นักวิจัยไทย เจ๋ง! คว้าเหรียญทองระดับโลก

นักวิจัยไทย เจ๋ง! คว้าเหรียญทองระดับโลก

"นักวิจัย มทร.ธัญบุรี " คว้าเหรียญทองระดับโลก จากการคิดค้น "หลอดทดสอบแบคทีเรีย" ตรวจสอบสารปนเปื้อนในอาหารเพียง1-2 วันรู้ผล

เป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง เมื่อผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิราภรณ์ อนันต์ชัยพัทธนา สาขาวิชาชีววิทยาคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คิดค้นหลอดพร้อมใช้งานสำหรับปฏิกิริยาลูกโซ่มัลติโพลิเมอเรส สำหรับตรวจสอบแบคทีเรียก่อโรคในอาหาร 3 สายพันธุ์ คือ Salmonellaspp,Bacillus cereusและ Staphylococcus aureusเพื่อช่วยลดเวลาในการตรวจสอบแบคทีเรียก่อโรคในอาหาร และอำนวยความสะดวกในการขนส่งสารละลายสำหรับตรวจสอบ

นอกจากนี้ ยังเป็นประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการที่ผลิตอาหารจำนวนมากและต้องการตรวจสอบคุณภาพด้านความปลอดภัยของอาหารที่ผลิตขึ้นในจำนวนมากและให้ผลที่รวดเร็ว ซึ่งผลงานดังกล่าวได้รับรางวัลเหรียญทองในงาน INOVA-BUDI UZOR 2017 42nd International Invention Show ณ เมืองโอซีเยก ประเทศโครเอเชีย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิราภรณ์ อนันต์ชัยพัทธนา เปิดเผย "คมชัดลึกออนไลน์"ว่า ในการตรวจสอบการปนเปื้อนของจุลินทรีย์แบบดั้งเดิมนั้นใช้เวลาในการตรวจประมาณ 5 – 7 วัน ใช้สารเคมี และแรงงานมาก ซึ่งไม่เหมาะสำหรับการตรวจตัวอย่างอาหารจำนวนมากในระดับอุตสาหกรรม

ในปัจจุบันจึงมีการพัฒนาวิธีตรวจจุลินทรีย์โดยใช้ปฏิกิริยาลูกโซ่มัลติพอลิเมอเรส มาใช้ในการตรวจสอบแบคทีเรียที่ปนเปื้อนในอาหาร โดยประสิทธิภาพวิธีนี้ดีกว่าวิธีดั้งเดิม คือ สามารถทราบผลการตรวจที่รวดเร็วในเวลา 1 – 2 วัน ประหยัดแรงงาน สามารถตรวจสอบอาหารได้จำนวนมากในครั้งเดียว และสามารถตรวจสอบหาแบคทีเรียก่อโรคได้ถึง 3 สายพันธุ์ต่อการทดสอบหนึ่งครั้ง

นอกจากนี้หลอดที่พัฒนาขึ้นนี้ยังสะดวกต่อการใช้งานเนื่องจากส่วนผสมทั้งหมดของการเกิดปฏิกิริยาที่ใช้ในการตรวจสอบแบคทีเรียทั้ง 3 สายพันธุ์ อยู่ในรูปผงแห้งเคลือบที่ผิวหลอดด้านใน จึงทำให้สามารถเก็บหลอดได้นานที่อุณหภูมิห้อง สะดวกต่อการขนส่งและอยู่ในหลอดพร้อมใช้งานได้ทันทีหลังจากเติมสารละลายดีเอ็นเอที่สกัดจากอาหาร

สำหรับนวัตกรรมที่ประดิษฐ์ขึ้น คือ ส่วนผสมของผงแห้งที่ประกอบไปด้วยส่วนผสมของสารที่เหมาะสมสำหรับการเกิดปฏิกิริยาลูกโซ่มัลติพอลิเมอเรส อยู่ภายในหลอดเฉพาะสำหรับปฏิกิริยาลูกโซ่มัลติพอลิเมอเรส โดยส่วนผสมของสารภายในหลอดจะสามารกใช้ตรวจสอบแบคทีเรียก่อโรคในอาหารจำนวน 3 สายพันธุ์ได้พร้อมกันด้วยการทำการตรวจสอบเพียงครั้งเดียวสามารถช่วยลดเวลาในการตรวจแบคทีเรียก่อโรคในอาหาร ลดต้นทุนทั้งค่าใช้จ่ายด้านแรงงานและสารเคมีในการตรวจ และช่วยอำนวยความสะดวกในการขนส่ง

"หลอดที่พัฒนานี้จึงเหมาะสำหรับผู้ประกอบการที่ผลิตอาหารจำนวนมากและต้องการตรวจสอบคุณภาพด้านความปลอดภัยของอาหารที่ผลิตขึ้นในจำนวนมากและให้ผลที่รวดเร็ว" นักวิจัเหรียญทองระดับโลก กล่าว