ผักเม็ดสู่อาหารการแพทย์ นวัตกรรมต่อยอดธุรกิจ

ผักเม็ดสู่อาหารการแพทย์  นวัตกรรมต่อยอดธุรกิจ

“อาหารทางการแพทย์” ในรูปแบบข้าวกึ่งสำเร็จรูปให้พลังงานต่ำสำหรับผู้ป่วยเบาหวานและผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก เป็นผลิตภัณฑ์ที่แบ็คอัพด้วยองค์ความรู้จากงานวิจัยขานรับสังคมสูงวัยและกระแสเฮลท์ตี้ เตรียมเปิดตัวกลางปี 2561

วิจัยติดเกราะเอสเอ็มอี

บริษัท ไบโอเวกกี้โปรดักส์ จำกัด เริ่มเมื่อปี 2553 จากการรวมกลุ่มกันระหว่างนักวิชาการด้านอาหาร นักวิทยาศาสตร์การอาหาร นักเศรษฐศาสตร์และทีมวิศวกรเคมี ที่ตระหนักถึงความเสี่ยงจากการบริโภคผักผลไม้ที่มีสารปนเปื้อน ประกอบกับพฤติกรรมการกินอยู่ที่ทำให้บริโภคผักผลไม้น้อยกว่า 450-500 กรัมต่อวัน ซึ่งเป็นปริมาณที่นักโภชนาการแนะนำ จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารประเภทผักเม็ด

“เราสนใจที่จะแปรรูปผักผลไม้สดให้บริโภคได้ง่าย โดยยังคงคุณค่าทางโภชนาการไว้ได้มากกว่า 80% รวมถึงสารต้านอนุมูลอิสระต่างๆ ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นเองซึ่งเน้นให้รักษาคุณค่าสารอาหารไว้ได้มากที่สุด ควบคุมการผลิตตามมาตรฐานจีเอ็มพี (การผลิตอาหารตามหลักเกณฑ์ที่ดี) และมาตรฐานเอชเอซีซีพี (การรับรองระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤติที่ต้องควบคุมในการผลิตอาหาร)” นายเกษคง พรทวีวัฒน์ รองประธานกรรมการ บริษัท เชียงใหม่ไบโอเวกกี้ จำกัด กล่าว

ในช่วงแรก บริษัทมุ่งความสำคัญไปที่ตลาดกลุ่มเด็กและกลุ่มคนไม่กินผัก แต่สินค้ามีความเป็นนวัตกรรมจึงเริ่มต้นด้วยการให้ความรู้ความเข้าใจในตัวผลิตภัณฑ์ กระทั่งในปีที่ 2 ได้พัฒนาเป็นกัมมี่ผักผงผสมวิตามินซีสำหรับเด็ก ขณะที่ทีมงานเดินหน้างานวิจัยอย่างต่อเนื่องและขยายสู่กลุ่ม “อาหารทางการแพทย์” ซึ่งมูลค่าทางการตลาดหลักพันล้านในไทย แต่เป็นการนำเข้า 100%

“จากมูลค่าตลาดรวมหลักพันล้านของอาหารทางการแพทย์ในไทย เราหวังส่วนแบ่งตลาดไม่มากนัก แต่เชื่อว่า มีโอกาสทางการตลาดที่ดี โดยเฉพาะเมื่อสามารถสร้างการยอมรับจากข้อมูลเชิงวิชาการที่ผ่านการทดสอบและวิจัยมาสนับสนุน” นายเกษคง กล่าวและว่า ทิศทางของเชียงใหม่ไบโอเวกกี้จะขยายไลน์สู่กลุ่มอาหารทางการแพทย์ที่จะตอบเทรนด์สังคมผู้สูงวัย ผ่านการการวิจัยและพัฒนาโดยจัดสรรงบสนับสนุนปีละ 3-5 ล้านบาท


“ข้าวย่อยช้า” เป็นหนึ่งในเมนูกลุ่มอาหารทางการแพทย์ที่น่าสนใจ เนื่องจากในเชียงใหม่มีวัตถุดิบข้าวอินทรีย์ ซึ่งสามารถจับคู่กับผลิตภัณฑ์ผักผงของบริษัท พัฒนาเป็นอาหารกึ่งสำเร็จรูปพร้อมรับประทานสำหรับผู้ป่วยเบาหวานและผู้ที่ดูแลน้ำหนัก เนื่องจากคุณสมบัติการย่อยช้านี้จะควบคุมการเปลี่ยนคาร์โบไฮเดรตไปเป็นน้ำตาลได้

“งานวิจัยจำนวนมากเป็นเรื่องเกี่ยวกับข้าวย่อยช้า แต่ไม่เคยมีใครทำออกมาในเชิงพาณิชย์ ทำให้มีโอกาสทางการตลาดอย่างมาก”