SHIPPOP จองขนส่งเป็นเรื่องง่าย

SHIPPOP จองขนส่งเป็นเรื่องง่าย

การเตรียมพร้อมของ Shippop ในการรับมือกับโอกาสใหม่ๆ ที่เข้ามาจากตลาดขนส่งในภาพรวม

ในวันที่ อีคอมเมิร์ซเติบโต ธุรกิจที่จับแขนกันเดินไปพร้อมกันก็คือ ขนส่ง แล้วขนส่งแบบไหนที่ โดนใจพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ หนึ่งในนั้นมี Shippop อยู่ในนั้น

สุทธิเกียรติ จันทรชัยโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชิปป็อป จำกัด มองภาพนี้ไว้ตั้งแต่ 2 ปีก่อน จนถึงวันนี้ภาพที่คิดเอาไว้ ชัดเจน และเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าที่คิดเอาไว้มาก

จุดเริ่มต้น Shippop เกิดจากไอเดียที่ต้องการให้บริการออนไลน์เชื่อมโยงขนส่ง มาไว้บนแพลตฟอร์มเดียว

แน่นอนว่าความตั้งใจเป็นเรื่องการตอบโจทย์ความสะดวกสบาย และง่ายในการจอง

“ง่ายๆ” ในนิยามของแฟลตฟอร์มนี้ก็คือ แค่กรอกข้อมูลผู้รับ-ผู้ส่ง เลือกขนส่งและชำระเงินออนไลน์ และ ส่งของหรือรอขนส่งมารับของถึงที่

การมีระบบติดตามสินค้าที่สามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอนของการส่ง รวมทั้งในระบบยังมีการทำงานเพื่อเปรียบเทียบราคาได้ทางเว็บไซต์ และ แอพพลิเคชัน  รวมทั้งสามารถเช็กได้ว่า สินค้าที่จัดส่งนั้นถึงปลายทางหรือยัง เพียงแค่พิมพ์ชื่อลูกค้าเท่านั้น 

ช่วงเวลาของการทำงานในรอบปีที่ผ่านมา สุทธิเกียรติ บอก เป็นการทำงานเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของบรรดาผู้ค้าอีคอมเมิร์ซ ทั้งที่ขายสินค้าตัวเองผ่านช่องทางออนไลน์ อย่างเฟซบุ๊ค ไลน์ โดยให้เข้าใช้บริการผ่านเว็บไซต์ Shippop.com

อีกกลุ่มเป็นการขายผ่านช่องทางต่างๆ เช่น ลาซาด้า ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อในส่วนของระบบหลังบ้าน เพื่อให้สะดวกในการคลิกใช้บริการได้เลยโดยไม่ผ่าน เว็บไซต์ Shippop.com

รวมไปถึงการให้บริการรับ-ส่งสินค้าและพัสดุสำหรับบุคคลทั่วไปที่ต้องการส่งของเพียงแค่ชิ้นเดียวก็สามารถทำได้

การทำงานของ Shippop ในปีนี้ สุทธิเกียรติ ให้น้ำหนักไปในเรื่องหลักๆ ได้แก่ การขยายบริการเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ค้าและคนทั่วไปที่ต้องการจัดส่งของ

ยกตัวอย่างเช่น โปรโมชั่น 30 บาท สำหรับบริการรับของถึงบ้าน และส่งของถึงปลายทาง ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดเวลา และมีต้นทุนการจัดส่งที่ถูกมากๆ

นอกจากนี้ ยังจะได้เห็นบริหารเก็บเงินปลายทาง เพื่อให้การใช้งานภายใต้แพลตฟอร์มนี้สะดวกและง่ายขึ้นกว่าเดิม

“จากที่พูดๆ กันว่า หากระบบเพย์เม้นท์ดีแล้วคนจะเลิกเก็บเงินปลายทาง ในความเห็นส่วนตัวของผม เห็นว่า ด้วยพฤติกรรมคนไทย ไม่ว่าจะมี เพย์เม้นท์ดีแค่ไหน สุดท้ายก็ยังอยากเห็นของก่อนจ่ายเงินอยู่ดี ซึ่งแตกต่างจากหลายๆ ประเทศ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ที่ชำระผ่านระบบเพย์เม้นท์ล้วนๆ”

จากบริการในรูปแบบใหม่ๆ ที่ได้พัฒนาขึ้น และจะมีเพิ่มเติมเข้ามาอีกในอนาคต สุทธิเกียรติ บอก การทำธุรกิจก็ต้องปรับไปตามพฤติกรรมแต่ละประเทศ ตัวอย่างเช่น เวลาสั่งของจะไม่ต้องพิมพ์ที่อยู่อีกต่อไปแล้ว แค่ส่ง location แล้วแชร์ออกไปจากนั้นดำเนินการจัดส่งได้เลย

