กพร. รุกฝึกอาชีพต่อยอด IOT รองรับ 4.0

กพร. รุกฝึกอาชีพต่อยอด IOT รองรับ 4.0

กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน รุกฝึกอาชีพ ต่อยอด "IOT" เรียนรู้ระบบการจัดการอัจฉริยะ เปิดฝึกอบรมกว่า 20 หลักสูตร รองรับ 4.0

นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ในปัจจุบัน โลกได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ออกมามากมายและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สามารถเชื่อมต่อกับโลกอินเตอร์เน็ตได้ โดยมีกลไกชิ้นส่วนและมีความทันสมัย อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งในการดำรงชีวิตของคนยุคดิจิทัล โดยสิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของ Internet of Things หรือ IOT คือ "อินเตอร์เน็ตในทุกสิ่ง" หมายถึง การที่สิ่งต่างๆถูกเชื่อมโยงทุกสิ่งทุกอย่างสู่โลกอินเตอร์เน็ต ทำให้มนุษย์สามารถสั่งการควบคุมการใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ ผ่านทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เช่น การเปิด-ปิด อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ โทรศัพท์มือถือ เครื่องมือสื่อสาร เครื่องมือทางการเกษตร อาคาร บ้านเรือน เครื่องใช้ในชีวิตประจำวันต่างๆ ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เป็นต้น

กพร. เล็งเห็นประโยชน์ของ IOT จึงได้นำมาใช้ในการพัฒนาฝึกทักษะฝีมือแรงงาน และพลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กำชับเรื่องของนโยบาย 4.0 ที่เน้นให้ฝึกทักษะฝีมือแรงงานโดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ใช้ควบคู่กับการฝึกเพื่อพัฒนาทักษะ ในปี 2561 ซึ่งมีผู้เข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับ IOT และการสนับสนุนการใช้ชีวิตในยุค 4.0 จำนวน 654 คน ซึ่งหลักสูตรที่อบรมมีมากกว่า 20 หลักสูตร เกี่ยวกับ การติดตั้งและบริหารการใช้อินเตอร์เน็ตด้วยอุปกรณ์อัจฉริยะ (Mikrotik) การติดตั้งโฮมเน็ตเวิร์ก การทำการตลาดออนไลน์ (พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์) ในยุคประเทศไทย 4.0 การพัฒนา ระบบปฏิบัติการของโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Software) เทคนิคการจัดการคลังสินค้าด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ออนไลน์ระดับพื้นฐาน ทั้งนี้ยังมีหลักสูตรสำหรับผู้สูงอายุอีกด้วย ได้แก่ การใช้โปรแกรมสำหรับการทำงานผ่านแท็บแล็ตและมือถือ (Apps for works Go Tablet Go Mobile) สำหรับผู้สูงอายุ และการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คบนโลกออนไลน์สำหรับผู้สูงอายุ เป็นต้น

นายสุทธิ กล่าวต่อไปว่า การฝึกทักษะฝีมือด้านโซเชียลเป็นการช่วยลดต้นทุนอย่างมาก โดยในอดีตการจัดคลังสินค้าต้องอาศัยกำลังคนจำนวนมาก ในการยกถ่ายสินค้าเพื่อการจัดเก็บเข้าคลังสินค้า อีกทั้งเป็นการสิ้นเปลืองเวลา และขั้นตอนต่างๆ ในการจัดเก็บ แต่หากใช้เทคนิคการจัดการคลังสินค้าด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ระดับพื้นฐาน จะสามารถช่วยลดเวลาในการจัดเก็บได้เป็นอย่างดี หรือ การใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ค บนโลกออนไลน์สำหรับผู้สูงอายุ สามารถเพิ่มทักษะและช่วยส่งเสริมการมีงานทำให้แก่ผู้สูงอายุ หากมีเครื่องมือที่เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตได้ จะสามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้โดยไม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ทั้งนี้ ได้ดำเนินการฝึกอบรมโดยหน่วยงานในสังกัดสถาบัน และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ

หากสนใจสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กองสื่อสารองค์กร 02 2454035 สายด่วน 1506 กด 4 หรือดูกำหนดการฝึกอบรมในสาขาอาชีพต่างๆ ได้ที่ www.dsd.go.th หัวข้อกำหนดการฝึกอบรม อธิบดี กพร. กล่าวย้ำ