ปฏิวัติองค์กรคว้าโอกาสทอง ‘โลกดิจิทัล’

ปฏิวัติองค์กรคว้าโอกาสทอง ‘โลกดิจิทัล’

ทุกองค์กรต้องหันมาให้ความสนใจกับการแปรรูปทรัพยากรข้อมูลในมือให้กลายเป็นมุมมองใหม่ๆ ในตลาด โอกาสในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการเชิงดิจิทัลรูปแบบใหม่ หรือแม้แต่ช่องทางการสร้างรายได้จากการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับคู่ค้าอย่างปลอดภัย

ผลการวิจัยโดยไมโครซอฟท์และบริษัทวิจัยไอดีซีระบุว่า ผลประโยชน์จาก “ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น” ครอบคลุมถึงหลากหลายภาคส่วนในสังคม จากการสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารองค์กรกว่า 1,560 คนใน 15 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกรวมถึงไทย สรุปได้ว่าการปฏิรูปธุรกิจด้วยดิจิทัลจะก่อให้เกิดประโยชน์กับสังคม 3 ประการใหญ่ๆ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1. โอกาสในการสร้างรายได้ส่วนบุคคล ผ่านทางงานอิสระและงานเชิงดิจิทัล 2. การเปิดตำแหน่งงานใหม่ที่มีรายได้สูงขึ้น และ 3. สังคมเมืองที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ปลอดภัยขึ้น รองรับวิถีชีวิตที่ชาญฉลาดยิ่งขึ้น

ผู้บริหารในประเทศไทยเชื่อว่าตำแหน่งงานกว่า 95% จะมีเนื้องานหรือขอบเขตการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วง 3 ปีข้างหน้านี้ ด้วยผลกระทบจากปรากฏการณ์ ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น โดยตำแหน่งงานถึง 65% จะมีมูลค่าและความต้องการด้านทักษะเพิ่มสูงขึ้น หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบไปในทิศทางใหม่ สอดรับความต้องการสังคมยุคดิจิทัล

ไมโครซอฟท์ชี้ว่า การปฎิรูปธุรกิจด้วยดิจิทัลในแถบเอเชียแปซิฟิกจะมีผลกระทบกับตลาดแรงงาน ตำแหน่งงานหลายประเภทอาจเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนารูปแบบไปในทิศทางใหม่ๆ กว่า 79% ของผู้บริหารมองว่าบุคลากรรุ่นใหม่ในองค์กรของตน มีทักษะแห่งอนาคตมากเพียงพอให้พวกเขขยับขยายไปรับมือกับตำแหน่งงานใหม่ได้

รีบคว้าโอกาสใหม่ๆ

สำหรับแนวทางการคว้าโอกาสในยุคแห่งการปฏิรูปธุรกิจด้วยดิจิทัล องค์กรในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต่างต้องเร่งเครื่องเดินหน้าบนเส้นทาง ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น เพื่อคว้าโอกาสใหม่ๆ ให้ได้คุ้มค่าที่สุด และปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากการเริ่มประยุกต์ใช้งานเอไออย่างแพร่หลาย 

ยิ่งไปกว่านั้น ทุกองค์กรต้องหันมาให้ความสนใจกับการแปรรูปทรัพยากรข้อมูลในมือให้กลายเป็นมุมมองใหม่ๆ ในตลาด โอกาสในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการเชิงดิจิทัลรูปแบบใหม่ หรือแม้แต่ช่องทางการสร้างรายได้จากการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับคู่ค้าอย่างปลอดภัย

ไมโครซอฟท์แนะถึงกลยุทธ์ที่จะผลักดันให้องค์กรเดินหน้าสู่สถานะความเป็นผู้นำบนเส้นทางการปฏิรูปธุรกิจด้วยดิจิทัล ดังนี้ 1.วางรากฐานวัฒนธรรมเชิงดิจิทัล องค์กรในปัจจุบันต้องพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรที่มุ่งเน้นการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภายในอย่างแน่นแฟ้น ควบคู่ไปกับความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้าและคู่ค้าหลากหลายราย โดยองค์กรสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์และประยุกต์ใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจได้ในหลายด้าน จนสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าและคู่ค้าได้ดีขึ้น

2. พัฒนาระบบนิเวศเชิงข้อมูล องค์กรทุกแห่งต่างมีกระแสข้อมูลไหลเข้ามาจำนวนมาก ทั้งจากแหล่งภายในและภายนอกองค์กร กุญแจสำคัญที่จะทำให้องค์กรก้าวสู่ความเป็นผู้นำในยุคดิจิทัลได้ คือการแปรรูปข้อมูลเหล่านี้ให้กลายเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่า และการแบ่งปันแลกเปลี่ยนข้อมูลทั้งภายในและภายนอกองค์กร ในรูปแบบที่ทั้งเปิดกว้างและปลอดภัยควบคู่กันไป 

นอกจากนี้ การวางกลยุทธ์ด้านข้อมูลให้เหมาะสมกับแนวทางการปฏิบัติงานจะช่วยให้องค์กรสามารถเริ่มต้นพัฒนาระบบเอไอของตนเองได้ เพื่อเสริมศักยภาพในด้านการวิเคราะห์ข้อมูล ค้นหามุมมองและแนวทางใหม่ๆ ในการทำธุรกิจต่อไป

3. เปลี่ยนแปลงจากเรื่องเล็ก ทบผลไปสู่เรื่องใหญ่ โดยส่วนใหญ่แล้ว การปฎิรูปธุรกิจด้วยดิจิทัลไม่ได้เริ่มต้นด้วยการเปลี่ยนแปลงทั่วทั้งองค์กร แต่กลับออกเดินก้าวแรกด้วยการเปลี่ยนแปลงจุดเล็กๆ จำนวนมาก ผ่านทางโครงการขนาดย่อมที่ใช้เวลาไม่นาน ทำประโยชน์ให้กับธุรกิจได้อย่างเห็นผล และสามารถต่อยอดหรือขยายตัวไปสู่การดำเนินนโยบายเชิงดิจิทัลในรูปแบบที่กว้างขวางและแปลกใหม่ยิ่งขึ้นต่อไป

4. ปลูกฝังทักษะแห่งอนาคต ทั้งในระดับบุคคลและองค์กร องค์กรในปัจจุบันต้องหันมาพิจารณาแนวทางการพัฒนาบุคลากรและการปรับพื้นฐานทักษะของพนักงาน เพื่อให้บุคลากรมีความสามารถพร้อมรับมือกับความท้าทายในอนาคต เช่นการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน การคิดวิเคราะห์ หรือความคิดสร้างสรรค์เชิงเศรษฐกิจดิจิทัล นอกจากนี้ องค์กรยังต้องปรับสมดุลเชิงบุคลากรเพื่อให้สามารถดึงดูดและรักษาพนักงานที่มีความถนัดในเชิงดิจิทัลได้ ควบคู่ไปกับการใช้ประโยชน์จากความยืดหยุ่นของกลุ่มคนทำงานอิสระสำหรับความต้องการเฉพาะทางในบางโอกาส 

สำหรับทักษะที่จำเป็นในยุคดิจิทัลนั้น ทาง LinkedIn ได้สรุปผลงานวิจัยเอาไว้ว่าบุคลากรที่จะประสบความสำเร็จในอนาคตนั้น ต้องอาศัย 3 ทักษะ “ABC” ซึ่งได้แก่ AI, Big Data และ Cloud Computing

ดึงเอไอเสริมแกร่งบริการ 

หนึ่งในตัวอย่างองค์กรธุรกิจไทยที่มีการนำดิจิทัลมาใช้อย่างเป็นรูปธรรม “ปริยา จุลกะรัตน์” ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการพาณิชย์ดิจิทัลและการตลาดรายได้เสริมองค์กร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เผยว่า การนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับใช้ในองค์กร เป้าหมายสำคัญไม่ใช่เพียงเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโต แต่ยังต้องพลิกธุรกิจให้ทันวันพรุ่งนี้ สำคัญสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ต่อเนื่อง

เมื่อเร็วๆ นี้ การบินไทยยกระดับประสบการณ์การบริการลูกค้าด้วยการเปิดตัว “น้องฟ้า” แชทบอทที่นำเทคโนโลยีเอไอมาประยุกต์ใช้ในการตอบคำถามและข้อสงสัยของลูกค้า โดยสามารถสนทนากับลูกค้าได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็นในด้านข้อเสนอพิเศษ การเช็กอินออนไลน์ ตารางเที่ยวบิน สินค้า และบริการเสริม

นอกจากนี้ มีแผนพัฒนาเว็บไซต์รูปแบบใหม่ที่นำข้อมูลของลูกค้ามาใช้เป็นพื้นฐานในการปรับเปลี่ยนข้อมูลและเนื้อหาที่แสดงบนหน้าเว็บให้ตรงกับความสนใจของผู้เยี่ยมชมแต่ละคน ขณะที่แอพพลิเคชั่นสำหรับสมาร์ทโฟนก็จะได้รับการพัฒนาต่อยอดให้มีความสมบูรณ์มากขึ้นด้วย

“ยุคนี้เป็นยุคของการพลิกธุรกิจด้วยคลาวด์ ซึ่งจะทำให้สามารถเสริมศักยภาพพนักงานให้เข้าถึงระบบการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก เพื่อทำความเข้าใจกับลูกค้าให้ลึกซึ้งกว่าเดิม พร้อมนำความเข้าใจนี้ไปยกระดับบริการให้ตรงกับความต้องการมากยิ่งขึ้น” ปริยา กล่าว