The Red Box กล่องพินัยกรรมดิจิทัล

The Red Box กล่องพินัยกรรมดิจิทัล

ข้อมูลดิจิทัลมีความสำคัญมากสำหรับคนในยุคนี้

การใช้ชีวิตในสังคมดิจิทัลในทุกวันนี้ ทุกอย่างรอบตัวล้วนทำงานด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และจัดเก็บข้อมูลที่เป็นดิจิทัลทั้งสิ้น

เฟซบุ๊คถูกบล็อค ไอจีถูกแฮค อีกหลายกรณีที่เกิดขึ้นจนบรรดาเจ้าของแอคเคาน์ต่างออกมาแสดงความเดือดร้อน พร้อมกับเสียดายข้อมูลต่างๆ ที่โพสต์เอาไว้ สะท้อนให้เห็นว่ารูปภาพเหตุการณ์ต่างๆ คลิปวิดิโอ รวมถึงไฟล์ดิจิทัลต่างๆ นั้นล้วน “สำคัญ” “มีคุณค่า”และไม่อยากสูญเสียมันไป

แล้วจะทำอย่างไรกับข้อมูลดิจิทัลเหล่านี้

“The Red Box”เป็นไอเดียที่เกิดขึ้นเพื่อมาทำงานตรงนี้ จากความช่างคิดของ คามิน บัวอาบแสง Founder The Red Box นักออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์ ที่เสนอเซอร์วิสที่ชื่อ RED BOX ขึ้นมา

“เริ่มต้นมาที่มีคนในครอบครัวเสียชีวิต และได้ยินข่าวคนนั้นคนนี้เสียชีวิต ทำให้เห็นถึงความยุ่งยากในการบริหารจัดการหลังความตาย

ความยุ่งยากในการจัดการที่พูดถึงมีหลายอย่าง เช่น บุ๊คแบงค์ เก็บไว้ที่ตรงไหน รายการสินทรัพย์อื่นๆ

ซึ่งผมคิดว่ามันจะดีกว่าถ้าเตรียมการเอาไว้”

ไม่เพียงเอกสารสำคัญเท่านั้น ในส่วนของข้อมูลดิจิทัลต่างๆ ก็ยิ่งมีความสำคัญโดยเฉพาะคนในยุคนี้

ดังที่เป็นข่าวในต่างประเทศ มีปัญหาอย่างมากในการเข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์มือถือแม้จะยื่นเรื่องไปที่บริษัทผู้ผลิตโทรศัพท์แต่ก็ไม่สามารถปลดล็อคเอาข้อมูลมาได้ เป็นการชี้ให้เห็นว่า ไฟล์ต่างๆ เหล่านี้ สำคัญ ทั้งระดับบุคคล และในมิติของการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่

จากไอเดียเริ่มสู่การค้นหาข้อมูลว่าในโลกนี้มีใครทำบ้าง คามิน มั่นใจว่า สำหรับในไทยแล้วยังเป็นเรื่องที่ใหม่มาก

“มองหาว่าในโลกนี้มีวิธีการจัดการอย่างไรบ้าง ในไทยไม่มีอยู่แล้ว จากนั้นไปดูที่ยุโรปอเมริกาจนได้ไปเจอข่าวที่พูดถึงทรัพย์สินของคนที่ตายแต่ไปแล้วที่เป็นดิจิทัล แล้วฝากในรูปแบบของคลาวด์ ซึ่งพอจะมี service แนวๆ นี้อยู่บ้าง แต่ยังมีขั้นตอนยุ่งยากในการทำงาน”

คามิน อธิบายการทำงานหลักๆของ RED BOX ง่ายๆ ว่าให้นึกถึงภาพของเป็นกล่องสีแดงที่ในนั้นจะมีซองหลายๆ ซองใส่เอาไว้

ในแต่ละซอง สามารถบันทึกไฟล์ข้อมูลดิจิทัลอะไรก็ได้ที่ต้องการลงไป อาทิ ไฟล์วิดีโอ ไฟล์ภาพ พร้อมกับกำหนดเงื่อนไขด้วยว่า ซองนั้นกำหนดส่งไปที่ใคร เมื่อถึงเวลาใดที่กำหนดไว้จึงสามารถเปิดออกได้

“ผมเรียกว่าเป็น Inheritance Manager ที่ให้แต่ละคนตัดสินใจและออกแบบเงื่อนไขที่ต้องการ”

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าตายเมื่อไหร่ หรือสามารถเปิดไฟล์ได้ตอนไหน

คามิน บอกใช้เวลาคิดอยู่นานในเรื่องนี้ เพราะการจะบอกได้ว่าใครจะตายเป็นเรื่องที่ยากหากใช้เทคโนโลยีมาเป็นตัวทำงาน

วิธีที่ดีที่สุด สำหรับผมก็คือให้ “คน” นี่แหละเป็นคนตัดสินใจว่าคนๆ นั้นเสียชีวิตและสามารถเปิดไฟล์ดูได้

“ต้องเป็นมนุษย์ด้วยกันที่ตัดสินใจซึ่งเจ้าของกล่องจะทำการมอบหมายให้กับคนที่ไว้วางใจได้มากกว่า 1 คนในการช่วยตัดสินใจ

ตัวอย่างเช่น มีข้อมูลอยู่ 5 ซอง สามารถฝากกุญแจ 5 ดอกไว้กับ 5 คน ที่เป็น พ่อแม่พี่น้องและคนที่ไว้วางใจ  

