ชี้ประเพณีปกครอง ผ่าทางตันการเมือง ย้ำศาลรธน.คือทางออก

ชี้ประเพณีปกครอง ผ่าทางตันการเมือง ย้ำศาลรธน.คือทางออก

เปิดงานวิจัยใช้ประเพณีปกครอง ผ่าทางตันวิกฤตการเมือง "ไชยันต์" ชี้มีสิทธิถึงทางตัน หากเลือกนายกฯ2วิธีไม่ได้ "ประยุทธ์"​ มีสิทธิ์ยุบสภาได้ หรือยอมเป็นนายกฯ เสียงข้างน้อย ด้าน "นรนิติ" ชี้ศาลรธน.​คือองค์กรวินิจฉัย เพื่อหาทางออกการเมือง

สถาบันพระปกเกล้า จัดอภิปรายเพื่อเปิดตัวหนังสือ ประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข บทวิเคราะห์ มาตรา 7 จากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2540 ถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน โดยมีนักวิชาการร่วมสะท้อนเนื้อหาและวิเคราะห์ในมุมมองทางรัฐศาสตร์

โดยนายไชยันต์ ไชยพร นักวิชาการรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฐานะผู้เขียนหนังสือ นำเสนอบางตอน ว่า จากเหตุความขัดแย้งทางการเมืองช่วงที่มีข้อถกเถียงเกี่ยวกับการใช้กลไกของรัฐธรรมนูญ เพื่อแก้ปัญหาทางการเมืองผ่านการขอพระราชทานนายกฯ ตามมาตรา 7 กำหนดนั้น ไม่แน่ชัดว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้เกิดรัฐประหาร เมื่อปี 2549 เพื่อยุติการดึงสถาบันฯเข้าสู่ความขัดแย้งทางการเมืองหรือไม่ แต่เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นทำให้ไม่สามารถรู้ได้ว่าอำนาจตามมาตรา 7 นั้น สามารถใช้ได้จริงหรือไม่ และหากไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการจะทำได้หรือไม่ อย่างไรก็ตามในบทศึกษาของประเทศอังกฤษ พบว่าการใช้พระราชอำนาจนั้นสามารถใช้ได้ แม้จะไม่มีผู้ใดรับสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งหลักการสำคัญของการใช้พระราชอำนาจนั้น เพื่อให้การเมืองเดินหน้า ไม่เกิดทางตัน ดังนั้นในกรณีของไทย หากฝ่ายบริหารไม่เหลืออยู่แม้สักคน พระราชอำนาจนั้นยังใช้ได้

นายไชยันต์ กล่าวด้วยว่า สำหรับเนื้อหาของมาตรา 5 ว่า ในรัฐธรรมนูญ 2560 ก่อนถูกแก้ไขเป็นฉบับปัจจุบัน กำหนดให้มีคณะบุคคลที่มาจากผู้นำในองค์กรสำคัญทางการเมือง ประชุมเพื่อหาทางออก เมื่อเกิดวิกฤตทางการเมือง เพื่อไม่ให้สถาบันฯยุ่งเกี่ยวทางการเมืองโดยตรง แต่อาจเกิดปัญหาในกรณีที่คณะบุคคลไม่ถูกศรัทธา หรือยอมรับจากสาธารณะ ​แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับที่บังคับใช้ตัดส่วนที่ว่าด้วยให้มีคณะบุคคลออก เชื่อว่าจะทำให้เกิดภาพที่สถาบันฯเข้ายุ่งเกี่ยวทางการเมืองโดยตรง ซึ่งตนมองว่ากรณีดังกล่าวมีทั้งด้านบวกและลบ ซึ่งด้านบวก คือ คือ หากนำพาประเทศฝ่าฟันวิกฤต และทำให้เห็นว่ายามที่ขัดแย้งมีสิ่งที่ศูนย์รวมใจเพื่อให้ทุกอย่างผ่านพ้นไปได้