โดยการพัฒนาบริการใหม่ๆ เป้าหมายคือการช่วยผู้ซื้อให้รับของได้เร็วขึ้น และผู้ขาย ขายของได้มากขึ้น ที่ผ่านมาได้ร่วมกับไปรษณีย์ไทยเปิดจุด Drop off ที่ทำการไปรษณีย์ไทย 230 สาขาทั่วประเทศ  

นอกจากบริการใหม่ๆ ที่เสริมเข้ามาเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าแล้ว อีกภารกิจคือการพา Shippop ไปให้ไกลกว่าตลาดในประเทศ และการเสริมแกร่งด้านพันธมิตร

“ที่ผ่านมา เราเปิดให้บริการแล้วในสิงคโปร์ และมาเลเซีย ซึ่งรูปแบบการให้บริการจะเหมือนกันในไทย แต่ลิ้งค์กับผู้ให้บริการขนส่งของที่โน่น”

ขณะที่ในไทย มีการทำงานร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจที่เป็นบริษัทขนส่งภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับขยายช่องทางการส่งพัสดุที่ไปรษณีย์ไทยให้มากขึ้น

สุทธิเกียรติ บอกที่ผ่านมา Shippop อยู่ในขั้นของ Pre-seed แต่ถึงตอนนี้เราคาดหวังจะไปให้ถึง Series A ให้ได้ ด้วยการระดมเงินทุนระดับ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ

“ที่ผ่านมา คุยกับนักลงทุนหลายราย โดยสิ่งที่มองหาไม่ได้แค่เงินเท่านั้น แต่ต้องการหาคนที่จะมาเป็น Strategic Partner และ ต้องเก่งด้านโลจิสติกส์ เพื่อช่วยให้เราขยายไปได้มากกว่านี้

มองว่าความร่วมมือเป็นการช่วยขยายโอกาสทางธุรกิจ”

ที่กล่าวมา เป็นการเตรียมพร้อมของ Shippop ในการรับมือกับโอกาสใหม่ๆ ที่เข้ามาจากตลาดขนส่งในภาพรวมที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

อีกทั้งยังเตรียมพร้อมรับคู่แข่งขันรายใหม่ๆ ที่จะเข้ามาชิงตลาดด้วยเช่นกัน

“ตลาดขนส่งเติบโต ทำให้มีคนเข้ามาแข่งอีกเยอะ จากนี้จะได้เห็นเจ้าใหม่ๆ เกิดอีก ทั้งจากญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลี และจีน”

โอกาส&การแข่งขัน

ETD คาดการณ์อัตราการเติบโตของมูลค่าอีคอมเมิร์ซในปี 2560 เมื่อเทียบกับปี 2559 พบมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีมูลค่าประมาณ 2,812,592.03 ล้านบาทในปี 2560 เติบโตเพิ่มขึ้น 9.86%

การขยายตัวดังกล่าวสะท้อนถึง “โอกาส” ของผู้ให้บริการด้านธุรกิจขนส่ง รวมถึงผู้ให้บริการระบบการจองขนส่งในแบบที่ Shippop ทำอยู่ 

ในขณะเดียวกันก็เป็นตัวเร่งให้ ผู้ให้บริการขนส่งหน้าใหม่เข้ามาชิงเค้กก้อนโตนี้ด้วย 

สุทธิเกียรติ มองว่า ผู้ให้บริการต่างชาติเข้ามาแน่นอน ซึี่งนอกจากการทำงานที่เตรียมความพร้อมทั้งการขยายพันธมิตร และการระดมเงินลงทุนก็เพื่อเสริมความเข้มแข็งให้กับ Shippop 

สำหรับ Shippop เป็นการทำงานที่มองจากปัญหาที่สำคัญของผู้ประกอบการค้าออนไลน์ ที่ต้องปวดหัวจากการบรรจุสินค้าลงกล่องเพื่อจัดส่ง การเขียนชื่อที่อยู่ในการส่งสินค้า และการส่งหมายเลขพัสดุ (Tracking) ที่จัดส่งให้กับลูกค้า 

ยิ่งขายดีเท่าไหร่ ก็ยากที่จะจัดการมากขึ้นเท่านั้น 

นั่นเป็นจุดเริ่มต้นให้คิดระบบขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกทั้งในเรื่องการเปรียบเทียบราคาของค่าบริการขนส่งของผู้ให้บริการแต่ละรายในตลาด ต้นทุนการจัดส่ง และคุณภาพในการขนส่งสินค้า

ที่ผ่านมา Shippop เข้าร่วมโครงการบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) ในชื่อ AIS the startup และเข้าร่วมโครงการสตาร์ทอัพ ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และล่าสุดคว้าผลงานชนะเลิศ รับเงินทุนประเดิม 1,000,000 บาทจากโครงการประกวดGSB สุดยอด SMEs Startup ตัวจริง