ระบบออกแบบมาไว้ว่าถ้าหากไม่มีการใช้ App นานเท่าไหร่ถือว่าผิดปกติ ซึ่งระยะเวลาสามารถกำหนดได้ของแต่ละคนเมื่อถึงเวลาระบบจะแจ้งเตือนไปยังทุกคนที่ได้รับมอบหมาย ผ่านทาง App , E Mail SMS แล้วแต่จะกำหนด

หากไม่มีการตอบรับ คนที่มีอำนาจสามารถตัดสินใจโดยคลิกไปที่กุญแจเพื่อเปิดไฟล์ได้ทันที บางครั้งอาจจะไม่ได้ตาย แต่ป่วยนอนไม่มีสติก็ให้คนที่มีอำนาจเป็นคนตัดสินใจ”

ถัดมาเป็นฟีเจอร์ WPassword Manager” ส่วนใหญ่แล้วมักจะมีปัญหาเรื่องการจดจำพาสเวิร์ดไม่ได้ ทำให้พัฒนาตรงนี้ส่วนนี้ขึ้นมารองรับ

ในทุกๆ ครั้งที่มีการ Update password ในแต่ละซองก็จะทำการอัพเกรดไปด้วย

นอกจากนี้ยังมี “Inventory” เป็นเหมือนกับการทำลิสต์ว่ามีอะไรบ้าง ช่วยให้แต่ละคนสามารถเช็คตัวเองได้ด้วยว่ามีทรัพย์สินอะไรบ้าง ถึงเวลาของการส่งต่อก็สามารถได้ทำได้ง่าย

สำหรับคามิน มองว่า ถ้าไม่มีวันพรุ่งนี้จะทำยังไงกับความทรงจำที่มีคุณค่า นี่คือสิ่งที่ RED BOX ตอบโจทย์

แต่ไม่เฉพาะการจัดการทรัพย์สินที่เป็นไฟล์ดิจิทัลและมีคุณค่าทางใจเท่านั้น การทำงานจะขั้นอยู่กับคอนเทนท์ที่แต่ละคนสร้างขึ้น ฉะนั้นสามารถมองได้ถึงมิติอื่นๆ โดยเฉพาะมิติทางครอบครัวและสังคมได้ด้วย

ตัวอย่างเช่น กรณีของการถูกข่มขู่สามารถอัดคลิปแล้วจัดเก็บโดยมอบหมายให้คนที่ไว้วางใจถือกุญแจ หากมีปัญหาใดๆ เกิดขึ้นสามารถทราบได้และใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ด้วย

โดย RED BOX เป็นหนึ่งใน 15 ทีมสุดท้ายจาก 120 ทีมที่ผ่านการคัดเลือก ในโครงการ “Allianz Ayudhya Activator”

ขณะนี้อยู่ในกระบวนการพัฒนา Prototype ที่พร้อมจะนำไปสู่การทำงานในส่วนของ Production โดยจะถูกนำเสนอในงาน Demo Day ในวันที่ 20 เมษายน 2561

โดยสิ่งที่นำเสนอเป็นเรื่องของการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นภายหลังจากความตายว่ามีเรื่องของอะไรบ้างตรงนี้เราจะเข้าไปจัดการ

ในส่วนของการเข้าร่วมโครงการนี้ คามิน บอก เพราะการทำสตาร์ทไม่เหมือนกับการทำธุรกิจอะไรทั้งนั้น สิ่งที่คาดหวังจากการเข้าร่วมโครงการนี้ก็คือความรู้ วิธีคิด ในการทำธุรกิจสตาร์ทอัพ จากเครือข่ายธุรกิจที่อลิอันซ์มีในหลายประเทศ

ปัญหาอุปสรรค

แม้จะพร้อมในการประชัน ไอเดีย แต่สิ่งที่ คามิน กังวลก็คือ ทีมงาน

เนื่องจากเวทีนี้เปิดกว้างรับไอเดียที่น่าสนใจและทีมงานกี่คนก็ทำให้ ทำให้ คามิน ตัดสินใจเดินเข้ามาแข่งขันในโครงการนี้

แต่หากต้องการจะ “ไปต่อ” ก็ต้องมีทีม

“ผมเป็น Business+Desinger Founder ถึงจะทำได้ทุกอย่าง ตั้งแต่ขายของ ระดมทุน พีอาร์ ออกแบบ UX/UI แต่ยกเว้น Coding ที่ทำไม่ได้ (Software Engineering ทั้งหมด)

สิ่งที่มองหาคือ Tech Co-Founder มาร่วมทีม เพื่อร่วมกันทำ Prototype ที่สร้างขึ้นสามารถทำให้เป็นแอพพลิเคชั่นใช้งานได้ และต้องใช้งานได้อย่างดีเยี่ยม

ในเรื่องไอเดียและแผนธุรกิจไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วง สัญญาณดีทุกอย่าง มีศักยภาพ Global Scale ได้ แต่ทั้งเมนเทอร์และนักลงทุน ติดตรงที่ทีมเรามีคนเดียว พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าผมจำเป็นจะต้องหา Co-Founder ที่เชื่อในไอเดียนี้และพร้อมที่จะมาทำมันขึ้นมาให้ได้

ถ้าสนใจก็มารู้จักกันไว้ก่อน ค่อยๆดูกันไป มาเป็นเฟรนด์ผมที่ www.facebook.com/kamin.bua”