ชี้ประเพณีปกครอง ผ่าทางตันการเมือง ย้ำศาลรธน.คือทางออก

"ไชยันต์" ส่องทางตัน การเมือง "ประยุทธ์" ยุบสภาเลือกตั้งได้หรือไม่
นายไชยันต์ กล่าวถึงประเด็นการเมืองด้วยว่า ทั้งนี้รัฐธรรมนูญ 2560 หากมีเลือกตั้ง อำนาจจะอยู่ที่ประชาชน แต่สิ่งประจักษ์คือ ส.ว.ชุดที่จะมาถึงไม่มาจากการเลือกตั้งแสดงให้เห็นว่าประชาธิปไตยแบบไทยระบบศูนย์ให้อำนาจอยู่ที่คณะบุคคลที่ไม่ยึดโยงโดยตรงกับการเลือกตั้ง เพราะอาจมีประสบการณ์ที่ให้ ส.ว.ไม่ผ่านการเลือกตั้ง ได้วุฒิสภาผัว-เมียของสภา ทำให้การทุ่มน้ำหนักเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว.​ต้องปรับตัวให้มีส่วนผสมที่ถ่วงดุลกันได้ อย่างไรก็ตามหากการเลือกตั้งเกิดขึ้น อาจจะมีปัญหาสำคัญ คือ ไม่สามารถเลือกนายกฯ ในรัฐสภาได้ ทั้งในบัญชีนายกฯ​ของพรรค หรือ นอกบัญชีพรรคการเมือง​ ขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่กำหนดระยะเวลาให้มาซึ่งนายกฯ ดังนั้นเมื่อปล่อยเวลาผ่านไป อาจมี ส.ส.​หรือ รัฐมนตรี เห็นว่าไปต่อไม่ได้ อาจกลับไปใช้บทบัญญัติว่าด้วยประเพณีการปกครอง คือ การยุบสภา

"ใครจะยุบสภา หาก พล.อ.ประยุทธ์ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จะประกาศยุบสภาที่มาโดยการเลือกตั้งจะทำได้หรือไม่ หรืออาจใช้กรณีที่ว่า ใช้คนที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุด แต่ไม่ถึง 376 เสียง หรือเกินครึ่งของเสียงในรัฐสภา ทูลเกล้าฯ ​ทำให้เราจะได้นายกฯ เสียงข้างน้อย หากเกิดปรากฎการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจะต้องอ้างการวินิจฉัยตามประเพณีปกครอง ซึ่งจะนำไปสู่การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ หรือเราจะยอมรับให้ นายกฯที่ไม่มาจากการเลือกตั้งมีสิทธิ์ยุบสภาได้ ส่วนตัวผมมองว่าหากเราอยู่ร่วมในกติกาได้ ไม่ต้องอ้างหรือใช้ประเพณีปกครอง" นายไชยันต์ กล่าว

"นรนิติ" ชี้ประเพณีปกครองเพื่อผ่าทางตันการเมือง-ศาลรธน. คือทางออก
ทางด้านนายนรนิติ เศรษฐบุตร สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวตอนหนึ่งว่าประเด็นการวินิจฉัยเพื่อหาทางออกกรณีที่เป็นปัญหา ซึ่งไม่มีบทบัญญัติใดรัฐธรรมนูญรองรับ ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ เคยเกิดขึ้นครั้งการบัญญัติธรรมนูญการปกครอง พ.ศ.2520 สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกฯ ซึ่งเขียนไว้ในมาตรา 20 ที่ใช้คำสำคัญคือให้วินิจฉัยกรณีนั้นให้เป็นไปตามประเพณีปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย และมีวรรคสองกำหนดให้สภาเป็นผู้ชี้ขาด ซึ่งมีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้มาตราดังกล่าว ในช่วงปี 2516 ที่นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกฯ​และใช้อำนาจยุบสภา เพราะสภาฯ ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ สมาชิกสภาลาออกเหลือไม่ถึง 12 คน ทั้งที่ธรรมนูญการปกครองยุคนั้นไม่ได้เขียนไว้ ซึ่งถือเป็นไปตามประเพณีปกครองที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2481 และปี 2488

"ดังนั้นการใช้ความมาตราเพื่อวินิจฉัยทางออกตามประเพณีปกครอง จึงไม่ใช่จำกัดอยู่เฉพาะของการ ขอนายกฯ พระราชทานเท่านั้น เพราะสามารถตีความได้กว้างขวาง แต่มีความสำคัญที่สุด คือ ต้องเป็นทางออก และเกิดการยอมรับ ไม่ใช้วินิจฉัยเพื่อนำไปสู่ทางตัน หรือทำให้เกิดกลียุค" นายนรนิติ

นายนรนิติ กล่าวด้วยว่าสำหรับประเด็นที่หลายฝ่ายมองว่าการเขียนทางแก้วิกฤตการเมือง ในมาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันอาจเป็นปัญหาว่าใครจะเป็นผู้วินิจฉัยทางออกนั้น ตนเชื่อว่าเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ฐานะองค์กรที่มีหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดความของรัฐธรรมนูญ