาทำสเกล ประเมินร่วมกัน เด็กประเมินตัวเองด้วย มันน่าสนใจตรงนี้ครับ เราคืนอำนาจให้กับผู้เรียน ให้กับคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็ก โดยเฉพาะพ่อแม่ผู้ปกครอง หรืออาจจะเป็นคนอื่นๆ ที่รู้เรื่องนั้นๆ เช่น เรื่องพันธุ์ข้าว เรื่องสมุนไพร เรื่องสีย้อมผ้า เรื่องลายผ้า ก็มาให้ความรู้และเข้ามาประเมินเด็กด้วย แล้วเราเอาทุกฐานมาดูค่าเฉลี่ยอีกที”

ในความเห็นของครู ค่าเฉลี่ยเป็นเพียงส่วนหนึ่ง สิ่งที่เป็นหัวใจหลักคือการมีส่วนร่วม โดยเฉพาะตัวผู้เรียนที่รู้ว่าเขาได้คะแนนเท่านี้เพราะอะไร และถ้าอยากจะได้คะแนนมากขึ้นจะต้องทำอย่างไร

รู้เขา รู้เรา รู้โลก

นอกจากหลักคิดและรูปแบบการเรียนการสอนที่ต่างจากโรงเรียนในระบบทั่วไปแล้ว สิ่งที่เด็กนักเรียนที่นี่ต้องทำตั้งแต่แรกเข้าก็คือ การคิดโครงงาน (Project-based Learning) เพื่อใช้จัดกระบวนการเรียนรู้ให้ตัวเองตลอดทั้งปี

ประกอบ แย้มสถิต หรือ ‘คูนู’ เด็กชายชั้น ป.6 กับโครงงานผักล้อยาง ที่เขาคิดขึ้นมาจากปัญหาที่เจอแทบทุกปีว่าในหน้าแล้งชุมชนจะไม่มีผักรับประทานเพราะน้ำไม่พอ

“อยากปลูกผักจะได้ไม่ต้องซื้อ ผมเสิร์ชหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ต เจอวิธีปลูกผักล้อยาง ไม่ต้องรดน้ำ ก็ลองเอามาปลูกผักสลัด ผักกูด ผักบุ้ง แต่เราใช้ล้อใหญ่กว่า ในอินเตอร์เน็ตเขาบอกให้พลิกยาง เราไม่ได้พลิก ก็ได้ผล ได้กินกันทุกคนในโรงเรียน” คูนู เล่า ก่อนที่ครูหนุ่มจะเสริมว่า กว่าจะมาถึงตรงนี้ สำคัญคือเด็กจะสร้างความรู้อย่างไร มีรายละเอียดที่เขาจะต้องเก็บเกี่ยวให้ได้ด้วยตัวเอง

คูนู บอกว่าตัวเองเคยเรียนในระบบมาก่อน ไม่ค่อยสนุกเท่าไหร่ เพราะไม่ได้ออกไปไหน อยู่แต่ในห้อง ไม่ได้พูด พอมาเรียนที่นี่อยากทำอะไรก็ทำได้ อยากเรียนรู้อะไรก็มาบอกครู ซึ่งไม่ใช่แค่วิชาป่าเขาลำเนาไพร โรงเรียนที่ไร้อุปกรณ์อิเลกโทรนิกส์ทุกชนิดแห่งนี้ ยังเปิดกว้างให้เด็กๆ ได้ท่องโลกออนไลน์ด้วย

“เรามีบ้านเช่าข้างล่าง เพื่อให้เด็กลงไปทำงาน ถึงหมู่บ้านนี้จะไม่มีสัญญาณ แต่เด็กทุกคนมีโทรศัพท์มือถือ ถึงเราจะพยายามบอกว่ารอให้โตก่อนค่อยมีเฟซบุ๊ค มันมีเรื่องที่ต้องจัดการเยอะมาก แป๊บเดียวก็มาขอเป็นเพื่อนแล้ว (หัวเราะ) ตอนนี้ทุกคนมีหมดแล้ว ห้ามไม่ได้ พอห้ามไม่ได้ ผมว่าฝึกให้เขาใช้ให้เป็นดีกว่า ให้เขาเรียนรู้เรื่องการทำสื่อไปเลย อย่างวันนี้เรียนเรื่องจักสาน พอเด็กเข้าอินเตอร์เน็ตได้ เขาก็เสิร์ชเจอว่าจักสานมันไม่ได้แค่เอามาใส่ของ เอามาทำโคมไฟ ทำเป็นของอย่างอื่นได้ เขาก็สามารถนำมาประยุกต์ให้มันเกิดหน้าที่ใหม่

ผมว่าเราต้องมีท่าทีที่ไปกับเด็กได้ด้วย ถ้าไปค้านมันเอาไม่อยู่หรอกครับ เขามีทางเลือกหลากหลาย ไม่ใช่ทุกอย่างต้องมาขึ้นกับเรา”

ครูของหญ้าแพรกสาละวิน จึงไม่ใช่ผู้สอนอย่างเดียว แต่เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับเด็ก ด้วยความหวังว่าพวกเขาจะสามารถออกแบบชีวิตและประเมินตัวเองได้... “เพื่อที่ว่าหลังจากนี้ เวลาเขาต้องไปเผชิญชีวิตจริง โลกกว้าง เขาจะได้เดินด้วยตนเองอย่างมีกำลัง”

นิติศักดิ์มองว่านี่คือรูปแบบหนึ่งของการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ ที่ต้องทำให้คนอยู่กับพื้นที่ได้ สัมพันธ์กับคนทั้งในและนอกชุมชนได้ดี ซึ่งหากกลไกต่างๆ เปิดกว้างมากขึ้น มีการสนับสนุนเพียงพอ การเรียนรู้ในลักษณะนี้จะมีความหลากหลายและยั่งยืน

“พอเราทำที่นี่เริ่มเห็นว่าการทำศูนย์การเรียนหรือสถานศึกษาในชุมชนมีความสำคัญ หมู่บ้านทุกหมู่บ้านควรมีสถานศึกษา ไม่จำเป็นต้องมีอาคารใหญ่โต แค่นี้ก็ได้แล้ว มันอาจจะรกๆ ไปหน่อย ก็ตามสภาพนะ แต่ถ้าทุกหมู่บ้านมี ต้นทุนค่าใช้จ่ายเรื่องการศึกษา 0 บาทได้ครับ ซึ่งนอกจากจะลดค่าใช้จ่ายของชุมชนซึ่งแทบไม่มีรายได้อยู่แล้ว ยังพัฒนาเรื่องการพึ่งตัวเองของชุมชนด้วย มันเป็นขุมพลังปัญญาในการจัดการป่าจัดการน้ำจัดการต้นทุนที่เขามีอยู่แล้วให้เกิดโอกาส” ซึ่งหากแต่ละชุมชนสามารถจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับบริบทของตนเองได้ ย่อมหมายถึงคุณภาพชีวิตและสังคมในอนาคต

เพราะการศึกษาที่แท้ไม่ได้มีปลายทางแค่ใบประกาศนียบัตร แต่ควรบ่มเพาะให้รู้จักตัวเอง รู้จักโลก และรู้จักรักษ์