ครม.ปรับมาตรการจัดการบัญชีพืช-สัตว์ต่างถิ่น

ครม.ปรับมาตรการจัดการบัญชีพืช-สัตว์ต่างถิ่น

ทบทวนมติครม. เพื่อปรับปรุงมาตรการป้องกัน ควบคุม และกำจัดชนิดพันธุ์ต่างถิ่น

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบการขอทบทวนมติครม.เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2552 ว่าด้วยเรื่องร่างมาตรการป้องกัน ควบคุม และกำจัดชนิดพันธุ์ต่างถิ่น ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ

พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานประเทศไทยในปัจจุบันซึ่งมีการเปลี่ยนแปลง รวมถึงเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินการจัดการชนิดพันธุ์ต่างถิ่นในระดับนานาชาติ ทส. จึงได้ปรับปรุงมาตรการและแนวทางปฏิบัติใหม่โดยเพิ่มเติมแนวทางปฏิบัติสำหรับชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานที่ถูกระบุว่าสามารถใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้ ปรับปรุงทะเบียนชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่ควรป้องกัน ควบคุม และกำจัดของประเทศไทย รายการที่ 1 – 4 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ส่งเสริมการศึกษาวิจัยด้านการนำชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานหรือมีแนวโน้มรุกรานไปใช้ประโยชน์ พร้อมทั้งเพิ่มเติมแนวทางการควบคุมหรือกำจัดชนิดพันธุ์ที่มีลำดับความสำคัญสูง ซึ่งจำแนกเป็น 2 ส่วนคือ ชนิดพันธุ์พืชต่างถิ่นที่มีลำดับความสำคัญสูง จำนวน 11 ชนิด ได้แก่ ไมยราบยักษ์ หญ้าขจรจบดอกเล็ก หญ้าขจรจบดอกใหญ่ หญ้าขจรจบดอกเหลือง ผักตบชวา จอมหูหนูยักษ์ กระถินหางกระรอก ขี้ไก่ย่าน ต้นสาบหมา กกช้าง และธูปฤาษี และชนิดพันธุ์สัตว์ต่างถิ่นที่มีลำดับความสำคัญสูง จำนวน 12 ชนิด ได้แก่ ไส้เดือนฝอยรากปม แมงมุมแม่หม้ายสีน้ำตาล หอยทากยักษ์แอฟริกา หอยเชอรี่ หอยเชอรี่ยักษ์ ปลากดเกราะหรือ ปลาซัคเกอร์ฯ ปลาหมอสีคางดำ ปลาหมอมายัน เต่าแก้มแดง และหนูท่อ

“การดำเนินงานให้ทำในลักษณะบูรณาการ มีการจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อเสนอขอตั้งงบฯตามความความเห็นของสำนักงบประมาณ โดย ทส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญต่อการสร้างการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง เสริมสร้างสมรรถนะให้กับหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาชนให้สามารถให้ข้อมูล ตรวจสอบ ป้องกัน เฝ้าระวัง ควบคุม และกำจัดชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน เส้นทางการเข้ามาของชนิดพันธุ์ต่างถิ่น และการลักลอบนำเข้าชนิดพันธุ์ต่างถิ่น โดยเฉพาะชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่เป็นพาหะของโรค มีอันตรายต่อชีวิตมีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน” พล.ท.สรรเสริญกล่าว